รีวิว Workshop Mechatronische Systeme und Produkte

สิ่งที่เป็นที่สุดของการเรียนคณะ Mechatronik (Mechatronic Engineering) ที่มหาวิทยาลัย Karlsruhe Institute of Technology และอาจจะเรียกได้ว่าเป็นจุดขายของคณะนี้ของมหาวิทยาลัยทุกๆแห่งเลยด้วยซ้ำ ก็คือหัวข้อที่เรากำลังจะมาเล่าถึงในโพสต์นี้กัน สิ่งๆนั้นคือการสร้างหุ่นยนต์ขึ้นมาจริงๆโดยใช้วัตถุดิบและ sensor และ actuator ต่างๆ ร่วมกับการเขียนโปรแกรม เพื่อให้หุ่นยนต์ที่เราสร้างขึ้นมาสามารถทำภารกิจต่างๆนานาให้สำเร็จลุล่วงไปได้อย่างอัตโนมัติ แบบไม่ต้องมีการควบคุมอะไรเลย เป็นไงล่ะ ฟังดูน่าตื่นเต้นสุดๆไปเลยใช่รึเปล่าาา (ใช่ครับ/ใช่ค่ะ)

สำหรับที่มหาลัย KIT การสร้างหุ่นยนต์นี้เป็นส่วนหนึ่งของวิชา Mechatronische Systeme und Produkte (Mechatronic systems and products) ซึ่งวิชานี้เป็นวิชาเดียวในป.ตรีที่เป็นของคณะ Mechatronik จริงๆ และเรียนกันแค่นักเรียนคณะ Mechatronik จริงๆ (บวกกับนักเรียนจากคณะ Naturwissenschaft und Technik ที่เรียนไปเป็นครูวิทยาศาสตร์อีกไม่กี่คน) วิชาของป.ตรีที่ผ่านๆมา นักเรียนคณะ Mechatronik จะต้องไปนั่งเรียนรวมกับคณะอื่นๆหมดเลย แต่สำหรับวิชานี้ ถึงจะมีใครจากคณะอื่นอยากมาเรียนหรือมาทำ Workshop ด้วย แต่ก็ทำไม่ได้นาจา สงวนไว้สำหรับนักเรียนคณะ Mechatronik และคณะ Naturwissenschaft und Technik เท่านั้น

สำหรับวิชา Mechatronische Systeme und Produkte นี้ จะแบ่งเป็นส่วนทฤษฎี กับส่วนปฏิบัติซึ่งก็คือ Workshop ที่จะกินระยะเวลาเยอะกว่ามาก ส่วนทฤษฎีนี่จริงๆเรียนไปแค่ประมาณครึ่งเทอมก็จบแล้ว ตัว Workshop ก็จะเป็นในเรื่องของการสร้างหุ่นยนต์นั่นเอง โดยเค้าจะมีเลโก้และตัว sensor กับ actuator ต่างๆ ของบริษัท Fischertechnik มาให้ แล้วก็จะมีวัสดุพิเศษอีกอย่างมาให้ใช้ ก็คือแผ่นไม้ความหนาแน่นสูง ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า High Density Fiberboard (HDF) ซึ่งตัวแผ่นไม้นี้ เราสามารถเอาไปตัดเป็นชิ้นเล็กๆแล้วนำมาประกอบกันเป็นโครงสร้างได้โดยใช้เครื่องตัดเลเซอร์ที่มหาวิทยาลัยมีให้ ข้อดีของการใช้ HDF ประกอบเป็นหุ่นยนต์ก็คือ มันจะมั่นคงกว่า และเราสามารถกำหนดตำแหน่งและขนาดต่างๆได้ตามใจ คือถ้าใช้เลโก้ต่อ มันก็จะมีขนาดของเลโก้แต่ละชิ้นมาอยู่แล้ว ไม่สามารถกำหนดขนาดได้ตามใจ และถ้าใช้เลโก้ ก็มีโอกาสที่เลโก้บางชิ้นจะเลื่อนหลุดออกจากกันด้วย (โอกาสน้อย แต่ก็มี และถ้าชิ้นส่วนของหุ่นยนต์หลุดออกมาระหว่างที่กำลังแสดงอยู่นี่จะเป็นอะไรที่พังมาก 555)

กล่องอุปกรณ์เลโก้ของ Fischertechnik ที่มหาลัยมีให้

ก่อนจะเริ่มต้นทำ Workshop ก็จะมีการแบ่งกลุ่มกันก่อนโดยจะเป็นการแบ่งแบบสุ่ม แต่ก็ไม่ได้สุ่มแบบมั่วๆนะ เค้าจะให้เราไปกรอกแบบทดสอบทางจิตวิทยา ที่จะทดสอบว่าเรามีบุคลิกภาพแบบไหนตามหลัก Big Five  (คนเปิดกว้าง มีความคิดสร้างสรรค์, คนละเอียด ชอบวางแผน, คนเข้าสังคมเก่ง, คนเห็นอกเห็นใจผู้อื่น, คนเครียด ขี้กังวล ชอบดราม่า) กับแบบสอบถามว่าถนัดหรือชอบด้านไหนเป็นพิเศษ (เครื่องกล, ไฟฟ้า, เขียนโปรแกรม, CAD, Matlab ฯลฯ) อะไรอย่างนี้ในเว็บของเค้าก่อน เสร็จแล้วเค้าก็จะแบ่งกลุ่มแบบสุ่มโดยอิงตามข้อมูลนั้น ในกลุ่มๆนึงก็เลยจะมีคนที่มีลักษณะนิสัยต่างๆกันและมีความถนัดต่างๆแบบครบเครื่อง โดยแต่ละกลุ่มก็จะมีสมาชิก 5-6 คน แล้วแต่ละกลุ่มก็จะมีผู้นำกลุ่มหรือเมนเทอร์หนึ่งคน ซึ่งเมนเทอร์ประจำแต่ละกลุ่มก็จะเป็นนักเรียนป.โทที่กำลังเรียนวิชาเกี่ยวกับการเป็นผู้นำอยู่ และการมาเป็นเมนเทอร์นี้ก็ถือว่าเป็น Workshop ประจำวิชานั้นของเค้าด้วยเหมือนกัน นอกจากนี้บางกลุ่มก็อาจจะมีนักเรียนจากคณะ Naturwissenschaft und Technik มาอยู่ด้วยอีกหนึ่งคน

หลังจากแบ่งกลุ่มเสร็จแล้ว นักเรียนคณะ Mechatronik 5-6 คนประจำกลุ่มนี้ก็ยังต้องมาเลือกบทบาทให้กับตัวเองอีก คือสำหรับแต่ละกลุ่มนั้นเค้าจะมีอยู่ 5 บทบาทให้แต่ละคนเลือก ก็คือ

  • Mechanical engineer มีหน้าที่สร้างโมเดลของหุ่นยนต์ที่สร้างมาในโปรแกรม CAD กับมีหน้าที่วาดแบบโมเดลใน CAD สำหรับเอาแผ่น HDF ไปเข้าเครื่องเลเซอร์ตัดออกมาเป็นชิ้นเล็กๆตามโมเดลนั้น
  • System Engineer มีหน้าที่ออกแบบโมเดลของระบบโดยใช้ภาษา SysML อารมณ์ประมาณทำ Mind Map ว่าหุ่นยนต์ที่เราสร้างเกี่ยวข้องกับอะไรในด้านไหนบ้าง ทั้งในเรื่องของการทำงาน การทดสอบ การตลาด ฯลฯ อะไรประมาณนี้มั้ง ไม่ชัวร์เหมือนกัน 55
  • Information Technology Engineer มีหน้าที่เขียนโปรแกรมที่ควบคุมการทำงานของหุ่นยนต์โดยใช้โปรแกรม Matlab&Simulink
  • Test Engineer มีหน้าที่บันทึกรายงานการทดสอบหุ่นยนต์ และการทดสอบสมมติฐานต่างๆโดยใช้โปรแกรม Trello
  • Group Spokesperson มีหน้าที่เป็นตัวแทนกลุ่ม วางแผนการทำงาน ทำ Powerpoint และตัดต่อวิดีโอนำเสนอความก้าวหน้าของงาน แล้วก็ทำรายงานรีวิวประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาทั้งเทอมหลังจากส่งงานแล้ว
Mechanical Engineer กำลังวาดแบบในโปรแกรม CAD

นอกจากนี้ก็ยังมีบทบาทและหน้าที่ที่กำหนดตัวคนมาให้แล้วสำหรับเมนเทอร์ของกลุ่ม หรือ Group Leader ซึ่งจะมีหน้าที่คอยติดตามความก้าวหน้าของงาน คอยควบคุมให้งานเดินหน้าไปอย่างราบรื่นและตามกำหนด แล้วก็ให้คำปรึกษาจิปาถะกับสมาชิกในกลุ่มคนอื่นๆที่เกี่ยวกับสภาพจิตใจหรือการทำงานร่วมกัน มีหน้าที่แลกเปลี่ยนประสบการณ์ต่างๆกับ Group leader ของกลุ่มอื่นๆ แล้วก็มีหน้าที่นำเสนอความก้าวหน้าของงานต่อคณะอาจารย์ผู้สอนโดยใช้ Powerpoint ที่ Spokesperson ทำ

ส่วนสำหรับกลุ่มไหนที่มีนักเรียนจากคณะ Naturwissenschaft und Technik อยู่ บทบาทของนักเรียนคนนั้นก็จะเป็น Methods Engineer ซึ่งจะมีหน้าที่ช่วยให้การสนับสนุนในช่วงขั้นตอนของการหาไอเดียต่างๆ และในช่วงขั้นตอนของการรีวิวประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาทั้งเทอมหลังจากส่งงานแล้ว ในมุมมองของนักเรียนครู

โดยบทบาทต่างๆทั้ง 5 บทบาทนี้ สมาชิกแต่ละคนให้กลุ่ม (ยกเว้นคนที่เป็น Group Leader กับ Methods Engineer) ต้องเลือกบทบาทที่อยากทำให้กับตัวเอง คนละบทบาท (ถ้ากลุ่มไหนมีนักเรียนคณะ Mechatronik 6 คนก็จะอนุญาตให้สามารถมี Mechanical Engineer หรือ Information Technology Engineer 2 คนได้) แล้วบทบาทนี้ก็จะอยู่กับตัวเราไปจนจบ Workshop โดยแต่ละบทบาทก็จะมีผลงานให้ส่งต่างๆกันไปสำหรับไว้เป็นคะแนนงานเดี่ยว สมมติถ้าเราเป็น Mechanical Engineer เราก็ต้องส่งงานที่เป็น CAD ในฐานะงานเดี่ยว ซึ่งคะแนนจากงาน CAD นี้ก็จะเป็นคนแนนของเราคนเดียวเท่านั้น ที่เค้าจะเอาไปรวมกับคะแนนงานกลุ่มอีกที ซึ่งคะแนนงานกลุ่มก็จะมาจากภาพรวมของตัวหุ่นยนต์ การวางแผนงาน รายงานความคืบหน้าต่างๆ และวิดีโอนำเสนอผลงาน อะไรประมาณนี้ ระหว่างที่ทำงานเราสามารถช่วยๆกันทำงานของแต่ละคนได้ แต่ว่าคะแนนของงานเดี่ยวก็จะเป็นคะแนนของคนที่เลือกบทบาทนั้นคนเดียวเท่านั้น

แผ่น HDF หลังจากที่ผ่านการตัดด้วยเลเซอร์แล้ว

ตอนที่แบ่งกลุ่ม เค้าจะแบ่งนักเรียนออกเป็นทีมๆ ซึ่งในแต่ละทีมก็จะประกอบไปด้วย 2 กลุ่ม ซึ่ง 2 กลุ่มนี้ก็จะเป็นกลุ่มที่เป็น partner กัน คือต่างกลุ่มต่างต่อหุ่นยนต์ของตัวเอง แต่ว่าหุ่นยนต์ของ 2 กลุ่มที่เป็น partner กันนี้จะต้องทำงานร่วมกัน ทำให้ระหว่างเทอมก็จะต้องมีการนัดพบกันระหว่าง 2 กลุ่มนี้เพื่อตกลงกันในเรื่องต่างๆอยู่บ่อยๆ เหมือนกับการทำงานจริงๆที่ก็จะต้องมีการตกลงกันกับฝ่ายต่างๆอยู่เรื่อยๆเหมือนกัน

หลังจากแบ่งสมาชิกและกำหนดบทบาทเสร็จแล้ว เรามาดูในเรื่องของภารกิจที่หุ่นยนต์ของเราต้องทำกันต่อเนอะ ภารกิจที่พวกเราต้องทำก็คือ ในกลุ่ม 2 กลุ่มที่เป็น partner กันนี้ จะสร้างหุ่นยนต์อะไรยังไงก็ได้ ให้เก็บก้อนทรงสี่เหลี่ยมสีฟ้ากับสีแดง แล้วก็ก้อนทรงกระบอกสีดำจากพื้นมาให้หมด แล้วเอาแค่ก้อนสีฟ้ามาต่อๆกันเป็นหอคอยบนแท่นที่เค้าตัั้งไว้ให้ แล้วก็มีกติกานั่นนี่กับข้อห้ามอีกเยอะแยะเต็มไปหมด เช่นถ้าเก็บก้อนหินมาจากพื้นเอามาไว้ในตัวหุ่นยนต์ได้จะได้คะแนนกี่คะแนนต่อก้อนก็ว่าไป ถ้ามีก้อนสีแดงตกค้างอยู่บนพื้นจะเสียคะแนนกี่คะแนนต่อก้อนก็ว่าไป ระหว่างที่หุ่นยนต์ทำงานห้ามจับหุ่นยนต์เกิน 2 ครั้ง จับแต่ละครั้งจะติดลบกี่คะแนนก็ว่าไป แล้วก็ถ้าหอคอย 2 หอนั้นสูงจากพื้นดินเท่ากัน ก็จะได้คะแนนโบนัสกี่คะแนนก็ว่าไป

และสิ่งที่น่าตื่นเต้นและน่าตั้งตารอคอยมากที่สุดสำหรับวิชานี้ก็คือ ตอนก่อนสิ้นเทอมเค้าจะจัดการแข่งขันระหว่างทุกๆกลุ่ม และจะมีประกาศณียบัตรสำหรับกลุ่มที่ได้คะแนนเยอะที่สุดให้ด้วย! ไม่ใช่เล่นๆเลยนะเนี่ย (แต่ว่าการแข่งขันนี้ไม่ได้มีผลต่อคะแนน คะแนนจะมาจากส่วนงานกลุ่มและงานเดี่ยวที่พูดถึงไปตอนก่อนหน้านี้เท่านั้น)

จุดประสงค์ของวิชานี้จริงๆแล้วไม่ใช่ว่าเพื่อจะให้เราสามารถสร้างหุ่นยนต์ที่ทำงานได้อย่างไม่มีข้อบกพร่องขึ้นมาหรอก แต่เพื่อให้เราเข้าใจการทำงานแบบวิศวกรในชีวิตจริงมากกว่า แบบเริ่มต้นมาก็มีการแบ่งบทบาทจำลองหน้าที่ของวิศวกรจริงๆกันละ แล้วก็มีการวางแผนการทำงานอย่างเป็นขั้นเป็นตอน มีการประชุมระหว่างกลุ่ม มีการต้องวาง strategy ของการทำงานของผลงานของเราเพื่อให้ชนะการประกวด มีการต้องสร้าง Prototype ขึ้นมาสำหรับการทดสอบก่อนจะสร้างตัวหุ่นยนต์จริงๆ มีการต้องทดสอบผลงานว่าทำงานได้อย่างที่ต้องการมั้ย และถ้าทำไม่ได้ สมมติฐานคืออะไร คิดว่าน่าจะแก้ปัญหายังไง และลองแล้วแก้ได้มั้ย และพวกนี้ก็ต้องมีการจดบันทึกอย่างเป็นระบบระเบียบหมด มีการต้องรายงานความก้าวหน้าของงานต่ออาจารย์ซึ่งทำหน้าที่เหมือนเป็นลูกค้า แล้วตอนการแข่งขันตอนจบก็ยังเป็นเหมือนกับการนำเสนอผลงานต่อท้องตลาดอีก คือมีอาจารย์ และมีคนนอกเข้ามาดูได้ด้วย สิ่งหนึ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำ Workshop ในครั้งนี้ก็คือ การที่จะพัฒนาสินค้าอย่างหนึ่งขึ้นมาเพื่อนำออกขายเนี่ย มันไม่ง่ายเลยจริงๆ คือก่อนหน้านี้เราจะเข้าใจว่าถ้าเราวางแผนบนกระดาษและคิดคำนวณทุกอย่างแบบสมบูรณ์แล้ว พอถึงขั้นตอนการประดิษฐ์จริงๆ มันก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรแล้ว แต่ในความเป็นจริงแล้ว ในธรรมชาติมันจะมีความ error ของมันอยู่ในหลายส่วนมากๆ ทั้งในส่วนของวัสดุ ทั้งในส่วนของเครื่องจักร และยังมีปัจจัยภายนอกอีกมากมายที่ทำให้ชิ้นงานของเราอาจจะทำงานไม่ได้อย่างที่วางแผนไว้ และจะต้องผ่านการทดสอบและแก้ไขกันอีกมากมาย หนึ่งในสิ่งที่สำคัญทีี่สุดของการสร้างชิ้นงานชิ้นหนึ่งขึ้นมาก็คือการเริ่มทดสอบให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้จริงๆ

สำหรับประสบการณ์ส่วนตัวของเราใน Workshop นี้ กลุ่มของเรามีสมาชิกแค่ 5 คน เพราะว่ามีคนนึงที่ขอถอนตัวออกไปหลังจากที่แบ่งกลุ่มเรียบร้อยแล้ว แล้วก็ไม่มีนักเรียนคณะ Naturwissenschaft und Technik ทำให้กลุ่มของเรามีบทบาทเกินจำนวนสมาชิกมา 1 บทบาท ซึ่งหลังจากเลือกบทบาทกันแล้วก็เหลืออยู่ 2 บทบาทให้เราเลือกก็คือ System Engineer กับ Test Engineer โดยที่เราตัดสินใจเลือก Test Engineer เพราะว่าคิดว่าตัวเราเองเป็นคนละเอียด แล้วก็คิดว่าตำแหน่งนี้ น่าจะแบบแค่รอให้คนอื่นทำงานของตัวเองเสร็จก่อน แล้วเราค่อยมาทดสอบทีหลัง แล้วก็บอกว่าผ่าน/ไม่ผ่าน ไปแก้มาใหม่ อะไรอย่างนี้ 5555 แต่หารู้ไม่ว่าสุดท้ายตัวเองงานหนักที่สุดเลยจ้า 555555 คือตอนเลือกบทบาทก็เอางานเขียนโปรแกรมกับงาน CAD ให้คนอื่นที่มีประสบการณ์ทำไป ส่วนงานตัวแทนกลุ่มก็ให้สมาชิกที่เป็นคนเยอรมันทำไป (คือเค้าแบ่งกลุ่มยังไงก็ไม่รู้นะ แจ๊คพ็อตชาวต่างชาติมาลงที่กลุ่มนี้หมดเลยจ้า มีนักเรียน Mechatronik ที่เป็นคนเยอรมันอยู่คนเดียว (กับมี Group leader เป็นคนเยอรมัน) คนที่ถอนตัวออกไปก็เป็นคนต่างชาติ 555) สุดท้ายการแบ่งตำแหน่งก็เลยมาลงตัวอย่างนี้

สำหรับที่บอกว่าบทบาท Test Engineer เป็นบทบาทที่หนักสุด ทำไมถึงหนักสุด ไม่รู้ว่าเพราะเป็นตัวเราเองด้วยรึเปล่า แต่ลองคุยกับ Test Engineer ของกลุ่ม partner เค้าก็บอกว่าเค้างานหนักสุด คือ Test Engineer เนี่ยเอาจริงๆแล้วแทบจะต้องอยู่ควบคุมแทบจะตลอดการทำงานเลย เริิ่มแรกเลยคือต้องมีการสร้าง Prototype ของหุ่นยนต์ขึ้นมาเพื่อทดสอบก่อน ว่าต่อแบบนี้ๆแล้วทำงานได้จริงๆใช่มั้ย (ปกติแล้ว Prototype จะต่อขึ้นมาจากเลโก้ จะได้แก้ง่ายๆ แล้วตัวหุ่นยนต์จริงๆค่อยต่อจาก HDF เป็นหลัก) ก็เป็นหน้าที่หลักของ Test Engineer คือคนอื่นในกลุ่มก็อาจจะช่วยกันต่อแหละ แต่หน้าที่ทดสอบส่วนใหญ่ Test Engineer ก็ทำเอง แล้วมันก็ต้องดูว่าต่อแบบนี้แล้วมันจะทำงานได้อย่างที่เราต้องการรึเปล่า ถ้าไม่ได้ก็ค่อยๆแก้ไปเรื่อยๆ สุดท้ายแก้ไปแก้มาก็กลายเป็นเหมือนกับ Test Engineer ต่อคนเดียวทั้งหมด นี่ยังไม่พอ มีครั้งนึงเราต่อระบบหนึ่งเสร็จ ทดสอบเสร็จเรียบร้อยไม่มีปัญหาแล้ว ดีใจ คิดว่าสุปสัปดาห์นี้ว่างแล้ว ชิว ปรากฏว่าคืนนั้น สมาชิกอีกคนในกลุ่มนางมาแกะๆๆต่อใหม่จ้าาา แล้วก็โพสต์รูปลงกรุ๊ป whatsapp บอกว่าชั้นช่วยแก้ให้มันดูรกน้อยลงนะ เราเปิดแชทขึ้นมาอ่าน แทบจะล้มทั้งยืน!!!!! แบบนึกภาพยังกะในละคร หน้ามืดจะเป็นล้ม แทบคว้าอะไรมาพยุงตัวไว้ไม่ทัน สรุปว่าเสาร์อาทิตย์นั้นก็ต้องไปนั่งแก้ใหม่ให้เป็นเหมือนเดิมโนะ 555

ตอนเริ่มต้นสร้าง Prototype และทดสอบระบบตอนแรกๆเลย

พอต่อ Prototype เสร็จทุกอย่างดั่งใจแล้ว เราก็ต้องต่อตัวหุ่นยนต์จริงๆออกมาโดยใช้ HDF ซึ่งก็ต้องมีการเขียนแบบโมเดลส่วนต่างๆใน CAD อีก ซึ่งหน้าที่นี้จริงๆแล้วเป็นของ Mechanical Engineer แต่ด้วยความวิตกจริต กลัวว่าเค้าจะไปทำโมเดลออกมาไม่เหมือนกับที่เราตั้งใจไว้ เราก็เลยต้องนั่งวาดแบบลงกระดาษเอาเองก่อนแล้วค่อยส่งให้เค้าไปทำในคอม ซึ่งการเปลี่ยนโครงสร้างต่างๆของเลโก้มาเป็น HDF ก็ต้องคิดหนักอีก เพราะแบบ การต่อเซนเซอร์หรือต่อมอเตอร์เนี่ย เราสามารถต่อลงไปกับเลโก้ชิ้นอื่นๆได้เลย เพราะเลโก้แต่ละชิ้นก็จะมีบล็อกต่างๆที่มันลงร่องกันพอดี พอเราเปลี่ยนมาใช้ HDF ก็ต้องมาหาทางคิดดูว่าจะประกอบมอเตอร์กับเซนเซอร์ต่างๆเข้าไปยังไง บางทีเขียนแบบส่งไปแล้ว Mechanical Engineer ไม่เข้าใจบางอย่าง ก็ต้องมานั่งประกบแล้วก็อธิบายอีก บางทีตัด HDF ออกมาเสร็จแล้ว ประกอบกันไม่ลงล็อค หรือประกอบกันเรียบร้อย แต่ว่าทำงานไม่ได้เหมือนกับที่ตั้งใจไว้ ก็ต้องมาทดสอบอีกว่าเพราะอะไรและจะแก้ยังไง แล้วก็ต้องเขียนแบบให้ตัดใหม่ วนลูปไปอีกเรื่อยๆจนกว่าจะพอใจ

เสร็จแล้วขั้นตอนต่อไป ก็ต้องไปนั่งทำงานร่วมกับ Information Technology Engineer เพื่อดูว่าโปรแกรมที่เค้าเขียนมา พอโหลดลง Micro controller แล้ว พอเปิดสวิตช์แล้วมันทำงานได้อย่างที่ตั้งใจรึเปล่า อันนี้ค่อยสบายหน่อยเพราะว่าปัญหาส่วนใหญ่ไม่ค่อยมาจากโครงสร้างแล้ว แต่จะมาจากโปรแกรม ซึ่ง Information Technology Engineer จะตรวจสอบและแก้เองได้ เราไม่ต้องทำอะไรมาก ช่วงนี้เราจะเริ่มได้เห็นหุ่นยนต์ของเราทำงานได้แบบมากขึ้นเรื่อยๆ มากขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดก็ทำงานได้อย่างที่เราตั้งใจ จากที่เราสังเกตอีกกลุ่มมาด้วย เราว่า Test Engineer กับ Information Technology Engineer จะเป็นสองคนที่เข้าใจการทำงานและปัญหาของหุ่นยนต์มากที่สุดแล้ว เพราะว่าได้นั่งดูการทำงานทั้งหมดจริงๆ ได้เห็นปัญหาจริงๆ

Prototype ของระบบแรก หลังจากทดสอบกับโปรแกรมสำเร็จแล้ว รอประกอบหุ่นยนต์ของจริงโดยใช้ HDF

พอหุ่นยนต์ของเราเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ต้องเอาไปทดสอบกับหุ่นยนต์ของกลุ่ม partner เพื่อดูว่าทำงานสอดคล้องกันอย่างที่ตั้งใจรึเปล่า ซึ่งในขั้นตอนนี้ ทีมของเรามีปัญหานิดนึง เพราะว่ากลุ่มที่เป็น partner เค้าตัด HDF กันช้ามาก คืออีกสองอาทิตย์จะแข่งแล้วเพิ่งจะตัด HDF ครั้งแรก ซึ่งมั่นใจได้เลยว่ายังใช้งานไม่ได้ 100% แน่นอน มีปัญหาแน่นอน แล้วก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ ทำให้ต้องชะลอๆการทดสอบไปก่อน รออีกกลุ่มทำเสร็จก่อน

อันนี้คือคลิปจากการทดสอบการทำงานของหุ่นยนต์ของกลุ่มเรา https://www.youtube.com/watch?v=nIbwYI4cv-k

Prototype ของ 2 ระบบหลัก ก่อนจะเริ่มตัด HDF ไอระบบทางซ้ายล่างคืออันเดียวกันกับระบบในรูปด้านบน แต่อันในรูปนี้คือเวอร์ชั่นหลังจากที่อันเก่าโดนสมาชิกในกลุ่มคนหนึ่งเอาไปปู้ยี่ปู้ยำเสร็จแล้วก็มาบอกว่าชั้นประกอบใหม่ให้มันดูรกน้อยลงแล้วนะ คือดูรกน้อยลงน่ะใช่ แต่ว่ามันทำงานไม่ได้เลยนาจา ดีนะที่วาดแบบของระบบอันเก่าที่ทำงานได้เตรียมไว้เรียบร้อยแล้ว
หุ่นยนต์ของเราหลังจากเอา HDF มาประกอบด้วยเป็นครั้งแรก

พอได้เริ่มทดสอบช้า มันก็จะเกิดปัญหาที่ตามมาก็คือ แก้ปัญหาที่ยังมีอยู่ได้ช้า ตรงไหนที่เราอยากจะพัฒนาหรือทำให้ดีขึ้นมันก็จะช้าตามมา หรืออาจจะไม่ได้ทำเลย ก็เป็นสิ่งที่เราได้เรียนรู้กันไป สรุปว่าข้ามไปตอนวันแข่งขันเลยละกัน วันแข่งขันจะมีอยู่ 2 วัน วันแรกจะจัดกันภายใน คือมีแค่นักเรียนกับอาจารย์ 2 คน ทุกทีมจะได้เข้าร่วมแข่ง (มี 7 ทีม) และทีมที่อ่อนที่สุด 2 ทีมจะถูกคัดออก แล้ววันต่อไปก็จะเป็นการแข่งขันแบบจริงจังขึ้นมาอีก จัดในห้องเลคเชอร์ขนาดใหญ่ขึ้นมาอีก มีศาสตราจารย์คนอื่นๆประจำวิชามาดูด้วย แล้วก็คนนอกก็สามารถมาดูได้ ตอนวันแข่งขันวันแรกเรากลัวมากว่าหุ่นยนต์ของกลุ่มเราจะเป็นกลุ่มเดียวที่เอ๋อในการแข่งขัน เพราะแบบแก้แล้วแก้อีกยันวันแข่ง แล้วระหว่างเทอมก็ไม่ได้ไปคุยกับกลุ่มอื่นมากเท่าไหร่ แต่ไปๆมาๆ สรุปเอ๋อกันแทบทุกกลุ่ม 555 เอ๋อนิดเอ๋อหน่อย แต่ของกลุ่มเราทำงานได้อย่างที่ตั้งใจไว้เลย คือหุ่นยนต์ของเรามีหน้าที่รับก้อนหินมาจากหุ่นยนต์รถของกลุ่ม partner แล้วก็เอามาสร้างหอคอย 2 หอให้มีความสูงเท่ากัน ซึ่งก็สร้างได้จริงๆแบบไม่มีปัญหาเกิดขึ้น แต่ว่าหุ่นยนต์รถของกลุ่ม partner ส่งหินมาให้ไม่ครบ เลยสร้างได้แค่ 1 หอ สรุปว่าผลการแข่งขัน มีอยู่ 7 ทีม คะแนนอันดับหนึ่ง 269 คะแนน อันดับสอง 64 คะแนน ทีมเราคะแนนมาเป็นอันดับสาม 36 คะแนน ส่วนที่เหลือคะแนนติดลบ 555 ทีมที่มีคะแนนต่ำสุดได้คะแนน -36 คะแนน 

หลังแข่งเสร็จหมาดๆ

แต่ว่าระหว่างที่กำลังแข่งอยู่ ของทีมเราเกิดปัญหา ก็คือเค้าตั้งกฏไว้ว่า หลังจากที่หมดเวลาแข่งแล้ว หุ่นยนต์แต่ละตัวต้องเปิดไฟสีเขียว แต่หุ่นยนต์รถของกลุ่ม partner เราเค้าเขียนโปรแกรมไว้ว่าไฟจะติดก็ต่อเมื่อหุ่นยนต์รถขับกลับเข้าไปตรง End Area แล้วเท่านั้น ไม่ได้ควบคุมแบบตั้งเวลานับถอยหลัง แล้วตรง End Area นั้น มันมีสติกเกอร์ติดไว้บนพื้นเพื่อบ่งบอกอาณาเขต แต่หุ่นยนต์รถมันวิ่งไปติด (เพราะสติกเกอร์มันเก่าจนตรงขอบๆมันเด้งขึ้นมา) หรืออะไรซักอย่าง ทำให้มันขับเข้าไปไม่ได้ ทำให้ไฟไม่ติด เค้าเลยถือว่าทีมเราทำไม่ได้ตามกฏและไม่ให้ข้ามไปแข่งในวันต่อไป ถึงจะไปโวยว่าเป็นเพราะความบกพร่องของสถานที่ต่างหากแต่เค้าก็ไม่ให้ ก็เป็นอะไรที่น่าเสียดาย แต่อย่างน้อยหุ่นยนต์ของกลุ่มเราก็สามารถทำงานได้อย่างที่ตั้งใจไว้ แล้วก็เรียกเสียงเชียร์และเสียงตบมือมาได้เยอะเลย เป็นแค่ 1 ใน 3 ทีมในวันนั้นที่สามารถสร้างหอคอยสูงๆได้ด้วย สงสารก็แค่กลุ่ม partner ของเราโดยเฉพาะคนที่เป็น Test Engineer ที่ช่วงอาทิตย์ก่อนการแข่งขันมาทำงานทั้งวันทั้งคืน แทบไม่ได้นอนเลย แต่มาตกรอบด้วยเรื่องนิดเดียว

หุ่นยนต์ของกลุ่มเรา กับหุ่นยนต์รถของกลุ่ม partner

สิ่งหนึ่งที่เราประทับใจเป็นพิเศษก็คือ ช่วงระหว่างเทอมที่เรากำลังต่อหุ่นยนต์กันอยู่ จะมีเพื่อนคนนึงที่เมื่อก่อนเคยทำงานกลุ่มวิชาอื่นด้วยกันมาเดินมาดูเป็นพักๆ ซึ่งแทบทุกครั้งที่เค้าเดินมาดู หุ่นยนต์ของเราจะมีปัญหาตลอด แต่ตอนวันแข่งหลังแข่งเสร็จเค้าเดินมาบอกว่าน่าเสียดายมากที่ทีมเธอไม่ได้ไปต่อ แต่ว่าวันนี้หุ่นยนต์ของเธอเยี่ยมมาก สร้างหอคอยได้แบบไม่มีปัญหาเลย ได้ยินแค่นี้ก็ดีใจแบบไม่ต้องแข่งต่อละ คำพูดคนเราสร้างกำลังใจให้กับคนอื่นได้มากจริงๆ เราควรมาช่วยสร้างกำลังใจกับคนอื่นแบบนี้กันบ่อยๆนะทุกคน

อันหน้าสุดที่เป็นรถกับอันที่เป็นหอคอยคือหุ่นของทีมที่ชนะ

หลังจากจบการแข่งขันวันนั้น สมาชิกของทีมเราก็ไปดื่มเบียร์ปลอบใจกันที่ผับของมหาลัย ข้อดีอย่างหนึ่งของการไม่ได้ไปต่อก็คือ สำหรับพวกเรา งาน Workshop นี้จบสิ้นเรียบร้อย ไม่ต้องมาเตรียมตัวสำหรับการแข่งวันต่อไปแล้ว 555 ตอนวันต่อไปเราก็เข้าไปนั่งดูการแข่งขันด้วย ปรากฏว่าวันนี้เค้าติดสติกเกอร์ใหม่ เปลี่ยนระบบเซนเซอร์กล้องใหม่สำหรับหุ่นยนต์รถให้ดีขึ้นและแม่นยำยิ่งขึ้น ทุกอย่างเนี้ยบสุดๆ และด้วยความที่แต่ละทีมที่ผ่านเข้ารอบมาได้กลับไปแก้ไขจุดบกพร่องของตัวเองจากเมื่อวานมาด้วยทำให้วันนี้แต่ละทีมทำได้ดีขึ้นทุกทีมเลย บางทีมก็ได้คะแนนเพิ่มขี้นเยอะมากๆ แม้แต่ทีมที่เมื่อวานได้คะแนน -36 คะแนน วันนี้ก็ยังได้คะแนนไปมากถึง -24 คะแนน 555555 แต่ว่าลำดับแต่ละลำดับก็ยังเป็นเหมือนกับเมื่อวานเป๊ะๆเลย ทีมที่ได้ที่หนึ่งก็ได้ที่หนึ่งเหมือนเดิม ได้คะแนนเพิ่มขึ้นจาก 269 เป็น 289 คะแนน ก็รับถ้วยรางวัล รับประกาศณียบัตรไป

บรรยากาศในห้องก่อนการแข่งขันวันที่สอง

แล้วก็ปิดฉากลงไปกับการทำงานอย่างหนักหน่วงที่ดำเนินมาตลอดระยะเวลาหนึ่งเทอมนี้ เรียกได้ว่าเป็นที่สุดของคณะ Mechatronik จริงๆ ไม่เคยทุ่มเทกับงานโปรเจคต์อะไรขนาดนี้มาก่อน หลายๆครั้งที่ต้องอยู่ทำงานยันดึกยันดื่น หลายๆครั้งที่พยายามแก้ปัญหาอะไรซักอย่างก็แก้ไม่ได้ซักที ไม่รู้จะแก้ยังไง หลายๆครั้งที่เหมือนจะแก้ปัญหาได้แล้ว แต่อยู่ดีๆปัญหาเดิมๆก็กลับมาอีก หลายๆครั้งที่วิธีการแก้ปัญหาอย่างหนึ่ง ทำให้เกิดปัญหาใหม่อีกอย่างขึ้นมา หลายๆครั้งที่ทดสอบเองเสร็จเรียบร้อย ไม่มีปัญหาแล้ว แต่พอวันต่อไปจะแสดงให้สมาชิกคนอื่นในกลุ่มดู กลับมีปัญหาซะงั้น มีบางครั้งที่รู้สึกว่าเหนื่อยใจ อยากจะพอแล้ว อยากจะทิ้งแล้วก็ให้โชคช่วยไม่ให้เกิดปัญหาตอนแข่งเอาละกัน แต่ก็ยังทำต่อไปเรื่อยๆจนมั่นใจ 99% ว่าสามารถแก้ปัญหาทุกอย่างได้แล้ว สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำงานครั้งนี้ก็เหมือนอย่างที่บอกไป ก็คือ การผลิตสินค้าอะไรซักอย่างออกมามันไม่ใช่ง่ายๆจริงๆ รู้ซึ้งถึงแก่นเลยคราวนี้ 555 ตอนนี้สำหรับ Workshop นี้มีเหลืออยู่อีกแค่ขั้นตอนเดียวก่อนจะจบ Workshop ก็คือการทำรายงานรีวิวประสบการณ์ เราก็เลยถือโอกาสมารีวิวลงบล็อกล่วงหน้าก่อนซะเลย จะได้เป็นการเตรียมตัวไว้ก่อนด้วย 555 หลังจากที่ Workshop นี้จบลง สิ่งที่เราต้องทำก็จะเหลือแค่สอบเก็บหน่วยกิตให้ครบ แล้วก็เขียน Thesis จบ เพียงเท่านี้เราก็จะจบป.ตรีจากเยอรมนีแล้ว (พูดเหมือนง่ายเนอะ 555) เดี๋ยวไว้มีโอกาสหวังว่าคงจะได้กลับมารีวิวเรื่องการเขียนงานจบและการเรียนจบป.ตรีจากมหาวิทยาลัยในเยอรมนีในอีกไม่นานนี้โนะ 555

กว่าจะได้มาเยอรมัน (4) : ยื่นคำร้องขอวีซ่า

DSCF3640

หลังจากที่ได้ใบตอบรับจากมหาลัย และมีเงินในบัญชี Blocked Account เรียบร้อยแล้ว ก็ถึงเวลาของการยื่นเอกสารเพื่อขอวีซ่า เย่ๆๆ

จริงๆแล้วขั้นตอนขอวีซ่าเนี่ยไม่มีอะไรยากเลย ไม่ต้องไปกลัวเจ้าหน้าที่กัดหัวอะไรทั้งนั้น เพราะแค่เตรียมเอกสารให้ครบตามที่บอกไว้ในเว็บ ก็ไม่มีปัญหาอะไรแล้ว (ขั้นตอนเตรียมเอกสารนี่แหละที่ยุ่งยาก = =”) ส่วนเจ้าหน้าที่จะถามอะไรบ้าง ถ้าเราเป็นคนจัดการเรื่องทุกอย่างเองมาตั้งแต่ต้น ก็ไม่ต้องกลัวว่าจะตอบไม่ได้ เค้าก็ถามคำถามธรรมดาๆแหละ จะไปทำอะไรที่ไหน เมื่อไหร่ ฯลฯ

เอกสาร/หลักฐานเพื่อประกอบการยื่นคำร้องขอวีซ่า (ฉบับจริง พร้อมสำเนา 2 ชุด):

  1. หนังสือเดินทางฉบับจริงที่ยังมีอายุการใช้ พร้อมสำเนา 2 ชุด (เฉพาะหน้าที่มีข้อมูลส่วนบุคคล) ในบางกรณีอาจต้องใช้หนังสือเดินทางเล่มเก่า
  2. รูปถ่ายแบบไบโอเมตริก  2 ใบ (มีปัญหามากอันนี้ เพราะบอกร้านถ่ายรูปปากเปียกปากแฉะว่าเอารูปแบบไบโอเมตริกก็ยังถ่ายออกมาผิด ถ้าอยากให้ชัวร์ก็มาถ่ายที่สถานทูตเลยก็ได้ แต่ราคาแพงกว่า แนะนำว่าให้ถ่ายมาเยอะๆ สำหรับเผื่อไว้เอามาใช้ที่เยอรมันด้วย เพราะที่เยอรมัน ถ่าย 4 รูป หกร้อยกว่าบาท = =”)
  3. แบบฟอร์มคำร้องขอวีซ่าประเภท  National Visa ที่กรอกข้อความครบถ้วน 2 ฉบับ
    ต้องตอบคำถามทุกข้อ โปรดแจ้งที่อยู่ อีเมล์และเบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อได้ พร้อมลงลายเซ็นที่หน้า 4 ของคำร้องด้วย ( http://www.bangkok.diplo.de/contentblob/478290/Daten/4777010/LangzeitApplication.pdf )
  4. หนังสือตอบรับให้เข้าศึกษา/ใบตอบรับการจองที่เรียนล่วงหน้าจากมหาวิทยาลัยหรือสถาบันเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาของนักศึกษาต่างชาติ (Studienkollegs)
  5. หลักฐานแสดงวุฒิการศึกษาทุกระดับที่ผ่านมา(ประกาศนียบัตร ปริญญาบัตร) และคำแปลภาษาเยอรมัน
  6. หลักฐานการเงิน
  7. หลักฐานแสดงความรู้ภาษาเยอรมันระดับB1

จะเห็นได้ว่าตรงหลักฐานข้อ 4, 5 กับ 7 เราเตรียมไว้ตั้งแต่ตอนจะสมัครเรียนแล้ว ส่วนข้อ 6 ก็มีแล้ว เป็นใบเปิดบัญชี Blocked Account ที่ธนาคาร Deutsche Bank ข้อ 1 ก็มีอยู่แล้ว ส่วนข้อ 3 กรอกแป๊บเดียวก็เสร็จ มีแค่ข้อ 2 รูปถ่ายที่ต้องไปถ่ายมาให้ถูกต้อง หน้าต้องบานที่สุดในชีวิต มีเถิกเปิดเถิก ผมที่มันกระเซอะกระเซิง รวบไปให้หมด

***อันนี้เป็นเอกสารสำหรับขอวีซ่าไปศึกษาต่อกรณีที่มีใบตอบรับจากมหาลัยแล้ว และสอบผ่านภาษาระดับ B1 แล้วเท่านั้นนะ ถ้าจะขอวีซ่าเพื่อไปเรียนโรงเรียนภาษา ข้อกำหนดจะต่างกัน อาจจะต้องยื่นเอกสารอื่นๆเพิ่มด้วย เช่นเรียงความบอกแรงบันดาลใจและเหตุผลจำเป็นที่ต้องไปเรียนภาษาที่ประเทศเยอรมัน

***ตอนเราขอวีซ่า เรายื่นเอกสารเรื่องที่อยู่ที่จะไปอยู่ในเยอรมันไปด้วย จริงๆในเว็บสถานทูตไม่มีบอกไว้แต่ว่าเจ้าหน้าที่ที่ DAAD บอกว่าให้ใส่ไปด้วย ตอนนั้นเราจะไปเช่าห้องต่อจากเพื่อนที่เยอรมันเป็นเวลาหนึ่งเดือน เราก็ให้เค้าส่งอีเมลล์เอกสารมาให้เรา 3 อย่าง คือ 1.สัญญาเช่าห้องของเค้า 2.หน้า Passport ของเค้า 3.จดหมายที่เค้าเขียนบอกว่าเค้าจะให้เราเช่าห้องตั้งแต่วันนี้ถึงวันนี้พร้อมลงลายเซ็น

หลังจากเตรียมเอกสารสำหรับยื่นขอวีซ่าเสร็จเรียบร้อย เราก็โทรไปนัดวันยื่นเอกสาร (ตอนไปทำอย่างอื่นที่สถานทูตนี่ไปได้เลย แต่ถ้าจะไปยื่นเอกสารขอวีซ่าต้องโทรจอง) ปรากฏว่าคิวสำหรับขอวีซ่าศึกษาต่อนี่ยาวไปเป็นเดือน =[]=” เหงื่อตกเลยเพราะว่าอีกไม่นานมากก็จะถึงวันเดินทางแล้ว ไหนจะต้องรอผลวีซ่าหลังจากไปยื่นเอกสารแล้วอีก บางคนก็ต้องรอเป็นเดือนๆกว่าจะได้ แต่ทำไงได้ จะไปเร่งคิวเค้าไม่ได้ เราก็นัดวันไปทางโทรศัพท์ พอถึงวันนัดก็ไปยื่นเอกสาร เจ้าหน้าที่ก็หยิบไปดูๆ อันไหนเค้าไม่เอาก็หยิบออก (ตอนนั้นเราแนบ Statement ทางการเงินจากธนาคารของพ่อแม่ไปด้วย แต่ว่าเค้าหยิบออก) แล้วเค้าก็ถามคำถามเกี่ยวกับเหตุผลที่จะไปนิดหน่อย พวกคำถามทั่วๆไปไม่ได้เจาะลึกเรื่องส่วนตัวอะไรเลย แล้วก็เก็บเอกสารไป แล้วก็ส่งใบแจ้งวันรับวีซ่าให้เรา ซึ่งปรากฏว่าวีซ่าชนิดที่เราขอ หรือวีซ่าศึกษาต่อสำหรับคนที่มีใบตอบรับจากมหาลัยแล้วเนี่ย ใช้เวลาแค่ 3 สัปดาห์ก็ได้แล้ว! คือทางสถานทูตต้องส่งเอกสารของเราไปที่ตม.ที่เยอรมันก่อน แต่ว่าถ้าตม.ไม่บอกปฏิเสธภายใน 3 สัปดาห์ เค้าก็จะออกวีซ่าได้เลย หลังจากนั้นเราก็จ่ายค่าธรรมเนียม น่าจะ 60 ยูโรนะ แล้วก็จบพิธีการขอวีซ่า

สุดท้ายก็ถึงวันนัด โชคดีที่ระหว่างนั้นไม่มีใครโทรมาบอกว่าวีซ่าเราโดนปฎิเสธ 55 ตอนไปรับวีซ่าก็แค่ต้องปรินท์ใบจองตั๋วเครื่องบิน กับหลักฐานประกันสุขภาพและอุบัติเหตุสำหรับช่วงเวลา 90 วันไป ซึ่งประกันสุขภาพก็สามารถไปทำได้ง่ายๆทางอินเตอร์เน็ต แล้วก็ปรินท์ออกมา เอาใบนั้นไปยื่นได้เลย รายชื่อบริษัทประกันภัยในไทยที่เป็นที่ยอมรับของสถานทูตก็สามารถไปดูได้ในลิงค์นี้ http://www.bangkok.diplo.de/contentblob/528222/Daten/4653034/Krankenversicherung.pdf

IMG_3486

และแล้วในที่สุด เราก็ได้วีซ่าสำหรับศึกษาต่อในเยอรมันมาครอบครอง โฮะๆๆๆ /ป้องปากหัวเราะ

ในที่สุด หลังจากที่รอคอยมาถึงเกือบหนึ่งปี ภาระต่างๆอันหนักอึ้งที่ต้องแบกไว้บนบ่าตั้งแต่เริ่มต้นตัดสินใจจะไปเรียนที่เยอรมันก็ถูกปลดปล่อยออกจากอก หนึ่งปีแห่งความพยายามทั้งหมดทั้งมวล หนึ่งปีแห่งการเดินทางข้ามผ่านจุดเปลี่ยนผันทั้งหมดของชีวิต ฝ่ากระแสเชี่ยวกรากของความไม่แน่นอนและความลังเลสงสัยต่างๆ ไปยังจุดหมายที่ก็มองไม่เห็นหน้าตา หนึ่งปีแห่งการรอคอยอย่างใจจดใจจ่อ ตั้งแต่รอเรียนภาษาจนสอบผ่านระดับ B1 รอผลตอบรับจากมหาลัย รอผลตอบรับจากธนาคาร ไปจนรอผลวีซ่า ในที่สุดความหวั่นใจเหล่านั้นก็ได้ผ่านพ้นไปแล้ว จากนี้ไปจะเป็นการก้าวต่อไปข้างหน้า ไปยังดินแดนแห่งใหม่ในอีกฟากหนึ่งของโลก ไปสู่การเริ่มต้นใหม่ ผู้คนใหม่ๆ วัฒธรรมและวิถีชีวิตแบบใหม่ ไปสู่การผจญภัยครั้งใหม่ ในโลกของ Petch in Deutschland!

DSCF4359

กว่าจะได้มาเยอรมัน (2) : สมัครมหาลัย

DSCF0305a

เดี๋ยวบทนี้จะสรุปคร่าวๆเรื่องการรับสมัครนักเรียนต่างชาติเข้าป.ตรีของมหาลัยในเยอรมันให้ฟังละกัน

– ถ้าจบม.ปลายจากโรงเรียนไทยทั่วไป วุฒิม.ปลายของเราจะไม่เทียบเท่ากับ วุฒิม.ปลายของที่ยุโรป ทำให้เรายังไม่สามารถเข้าป.ตรีที่นั่นได้โดยตรง

– ถ้าจบม.ปลายจากโรงเรียนไทยทั่วไป แล้วอยากต่อป.ตรีที่นั่นเลย ต้องมีสองสิ่งนี้

  1. หลักฐานความสามารถทางภาษาเยอรมัน ซึ่งสามารถใช้อย่างใดอย่างหนึ่งจากรายชื่อในเว็บนี้ http://www.tum.de/en/studies/application-and-acceptance/german-language-skills/
  2. ต้องสอบข้อสอบเข้ามหาลัยผ่าน (ข้อสอบเข้าชื่อว่า Feststellungsprüfung)

– เราสามารถอยู่ดีๆไปขอสอบเข้าเลยก็ได้ แล้วถ้าผ่านก็ใช้ยื่นสมัครเข้ามหาลัยพร้อมใบหลักฐานภาษาได้เลย (แต่สมัครสอบ Feststellungsprüfung ยังไงไม่รู้อะต้องลองถามทางมหาลัยดู) แต่ถ้าสอบไม่ผ่าน สามารถสอบได้อีกแค่ครั้งเดียว และถ้ายังไม่ผ่านอีก จะหมดสิทธิ์เรียนคณะทางสายนั้นในประเทศเยอรมนีไปตลอดกาล!

– ถ้ายังไม่อยากสอบ Feststellungsprüfung เดี๋ยวนั้น ก็สามารถสมัครเข้าเรียนโรงเรียนปรับพื้นฐานที่ชื่อว่า Studienkolleg ได้ ซึ่งที่ Studienkolleg เราก็จะได้เตรียมตัวสำหรับทั้งการสอบ Feststellungsprüfung และการสอบภาษาเยอรมัน ในระยะเวลา 2 เทอม (1 ปี) แล้วหลังจากเรียนจบ ทางโรงเรียน Studienkolleg ก็จะจัดสอบ Feststellungsprüfung ให้ แล้วหลังจากนั้นเราก็สามารถนำผลสอบ Feststellungsprüfung ไปใช้สมัครเข้ามหาลัยต่อได้

– ถ้าเราอยู่ในกลุ่มที่ต้องเข้าเรียนที่ Studienkolleg ก่อน เวลาหาข้อมูลในเว็บของมหาลัย ก็พยายามค้น Keyword คำว่า Studienkolleg แล้วดูว่าเค้ามีกำหนดการ มีเอกสารสำหรับการรับสมัครและเกณฑ์รับสมัครขั้นต่ำอะไรยังไงบ้าง หรือจะเข้าไปดูในเว็บ http://www.studienkollegs.de/ เลยก็ได้ มีรวบรวมข้อมูล และลิงค์ของเว็บของ Studienkolleg ทั้งหมดในเยอรมันไว้แล้ว ทั้งนี้ทั้งนั้น Studienkolleg จะมีอยู่แค่ไม่กี่แห่ง แต่ละแห่งก็จะโคกับหลายๆมหาลัย ยกตัวอย่างเช่น Studienkolleg ที่ Karlsruhe จะโคกับมหาลัย KIT และ TU Stuttgart หมายความว่าถ้ามีนักเรียนต่างชาติอยู่สองคน คนแรกสมัครเรียนที่ KIT ส่วนอีกคนสมัครเรียนที่ TU Stuttgart ทั้งสองคนจะถูกส่งมาที่ Studienkolleg Karlsruhe เหมือนกัน แต่ก็มีบางมหาลัยที่ไม่ได้โคกับ Studienkolleg ที่ไหนเลย เช่นมหาลัย RWTH Aachen หมายความว่าถ้าเราสมัครเรียนป.ตรีที่ RWTH แล้วมีมาแค่วุฒิจบม.ปลายจากไทย มหาลัยก็จะตอบปฏิเสธมาลูกเดียว ถึงแม้ว่าเราตั้งใจว่าจะเข้าเรียนที่ Studienkolleg ก็ตาม (แต่ถ้าเป็นมหาลัยอื่นที่โคกับ Studienkolleg ทางมหาลัยพอเห็นว่าเรามีมาแค่วุฒิม.ปลายจากไทย เค้าก็จะส่งเอกสารสมัครเรียนของเราไปที่ Studienkolleg โดยอัตโนมัติ) ซึ่งก็ต้องอ่านรายละเอียดดีๆว่ามีมหาลัยไหนบ้างที่โคกับ Studienkolleg ที่นี้ๆ แล้วมหาลัยไหนบ้างทีไม่โคกับ Studienkolleg ที่ไหนเลย จะได้ประหยัดเอกสารสำหรับส่งไปสมัครเรียน

*Studienkolleg มีแบบสำหรับเรียนเพื่อเรียนต่อ Universität กับสำหรับเพื่อเรียนต่อ Fachhochschule (FH) ถ้าเรียน Studienkolleg สำหรับต่อ Uni จบแล้วสามารถใช้เกรดสมัครได้ทั้งมหาลัยแบบ Uni และ FH แต่ถ้าเรียนจบ Studienkolleg สำหรับ FH จะสามารถใช้เกรดสมัครเข้าได้แค่ FH เท่านั้น ทั้งนี้ทั้งนั้นจะเรียน Studienkolleg ที่ไหนในเยอรมันก็ได้ พอจบแล้วสามารถใช้เกรดจบไปสมัครเข้ามหาลัยได้หมดทั้งประเทศเยอรมัน แต่มหาลัยที่เรายื่นสมัครไปตั้งแต่ก่อนเข้า Studienkolleg นั้นจะส่งเรามาสอบเข้ายัง Studienkolleg ที่โคกับมหาลัยนั้นๆเท่านั้น

– การสมัครเข้ามหาลัยสำหรับคนที่อยากเข้า Studienkolleg สำหรับบางมหาลัยก็มีขั้นตอนต่างจากการสมัครมหาลัยสำหรับคนที่ไม่ต้องเข้า Studienkolleg ต้องอ่านรายละเอียดดีๆ แต่ว่าปกติแล้วเอกสารสำหรับใช้สมัครเรียนจะเหมือนกันไม่ว่าจะตั้งใจจะเข้า Kolleg หรือไม่ก็ตาม

DSCF1206

เอกสารสำหรับใช้สมัครมหาวิทยาลัย (รวมถึง Studienkolleg) ยกตัวอย่างของที่ KIT นะ

  1. ใบจบที่ได้จากโรงเรียนม.ปลาย (ถ้าเป็นภาษาไทย ต้องเอาไปแปลเป็นภาษาเยอรมันด้วย ถ้าเป็นภาษาอังกฤษ ไม่ต้องแปล)
  2. ใบเกรดจากโรงเรียนม.ปลาย (ปกติแล้วขอเป็นภาษาอังกฤษมาได้ แต่ถ้ามีแต่ภาษาไทย ก็ต้องเอาไปแปลด้วย ถ้าเป็นภาษาอังกฤษ ไม่ต้องแปล)
  3. ใบจบม.ปลายที่ต้องไปขอมาจากเขตพื้นที่การศึกษา (เดี๋ยวอธิบายเพิ่ม)
  4. ใบหลักฐานความรู้ภาษาเยอรมัน (สำหรับที่ Studienkolleg หลายๆที่ เช่นที่ Karlsruhe ผ่านแค่ระดับ B1 ก็โอเคแล้ว แต่ว่าบางที่ เช่นที่ Berlin กับ Munich ต้องผ่านระดับ B2)
  5. C.V. หรือใบประวัติการศึกษา กิจกรรม รางวัลดีเด่นย่อๆของเรา 1-2 หน้า ภาษาอังกฤษหรือเยอรมัน
  6. ใบเกรด และ ใบจบ จากมหาวิทยาลัย (กรณีที่เคยเรียนมหาลัยมาแล้ว)

***ใบจบม.ปลายที่ต้องไปขอมาจากเขตพื้นที่การศึกษา

อันนี้จริงๆแล้วไม่จำเป็นต้องมีทุกคน แต่ว่าพนักงานที่ DAAD บอกมาว่าใบจบม.ปลายของเราไม่มีข้อความที่บอกว่าเราสามารถเข้าศึกษาในระดับมหาลัยได้แล้ว เราเลยต้องไปขอใบนี้มาด้วย การจะขอใบนี้ ก่อนอื่นต้องหาข้อมูลก่อนว่าโรงเรียนของเราอยู่ในเขตการศึกษาไหน แล้วก็ไปขอที่สำนักงานเขตการศึกษานั้น ไปบอกเค้าว่ามาขอใบจบสำหรับสมัครเรียนต่อเมืองนอก อะไรประมาณนั้น (ขอใบแบบเป็นภาษาอังกฤษนะ) แล้วก็เอาสำเนาบัตรประชาชนกับสำเนาใบเกรดม.ปลายของเราไปให้เค้าด้วย เค้าก็จะพิมพ์ๆ ปรินท์ให้ เสร็จเดี๋ยวนั้นเลย

26855547_10215699154099739_1472407548_n.jpg
ใบที่ขอมาจากเขตการศึกษา – Keyword คือบรรทัดที่ขีดเส้นใต้สีแดง ถ้าใบจบที่โรงเรียนออกให้มีข้อความนี้ก็ไม่จำเป็นต้องไปขอใบที่สำนักงานเขตมาอีก เห็นเพื่อนคนไทยที่นี่บางคนเค้าบอกว่าเค้าบอกโรงเรียนได้เลยว่าอยากได้ข้อความนี้ด้วยนะ แล้วเจ้าหน้าที่ก็พิมพ์เพิ่มเข้าไปให้ ไม่รู้ว่าทำได้ทุกโรงเรียนรึเปล่า แต่ยังไงก็ลองถามเจ้าหน้าที่ห้องทะเบียนที่โรงเรียนดูก่อนนะเผื่อเค้าพิมพ์ให้ได้

– หลังจากหาข้อมูลเรื่องการสมัครเรียนของแต่ละมหาลัยเรียบร้อยแล้ว ก็ไปกรอกใบสมัครออนไลน์ในเว็บของแต่ละมหาลัย พอกรอกเสร็จแล้วก็ต้องปรินท์ใบสมัครออนไลน์ที่เรากรอกไปนั้นออกมาด้วย แล้วก็เซ็นชื่อ ลงวันที่ตรงช่องด้านล่าง เสร็จแล้วก็วางพักไว้ (พูดยังกะทำอาหาร) อย่างเราสมัครไป 5 มหาลัย ก็เข้าไปกรอกใบสมัครในเว็บมหาลัยทั้ง 5 เว็บ ปรินท์ใบสมัครออกมาทั้ง 5 ชุด แล้วก็ลงชื่อ วันที่ ที่ด้านล่างของทุกชุด แล้วก็วางพักไว้

– ระหว่างที่วางใบสมัครที่เซ็นชื่อเรียบร้อยแล้วของทุกมหาลัยพักไว้อยู่ ก็ต้องเอาเอกสารสำหรับใช้สมัครมหาลัยที่เตรียมมาทั้งหมดมาถ่ายเอกสาร กรณีเรา 5 มหาลัยที่สมัครไปใช้เอกสารเหมือนกันหมด เราก็เอาเอกสารสำหรับสมัครมหาลัยทุกอย่างมาถ่ายเอกสาร แล้วก็จัดเป็นชุด 5 ชุด แต่ละชุดสำหรับหนึ่งมหาลัย ส่วนเอกสารตัวจริงก็เก็บรักษาไว้อย่างทะนุถนอมที่สุด (เพราะต้องเอาไปเยอรมันด้วยเพื่อเอาไปโชว์ให้มหาลัยดูทีหลังว่าเป็นของจริงนะ)

– หลังจากได้ชุดเอกสารออกมา 5 ชุดแล้ว เราก็เอาใบสมัครที่วางพักไว้มาแนบไว้ที่ด้านหน้าสุดของชุดเอกสารทั้ง 5 ชุด จะได้รู้ว่าชุดไหนเอาไว้ใช้สำหรับมหาลัยไหน (อย่าเบลอเอาใบสมัครไปแนบไว้ผิดชุดเอกสาร!! เช็คด้วยว่าสำหรับมหาลัยนี้ต้องใช้ชุดเอกสารไหน ในกรณีที่ชุดเอกสารสำหรับสมัครแต่ละมหาลัยไม่เหมือนกัน)

– หลังจากนั้นเราก็เอาชุดเอกสารทั้ง 5 ชุดนี้พร้อมกับชุดเอกสารตัวจริงไปที่สถานทูต นี่คือขั้นตอนที่สำคัญมาก!!! เพราะสถานทูตจะต้องประทับตรายืนยันว่า เอกสารที่ถูกถ่ายเอกสารมาทั้งหมด เป็นของจริง มีรายละเอียดเหมือนกับเอกสารตัวจริง ถ้าเราไม่มีตราประทับจากสถานทูตนี้ ก็ใช้เอกสารพวกนี้สมัครเรียนไม่ได้ ซึ่งขั้นตอนนี้จริงๆแล้วต้องเสียค่าใช้จ่ายแพงมาก จำไม่ได้ละเท่าไหร่ น่าจะประมาณหนึ่งพันบาทต่อชุดเอกสาร แต่ว่าถ้าเราบอกเค้าว่าเราจะใช้เอกสารเหล่านี้สำหรับการสมัครเรียนต่อ จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียธรรมเนียม (รอดตัวไป = =”) ขั้นตอนนี้ทำวันเดียวได้ แต่ก็รอนานเหมือนกัน ตอนไปถึงสถานทูตก็บอกเค้าว่าจะมาประทับตรารับรองเอกสาร เค้าก็จะบอกเราให้ว่าให้ไปรอที่เคาน์เตอร์ไหน

– หลังจากที่เอกสารทั้ง 5 ชุดของเราได้รับการประทับตราเรียบร้อยแล้ว เราก็พร้อมจะส่งเอกสารเหล่านี้ไปยังมหาลัยเพื่อสมัครเรียนแล้ว!! หลังจากนั้นก็แค่ไปที่ที่ทำการไปรษณีย์ แล้วก็ส่งเอกสารทั้ง 5 ชุดไปยังมหาวิทยาลัยที่เราจะสมัคร (อย่าเบลอจ่าหน้าซองผิด!!! อย่าเบลอใส่ชุดเอกสารลงไปผิดซอง!!!) ซึ่งต้องดูในเว็บมหาลัยดีๆด้วยว่าที่อยู่ที่เราต้องส่งไปเนี่ยมันคือที่ไหน บางมหาลัยก็ให้เราใส่ซองจดหมายพร้อมสแตมป์สำหรับไว้ส่งกลับมาบอกผลลงไปด้วย

– หลังจากส่งจดหมายไปเรียบร้อยแล้วก็ทำได้แค่รอ… รอ ร้อ รอ รอจนกว่าเค้าจะส่งจดหมายกลับมาบอก ช่างเป็นการรอที่ทรมานใจมากๆ ทำอะไรไม่ได้เลย ซึ่งช่วงเวลาที่ต้องรอก็ขึ้นอยู่กับแต่ละมหาลัย อย่างเช่นที่ KIT พอจดหมายไปถึง ภายในอาทิตย์เดียวเค้าก็โพสต์บอกสถานะในเว็บเลยว่าเค้ารับเรารึเปล่า ซึ่งเราสามารถไปโหลดใบตอบรับ กับใบข้อมูลรายละเอียดต่างๆในเว็บมา แล้วก็เตรียมตัวสอบ เตรียมตัวขอวีซ่าได้เลย ในขณะที่ที่ TU Stuttgart กว่าจะส่งจดหมายตอบกลับมาถึงที่บ้านก็นู่นนนนน เราอยู่เยอรมันละ 555 เพราะฉะนั้นก็ควรส่งเอกสารสมัครเรียนให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้!!

***การได้รับการตอบรับจาก Studienkolleg หมายความว่าเรายังต้องไปสอบเข้า Studienkolleg ที่เยอรมันก่อน ถ้าเราสมัครไปหลายที่และได้รับการตอบตกลงจาก Studienkolleg หลายๆที่ เราสามารถไปสอบเข้า Studienkolleg ได้หมดทุกที่แล้วค่อยไปเลือกทีหลังก็ได้ว่าอยากเรียนที่ไหน ถ้าเราสอบไม่ติดซักที่ ก็ต้องรอสมัครมหาลัยใหม่ตอนเทอมการศึกษาหน้าแล้วไปสอบเข้าอีกครัั้ง ถ้ายังไม่ติดเลยอีก ก็จะหมดสิทธิ์เรียนคณะทางสายนั้นในประเทศเยอรมนีไปตลอดกาล!

dscf05081

Uni-Assist

Uni-Assist (http://www.uni-assist.de/ ) คือหน่วยงานที่ช่วยมหาวิทยาลัยจัดการตรวจเอกสารที่ถูกส่งมาจากผู้สมัคร ก่อนที่มหาลัยจะเป็นคนตัดสินใจอีกทีว่าจะรับหรือไม่รับ บางมหาลัยจะกำหนดให้เราส่งเอกสารสำหรับสมัครเรียนไปที่มหาลัยโดยตรง แต่ก็มีอยู่หลายมหาลัยที่ให้สมัครเรียนผ่านทาง Uni-assist และส่งเอกสารไปที่ Uni-assist อย่างตอนเราสมัครก็มีมหาลัย TU Dresden กับอีกที่ น่าจะเป็น TU Hannover ที่กำหนดให้เราสมัครเรียนผ่าน Uni-assist (ในเว็บของมหาลัยตรงส่วนที่ระบุข้อมูลเกี่ยวกับการสมัครเรียนจะมีบอกไว้ว่าให้สมัครเรียนทางไหน ส่งเอกสารไปที่ไหน)

ทีนี้ ถ้าเราต้องสมัครเรียนผ่านทาง Uni-assist วิธีการก็ไม่ได้ยากอะไร ก็แค่เข้าไปในเว็บ Uni-assist แล้วก็ลงทะเบียน ตั้ง Username/Password แล้วก็เข้าตรง Online Portals for Applicants แล้วก็ไปเลือกมหาลัย เลือกคณะ กรอกใบสมัครตามขั้นตอนในเว็บนั้นเลย พอกรอกเสร็จก็ปรินท์ออกมา เซ็นชื่อ แล้วก็เอาไปรวมกับเอกสารอื่นๆ เอาไปประทับตราที่สถานทูต แล้วก็ส่งไปที่ Uni-assist ขั้นตอนเหมือนการสมัครเรียนกับมหาลัยโดยตรง แต่ว่าถ้าสมัครผ่าน Uni-assist ต้องเสียค่าบริการด้วย ถ้าสมัครคณะเดียวก็ 75 ยูโร ถ้าสมัครหลายๆคณะก็ คณะต่อๆไปจะคณะละ 15 ยูโร ส่วนการชำระเงินก็ทำได้โดยการโอนเงิน ซึ่งก็มีขั้นตอนบอกในเว็บอย่างละเอียด

20170512_193623

และหลังจากที่เราได้ใบตอบรับจากมหาลัยแล้ว ก็จะเป็นเวลาของการขอวีซ่าแล้ว แต่ก่อนจะขอวีซ่านั้น มีเอกสารอย่างหนึ่งที่สำคัญมากๆที่คนที่ต้องการไปเรียนต่อที่เยอรมันต้องเตรียมไว้เพื่อเป็นหลักฐานประกอบการยื่นขอวีซ่า เอกสารนั้นก็คือเอกสารรับรองการเปิดบัญชี Blocked Account ที่ธนาคารในเยอรมัน เดี๋ยวเรามาดูในโพสต์หน้ากัน ว่าการเปิดบัญชี Blocked Account นี้มีขั้นตอนยังไงบ้าง

กว่าจะได้มาเยอรมัน (1) : หาข้อมูลมหาลัย

IMG_2997

พอดีวันนี้อยู่ดีๆก็เกิดอารมณ์อยากจะเขียนเล่าว่ากว่าจะได้หอบผ้าหอบผ่อนข้ามน้ำข้ามทะเลมาเรียนที่แดนอินทรีเหล็กแห่งนี้นี่ต้องผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านขั้นตอนอะไรมาบ้าง ตื่นเต้นจัง ถ้าเป็นหนังก็คงเปรียบเป็น X-Men First Class 5555 จะไม่เขียนไปในแนวแนะนำข้อมูลอะไรพวกนี้ละเอียดนะเพราะว่ามันกว้างมากกกกก และข้อมูลอาจเปลี่ยนแปลงได้ แล้วก็น่าจะมีคนอื่นเขียนไว้พอสมควรแล้วในเน็ต (ยกตัวอย่างเช่นกระทู้ “ไปเรียนต่อที่เยอรมันยังไง ไม่ให้เกินงบปีละ สามแสน” http://pantip.com/topic/30057430) แต่จะเขียนไปทางแนวเล่าเรื่องมากกว่า ว่าเราได้ทำอะไรไปบ้าง เผื่อบางคนอาจจะเอาไปใช้เป็นแนวทางได้

DSCF0975

จะเริ่มต้นที่เหตุผลที่เลือกมาเรียนที่เยอรมันละกัน เหตุผลสำคัญสุดเลยคือ… เพราะมันเรียนฟรี 555 ส่วนเหตุผลถัดๆมาก็คือ เพราะเยอรมันก็มีชื่อเสียงเรื่องวิศวกรรม เทคโนโลยี อะไรพวกนี้อยู่แล้ว แถมยังเป็นประเทศผู้นำ EU เศรษฐกิจก็ดี คนตกงานน้อย ประเทศก็อยู่กลางๆทวีปไปเที่ยวประเทศอื่นๆในยุโรปง่าย แล้วจริงๆแล้วก็ชอบประเทศเยอรมนีมาตั้งนานมากๆแล้วด้วย และภาษาเยอรมันก็เป็นภาษาหนึ่งที่เราคิดว่าน่าจะใช้ประโยชน์ได้มาก

DSCF1059

หลังจากตัดสินใจเลือกประเทศได้แล้ว ก็มาดูในข้อมูลพื้นฐานกว้างๆของประเทศเยอรมันและการเรียนที่เยอรมันกัน ถ้าอยู่กรุงเทพ ก็สามารถจะไปขอคำปรึกษาที่สำนักงาน DAAD ได้เลย (http://www.daad.or.th/th/) ตอนที่เราตัดสินใจว่าอยากมาเรียนที่เยอรมัน เราก็มาถามเรื่องขั้นตอนการสมัครเรียน เรื่องรายละเอียดมหาลัย อะไรพวกนั้นที่นี่เหมือนกัน แต่ว่าก็ต้องระวังนิดนึง เจ้าหน้าที่บางคนก็โหดมาก ถ้าไปแบบไม่มีข้อมูลอะไรมาก่อนเลยอาจจะโดนเหวี่ยงกลับมาได้ นอกจากนั้นก็ยังสามารถหาข้อมูลอื่นๆในอินเตอร์เน็ตได้ทั่วไป แต่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นภาษาอังกฤษ อย่างเช่นในเว็บ https://www.study-in.de/en/ หรือ http://www.studying-in-germany.org/

IMG_4478

ต่อไปก็ต้องมาดูว่าจะไปเรียนคณะอะไร ที่มหาลัยไหน ซึ่งก็จะมีเว็บที่รวบรวมรายละเอียดของคณะทั้งหมดทุกวิชาทุกมหาลัยในเยอรมันไว้อยู่ที่เว็บ https://www.daad.de/deutschland/studienangebote/en/ เราสามารถเข้าไปในนั้น เลือกตรง “All study programmes in Germany” แล้วก็ไปเสิร์ชหาข้อมูลได้ อย่างสำหรับเราก็เสิร์ชชื่อคณะ Mechanical Engineering กับ Mechatronics แล้วก็เข้าไปดูในลิสต์ว่ามีที่ไหนเปิดสอนบ้าง รายละเอียดเป็นยังไงบ้าง อะไรประมาณนั้น และนอกจากนี้ ในหน้าเว็บนั้นก็ยังมีหัวข้อ “Ranking of German universities” ซึ่งจะมีลิงค์ที่พาเราไปยังหน้าของเว็บไซต์ที่เราสามารถเช็คการจัดลำดับมหาวิทยาลัยในเยอรมนี แยกหมวดหมู่ไปตามแต่ละคณะได้ แต่การจัดลำดับที่ว่านี้จะไม่ได้จัดมาเป็นอันดับ 1,2,3,… อย่างนี้ แต่จะเป็นการบอกเฉยๆว่า ในหัวข้อการประเมินต่างๆนั้น มหาวิทยาลัยนี้อยู่ในระดับบน ระดับกลาง หรือระดับล่าง

DSCF2331

มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยนิดนึง คือระดับการศึกษาตอนช่วงมหาลัยของที่เยอรมันจะแบ่งเป็นสองชนิดใหญ่ๆ ชนิดแรกก็คือ University (Universität) ซึ่งก็จะเน้นในเรื่องทฤษฎี การวิจัย อะไรทำนองนั้น สามารถเรียนต่อไปได้ถึงปริญญาเอก ไปเป็นนักวิจัยได้ ส่วนชนิดที่สองคือ University of Applied Sciences (Fachhochschule) ซึ่งจะเน้นในเรื่องปฏิบัติมากกว่าทฤษฎี จะอยู่ในระดับต่ำกว่า University และถ้าอยากจะเรียนต่อไปเรื่อยๆถึงปริญญาเอกก็จะต้องไปเรียนเพิ่มเติม อยู่ดีๆจะเรียนต่อเลยไม่ได้ อะไรประมาณนั้น ถ้าใครชอบทฤษฎีหรืออยากจะทำวิจัยต่อก็ควรไป University ส่วนใครที่ชอบการปฏิบัติก็ควรไป University of Applied Sciences แต่ถ้าใครชอบคบเผื่อเลือกก็ควรจะไป University เพราะว่าระดับมันสูงกว่า ถ้าเกิดอยากจะต่อโทต่อเอกทีหลังจะได้ไม่มีปัญหา

DSCF2719

หลังจากตัดสินใจจะไปเยอรมันแล้ว เราก็สมัครเรียนภาษาคอร์สเร่งรัดที่สถาบัน Goethe เริ่มเรียนตั้งแต่เริ่มต้น สวัสดี คุณชื่ออะไร สบายดีมั้ย ฯลฯ นู่นเลย ตอนคอร์สแรกๆนี่บันเทิงมาก มีทำกิจกงกิจกรรม เดินคุยกับคนอื่นรอบห้อง รู้สึกเหมือนตัวเองกลับไปเป็นเด็กอนุบาลเริ่มเรียนภาษาอังกฤษอีกครั้ง ตอนมาเรียน Goethe ก็ได้เจอเพื่อนร่วมชั้นเรียนหลากหลายประเภทมาก บางคนก็เป็นครู บางคนก็เป็นแอร์ บางคนก็เป็นแม่บ้าน บางคนก็เป็นนักเรียน เหมือนได้เปิดโลกกว้างเลย เพราะว่าเมื่อก่อนอยู่แต่กับเพื่อนชั้นเดียวกัน เป็นนักเรียนเหมือนกัน เรียนคณะเดียวกัน เพื่อนก็มีไลฟ์สไตล์อารมณ์เดียวๆกัน พอได้มาเจอกับคนจากต่างสายอาชีพ ต่างทางเดินในสังคมแล้วทำให้เราได้เรียนรู้อะไรจากคนอื่นมากขึ้นอีกเยอะเลย ได้รู้ว่าโลกใบนี้มันก็ไม่ได้มีแค่มุมมองที่เรารู้จัก ที่เราคุ้นเคย มันยังมีหลายแง่หลายมุม ยังมีอีกหลายสิ่งทั้งดีและไม่ดีที่เราไม่เคยคิดถึงมาก่อน ถือว่าเป็นอีกบทเรียนที่ดีมากๆที่ได้จากสถาบัน Goethe นอกจากความรู้ภาษาเยอรมัน

10906432_10205859298829507_3643774430169098469_n

ในระหว่างช่วงที่กำลังเรียนภาษาเยอรมันที่ Goethe อยู่ เราก็ไปหาข้อมูลของมหาวิทยาลัยต่างๆที่เปิดสอนคณะที่เราอยากเรียนจากแหล่งเว็บต่างๆ จากคนนั้นคนนี้ จากการถามในพันทิพย์ แล้วก็จากเพื่อนคนเยอรมันที่รู้จักจาก Couchsurfing ทั้งที่เรียนวิศวะและไม่ได้เรียนวิศวะไปด้วย แล้วก็ลิสต์รายชื่อมหาวิทยาลัยที่น่าสนใจออกมาได้สี่ห้าชื่อ ซึ่งมหาวิทยาลัย KIT หรือ Karlsruhe Institute of Technology ก็เป็นหนึ่งในนั้น หลังจากนั้นเราก็เข้าไปอ่านรายละเอียดของคณะนั้นๆ และรายละเอียดเรื่องการสมัครเรียนในเว็บของแต่ละมหาวิทยาลัย ซึ่งตรงนี้เป็นขั้นตอนที่หนักหนาสาหัสมาก เพราะว่าเราต้องไปเสาะหาเอาในเว็บเอาเองว่าพวกข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับการสมัครเรียนมันอยู่ตรงส่วนไหน มีข้อมูลอะไรที่ต้องรู้บ้าง (เช่น เอกสารที่ต้องใช้สำหรับการสมัครเรียน, เกณฑ์ขั้นต่ำที่เค้าจะรับคนเข้าเรียน, วิธีการสมัครเรียน, ช่วงเวลาเปิดรับสมัคร ฯลฯ) แล้วก็ไม่ใช่ดูแค่เว็บเดียว แต่ต้องเข้าไปดูในเว็บของทุกมหาลัยที่เราสนใจ ซึ่งส่วนใหญ่โครงสร้างเว็บมันก็ไม่เหมือนกัน ก็ต้องมางมหาข้อมูลของแต่ละมหาลัยจากในเว็บอีก บางทีข้อมูลบางอย่างก็มีแต่ภาษาเยอรมัน เราก็ต้องมาเข้า Google translate แปลเอาเองอีก แล้วก็ต้องดูดีๆด้วยว่ามีข้อยกเว้นอะไร หรือมีกระบวนการพิเศษอะไรสำหรับนักเรียนต่างชาติโดยเฉพาะรึเปล่า ยกตัวอย่างเช่น ที่มหาลัย TU Darmstadt จะเปิดรับสมัครเรียนสำหรับนักเรียนจากยุโรปถึงวันที่ 15 กรกฎาคม แต่สำหรับนักเรียนต่างชาติจะเปิดรับสมัครถึงแค่วันที่ 15 เมษายนเท่านั้น (อันนี้เราพลาดมาแล้ว ตกใจมาก นึกว่าที่อื่นก็เป็นแบบนี้หมด ปรากฎว่าเป็นแค่ไม่กี่มหาลัย โชคดีไป) หรือบางมหาลัยก็ให้นักเรียนจากยุโรปสมัครผ่านเว็บมหาลัยโดยตรงเลยได้ แต่ว่านักเรียนต่างชาติต้องสมัครผ่านเว็บของ uni-assist (เดี๋ยวมาต่อบทหน้าว่ามันคืออะไร)

สำหรับโพสต์นี้ก็ขอพูดถึงแค่เรื่องการหาข้อมูลของมหาวิทยาลัยก่อน แต่ถ้าใครมีคณะที่อยากเรียน และมีมหาลัยในใจแน่วแน่แล้ว เดี๋ยวเราไปต่อเรื่องขั้นตอนการสมัครเรียนในโพสต์ต่อไปกันเลยโนะ

20170515_164036