อย่าทำธีสิสที่บริษัท!

กลับมาอีกครั้งหลังจากไปเผชิญมรสุมชีวิตมาอยู่หลายเดือน โพสต์นี้เราจะมารีวิวประสบการณ์การทำธีสิสที่บริษัทที่อยากจะลืมๆไปจากความทรงจำ

ในโพสต์เก่าของเราที่เขียนไว้ตอนก่อนเริ่มทำธีสิส เราเขียนปิดท้ายไว้ว่า “ตอนนี้คือแอบนึกเบาๆว่าคิดถูกแล้วใช้มั้ยที่คิดมาทำธีสิสที่บริษัท ที่นอกจากไม่รู้ว่าจะหนักหรือยากกว่าการทำธีสิสที่มหาลัยมั้ย แล้วยังต้องคอยติดต่อประสานงานกับที่ปรึกษาทั้งสองคนอีก ซึ่งไม่รู้ความเห็นจะตรงกันหรือขัดแย้งกันแค่ไหนด้วย และยังหลอนว่าจะทำทันมั้ยด้วย” มองจากจุดนี้ย้อนกลับไปจะบอกว่าคิดถูกรึเปล่าไม่รู้ แต่ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ จะเลือกไม่ทำธีสิสที่บริษัท เลือกทำที่มหาลัยดีกว่า T.T จริงอยู่ว่าการทำธีสิสที่บริษัทมันก็มีข้อดีหลายอย่าง เช่นมีเงินเดือนให้ มีประสบการณ์ไปเขียนลง CV และอาจจะได้คอนเนคชั่นดีๆ หรือได้โอกาสเข้าทำงานต่อหลังจบธีสิสก็ได้ แต่ประสบการณ์ของเราที่ผ่านมามันช่างรากเลือดซะเหลือเกิน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะเล่านี้ก็เป็นแค่ประสบการณ์ส่วนตัวของเรานะซึ่งก็มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ลงเอยอย่างนี้ คนอื่นๆที่ทำธีสิสที่บริษัทอาจจะมีประสบการณ์ที่ดีก็ได้ แต่เราขอเล่าจากประสบการณ์ตัวเองว่ามีความยากลำบากอะไรบ้างที่ต้องเจอระหว่างการทำธีสิส ใครที่มาอ่านจะได้รู้ว่าควรเตรียมตัวยังไงถ้าตั้งใจอยากจะทำธีสิสที่บริษัทจริงๆ

ห้องสมุด Stadtbibliothek ในเมือง Stuttgart ใกล้กับเมืองที่เราทำธีสิส

หาบริษัทที่รับเราทำธีสิส

ก่อนอื่นเลย ถ้าอยากทำธีสิสกับบริษัทก็ต้องหาบริษัทที่จะรับเราทำธีสิสก่อน ซึ่งปกติหลายๆบริษัทก็จะเปิดรับสมัครนักศึกษามาทำธีสิสในเว็บเค้าอยู่แล้ว สมัครผ่านเว็บได้เลย บางบริษัทก็จะมีหัวข้อและเป้าหมายคร่าวๆของธีสิสลงในประกาศรับสมัครไว้แล้วด้วย บางบริษัทก็ไม่มี เราต้องไปตกลงกับเค้าเองว่าเรามีความสนใจอะไร อยากทำธีสิสเรื่องอะไร และมันเป็นประโยชน์กับตัวบริษัทยังไง สำหรับขั้นตอนนี้ ถ้าก่อนหน้าที่จะสมัครทำธีสิส เราทำงานพาร์ทไทม์หรือฝึกงานที่บริษัทนั้นอยู่แล้ว โอกาสที่เค้าจะรับเราทำธีสิสก็จะมากขึ้น ซึ่งเราอยู่ในกรณีนี้ เลยไม่ได้มีปัญหาอะไร สมัครที่แรกก็ได้เลย

หาที่ปรึกษา Internal Supervisor

อุปสรรคแรกเลยที่เราเจอคือการหาที่ปรึกษาจากมหาลัย คือการทำธีสิสที่บริษัท เราจะมีที่ปรึกษาสองคน คนแรกคือที่บริษัท (external supervisor) คนที่สองคือที่มหาลัย (internal supervisor) ถ้าเราหาบริษัทที่รับเราทำธีสิสได้แล้ว เราก็จะได้ที่ปรึกษาที่บริษัทมาแล้ว แต่เราต้องไปหาที่ปรึกษาที่มหาลัยให้ได้ก่อน ถึงจะเซ็นสัญญาทำธีสิสที่บริษัทเค้าได้ ซึ่งที่ปรึกษาที่มหาลัยก็ควรมาจาก institute ที่มีหัวข้อการทำวิจัยที่เกี่ยวข้องกับงานที่เราทำในธีสิสด้วย เพราะว่าหนึ่ง เค้าจะได้ให้คำปรึกษาเราได้ และสอง ตอนที่เราส่งธีสิส คนจาก institute นั้นจะเป็นคนให้คะแนนธีสิสของเรา นอกจากนั้น institute นั้นก็ต้องเป็น institute ที่สามารถเป็นที่ปรึกษาธีสิสให้นักศึกษาจากคณะที่เราอยู่ได้ด้วย ตอนนั้นเราใช้เวลาหาอยู่นานพอสมควร ต้องเขียนอีเมลล์ไปหาหัวหน้าของ institute ที่สนใจแล้วก็อธิบายว่าฉันได้ข้อเสนอทำธีสิสที่บริษัท ซึ่งงานที่ทำเกี่ยวกับอย่างนี้ๆๆๆ แล้วรอเค้าตอบ จากที่สังเกต เรามีความรู้สึกว่าที่ปรึกษาที่มหาลัยเค้าไม่ค่อยอยากจะรับเป็นที่ปรึกษาให้คนที่ทำธีสิสที่บริษัท เพราะว่ามันอารมณ์เหมือนเป็นการรับงานเพิ่มจากงานที่เป็นของเค้าอยู่แล้ว โดยปกติแล้วที่ปรึกษาที่มหาลัยเค้าก็จะทำงานวิจัยของเค้าเองอยู่แล้ว และบางคนก็จะเอาส่วนหนึ่งของงานวิจัยนั้นมาเป็นหัวข้อธีสิส แล้วหานักศึกษาในมหาลัยมาทำธีสิสเรื่องนั้น ซึ่งจะเป็นการช่วยเค้าทำงานวิจัยของเค้าเองไปในตัว งานที่เค้าต้องทำก็ลดลง ส่วนนักศึกษาก็ได้หัวข้อไปทำธีสิส เป็นการวินวินทั้งสองฝ่าย แต่ถ้าเค้ารับเป็นที่ปรึกษาให้นักศึกษาที่ทำธีสิสที่บริษัท งานวิจัยของตัวเค้าก็ไม่ได้ลดลง แถมยังต้องรับภาระมาทำเพิ่มอีก บาง institute ถึงกับเขียนในเว็บเลยว่าไม่รับเป็นที่ปรึกษาให้ธีสิสที่ทำกับบริษัท ด้วยเหตุนี้ การหาที่ปรึกษาที่มหาลัยเลยค่อนข้างเป็นอุปสรรค ยกเว้นแต่ว่าเรารู้จักที่ปรึกษาคนไหนเป็นการส่วนตัวอยู่แล้วและสามารถขอให้เค้าช่วยเป็นที่ปรึกษาให้เราได้

ข้อดีของการทำธีสิสที่บริษัทคืออาหารที่โรงอาหารดีงามมากและราคาถูก

ณ ตอนนั้น เรากังวลมากว่าจะหาที่ปรึกษาที่มหาลัยไม่ได้ สิ่งที่สำคัญที่สุดในใจตอนนั้นเลยคือทำยังไงก็ได้ให้ได้ทำธีสิสที่บริษัท พอมีที่ปรึกษาที่มหาลัยคนนึงตอบตกลงมา เราเลยตอบรับไปเลย ซึ่งสิ่งนี้ก็นำมาซึ่งความปวดหัวอีกมากมายที่ตามมา สาเหตุหลักๆเลยคือเพราะ institute ของที่ปรึกษาคนนี้เป็น institute ที่ซีเรียสมากในหลายๆเรื่อง ความปวดหัวที่เกิดขึ้นก็เช่น

  1. ในสัญญาทำธีสิสของเราจะมีเอกสารให้ institute ที่มหาลัยเซ็นสัญญาปกปิดความลับด้วย ซึ่ง institute ที่เป็นที่ปรึกษาให้เราก็จะไม่ยอมเซ็น ต้องนัดโทรซูมคุยกันเพิ่มเติมระหว่างเรากับที่ปรึกษาทั้งสองคน สรุปว่าบริษัทต้องไปแก้สัญญาใหม่ ให้ไม่ต้องเซ็นเอกสารปกปิดความลับ (ตอนแรกนึกว่าเค้าจะไม่ให้เราทำธีสิสซะแล้ว)
  2. ปกติแล้วหลังเริ่มทำธีสิส เราต้องลงทะเบียนธีสิสของเราที่มหาลัย เสร็จแล้วเค้าจะมีกำหนดระยะเวลาสำหรับการทำธีสิสมาให้ซึ่งจะนับจากวันที่ลงทะเบียน ซึ่งเราต้องส่งธีสิสของเราภายในระยะเวลานั้น ไม่งั้นจะโดนปรับตก ต้องไปหาธีสิสเริ่มทำใหม่ ซึ่งจากที่เราถามๆเพื่อนหลายๆคนที่ทำธีสิสที่ institute อื่นๆมา เค้าบอกว่า institute เค้าไม่ได้ซีเรียสเรื่องวันลงทะเบียน เริ่มทำธีสิสไปหลายๆเดือนก่อนแล้วค่อยลงทะเบียนก็ได้ หรือหลายๆคนก็ไปลงทะเบียนเอาตอนที่ทำเสร็จแล้วนู่นเลย แบบทำให้เสร็จก่อน แล้วก็ลงทะเบียน แล้วก็ส่งเลย อะไรอย่างนี้ แต่ institute ที่เป็นที่ปรึกษาให้เรานั้นซีเรียสมาก ต้องลงทะเบียนภายในหนึ่งเดือนหลังเริ่มทำ ทำให้พอใกล้ๆถึงกำหนดส่ง มันมีความเครียดมาบีบคั้นเพิ่มขึ้นไปอีกหลายเท่า
  3. ด้วยความที่งานธีสิสที่เราทำนั้นใช้ความรู้หลายๆศาสตร์มารวมกัน ที่ปรึกษาที่บริษัทก็เชี่ยวชาญศาสตร์นึง institute ของที่ปรึกษาที่มหาลัยก็เชี่ยวชาญอีกศาสตร์นึง ทำให้ความคาดหวังจากบริษัทกับจากมหาลัยไปคนละทาง บางอย่างที่บริษัทให้ทำ institute ที่มหาลัยอาจจะคิดว่าไม่สำคัญ ซึ่งตัวที่ปรึกษาที่บริษัทก็ให้ทำเยอะมาก เอาอะไรมาให้อ่านเยอะมากกก จนแค่ศาสตร์ของทางฝั่งบริษัทตัวเดียวก็กินเวลาหาข้อมูลไปเยอะมากแล้ว ไปๆมาๆเลยแทบจะไม่มีเวลาไปหาอ่านข้อมูลในฝั่งของศาสตร์ของ institute ของที่ปรึกษาที่มหาลัยเลย แต่คนที่ให้คะแนนธีสิสเรานั้นเป็นคนจาก institute ของมหาลัยน่ะสิ แล้วด้วยความที่ institute นี้เป็น institute ที่ซีเรียส เค้าเลยจริงจังมากกับการที่เนื้อหาของธีสิสของเราต้องมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับศาสตร์ของ institute นั้นแบบเจาะลึก (ในขณะที่บาง institute ที่ไม่ได้ซีเรียส ถ้าเค้าเป็นที่ปรึกษาให้เราในกรณีที่เราทำธีสิสที่บริษัท เค้าจะไม่ได้สนใจมากว่าเนื้อหาในธีสิสของเราเกี่ยวกับ institute ของเค้ามากแค่ไหน แค่จะติดตามผลเป็นระยะๆ และเน้นให้เราทำวิจัยอย่างถูกต้องตามแบบแผนแค่นั้น) ช่วงท้ายๆเราเลยต้องเค้นเอาแรงกายแรงใจที่ยังเหลืออยู่อย่างน้อยนิดมาเพื่อมาหาข้อมูลของศาสตร์ทางฝั่งมหาลัยมาเสริมในตัวธีสิสเท่าที่พอทำได้ ซึ่งมันเป็นวิชาที่ยากมากๆ ด้วยความที่พลังกายพลังใจแทบหมดแล้ว แต่ยังต้องมาหาอ่านข้อมูลที่ยากและตรงกันข้ามกับศาสตร์ของฝั่งบริษัทแบบลิบลับอีก ทำให้ช่วงท้ายๆของธีสิสเป็นช่วงที่เราเครียดและวิตกกังวลมากๆแบบตลอดเวลา บางช่วงเครียดจนกินไม่ได้ นอนหลับไม่ลง หัวใจเต้นแรงตูมๆอยู่ในอกติดต่อกันอยู่สองสามวัน หลายๆช่วงคือเครียดจนอยากจะเลิกทำเลิกเรียนซะให้รู้แล้วรู้รอดไปเลย T.T สิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้น หรืออย่างน้อยก็จะไม่ย่ำแย่ขนาดนี้ถ้าตอนนั้นเราหาที่ปรึกษาในมหาลัยจาก institute ที่ตรงกันกับศาสตร์ของที่ปรึกษาที่บริษัทได้ หรือหาที่ปรึกษาในมหาลัยจาก institute ที่ไม่ซีเรียสได้ ในกรณีนี้เราก็ยังใช้ทั้งสองศาสตร์นี้ในงานธีสิสของเรา แต่ว่าไม่จำเป็นต้องไปทำวิจัยวิเคราะห์เจาะลงลึกไปในศาสตร์ที่สอง แค่โฟกัสที่ศาสตร์แรกแล้วแค่เลือกเอาความรู้ที่ต้องใช้จากศาสตร์ที่สองมาใช้ในงานก็พอ

สรุปแล้วไปๆมาๆ ความเครียด ความวิตกกังวล ความปวดหัวทั้งหมดทั้งมวลในการทำธีสิสของเรามาจากที่ปรึกษาและ institute ที่มหาลัยทั้งนั้นเลยนี่หว่า (เพิ่งสังเกตตอนที่เขียนโพสต์นี้นี่แหละ) 55555555 เรื่องตัวงานที่ทำไม่ใช่ประเด็นหลักของความเครียดเท่าไหร่ ประเด็นสำคัญหลักๆที่เป็นต้นตอของความเครียดใหญ่ๆของเราในการทำธีสิสครั้งนี้จะเป็น

  1. เราต้องทำงานให้เสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนดในสัญญา ข้อนี้ไม่รู้ว่าบริษัทอื่นเป็นไง แต่บริษัทของเรา ถ้าทำธีสิสไม่เสร็จภายในระยะเวลานั้นก็ต่อสัญญาให้ได้ อย่างที่ปรึกษาที่บริษัทของเราก็บอกว่าการต่อสัญญาที่บริษัทนั้นไม่ยุ่งยาก แต่ในกรณีของเรานั้น ด้วยความที่ institute ของที่ปรึกษาที่มหาลัยซีเรียสและให้เราลงทะเบียนธีสิสตั้งแต่ภายในหนึ่งเดือนหลังเริ่มทำเลย ทำให้ยังไงเราก็ต้องทำให้เสร็จภายในระยะเวลานั้นอยู่ดี เพราะเค้านับวันกำหนดส่งธีสิสจากวันที่ลงทะเบียน และขอเลื่อนออกไปไม่ได้ด้วย นอกจากจะมีเหตุผลที่สำคัญจริงๆ
  2. ต้องไปอ่านวิจัยทางศาสตร์ของที่ปรึกษาที่บริษัท และยังต้องไปหาอ่านวิจัยทางศาสตร์ของ institute ของที่ปรึกษาที่มหาลัยอีก ไปๆมาๆ เหมือนกับต้องทำธีสิสสองหัวข้อไปพร้อมๆกัน
  3. ด้วยความที่โดนบังคับให้รีบลงทะเบียนตั้งแต่เริ่มทำธีสิสตอนแรก เลยกดดันและเครียดมากๆตอนที่ใกล้ถึงวันกำหนดส่งงาน ถ้าไม่มีเดดไลน์มาจ่อตูดก็คงสบายขึ้นเยอะ

เพราะฉะนั้น จากประสบการณ์ส่วนตัวที่ผ่านมา ขอแนะนำอย่างยิ่งสำหรับใครที่จะทำธีสิส ไม่ว่าจะที่บริษัทหรือที่มหาลัย ว่าตัวที่ปรึกษาและ institute ของที่ปรึกษาที่มหาลัยสำคัญมากๆๆ ให้ถามเพื่อนถามรุ่นพี่ในคณะเยอะๆว่ามีใครเคยรีวิวมั้ยว่า institute ไหนเป็นยังไง หรือใครเคยทำธีสิสที่ institute ไหนแล้วประสบการณ์เป็นยังไงบ้าง ตอนที่คุยกับที่ปรึกษาตอนสัมภาษณ์ตอนแรกก็สำคัญ ต้องลองชวนคุยเยอะๆ ถามเยอะๆ ให้พอประเมินได้ว่าที่ปรึกษาเราเป็นคนยังไง เป็นคนจริงจัง หรือชิวๆ และเค้าดูเข้ากับเราได้มั้ย เพราะอย่างไรก็ตาม เรารู้สึกว่าไม่ว่าจะในการทำธีสิส การทำงาน หรืออะไรก็ตามแต่ ตัวคนที่เราต้องใช้เวลาอยู่ด้วยสำคัญกว่าความยากของตัวงานมาก อย่างที่เค้าบอกว่าคับที่อยู่ได้ คับใจอยู่ยากนั่นแหละ

สรุปแล้ว สิ่งที่เราจะทำถ้าย้อนเวลากลับไปได้ก็คือจะทำธีสิสให้เสร็จก่อน แล้วค่อยฝึกงาน จะธีสิสในมหาลัยหรือนอกมหาลัยก็ได้แล้วแต่ แต่ส่วนตัวถ้าย้อนเวลากลับไปได้จะทำธีสิสในมหาลัย เลือกที่ๆสบายๆแต่ได้ฝึกทักษะที่เราสนใจ ถ้าให้ดีคือหางานเสริมทำในมหาลัยในระหว่างที่เรียนอยู่ไปด้วย พยายามเลือกหางานที่ได้ฝึกทักษะที่น่าสนใจ พอถึงเวลาที่ต้องทำธีสิส เราจะได้มีคอนเนคชั่นในมหาลัยใน institute ที่เราทำงานอยู่แล้ว จะได้หาหัวข้อทำธีสิสได้ง่ายๆ หรือถ้าอยากจะทำธีสิสที่บริษัทข้างนอกก็จะได้หา internal supervisor ได้ง่ายๆจาก institute ที่เราเคยทำงานมา แล้วพอเสร็จธีสิสแล้วค่อยหาฝึกงานที่บริษัทข้างนอก หาบริษัทและตำแหน่งที่มีโอกาสรับเราเข้าทำงานต่อหลังฝึกงานเสร็จ ระหว่างที่ทำธีสิสกับฝึกงานก็ปล่อยวิชาที่ต้องสอบที่มหาลัยที่ง่ายๆเหลือทิ้งไว้ตัวนึง จะได้ยังมีสถานะนักเรียนอยู่ เพราะว่าถ้าไม่ได้เป็นนักเรียนจะฝึกงานไม่ได้ พอฝึกงานเสร็จก็ค่อยไปสอบวิชานั้น พอสอบผ่านแล้วก็จะถือว่าเรียนจบ จะได้เข้าทำงานที่บริษัทนั้นต่อได้เลย ถ้าเกิดว่าเราโอเคกับตัวบริษัทและตำแหน่งที่ได้อะนะ ถ้าเกิดว่าไม่โอเคหรือไม่มีตำแหน่งก็หาสมัครที่ใหม่เอาอีกที อย่างน้อยการทำธีสิสก่อนฝึกงานก็เป็นการทำสิ่งที่ยากที่สุดให้ผ่านไปก่อน พอฝึกงานก็จะไม่เครียดเท่าแล้ว เพราะไม่ต้องเขียนเล่มส่งให้ทันตามกำหนด พอไม่เครียดก็จะมีเวลาและมีกะจิตกะใจเตรียมตัวหาสมัครงานและสัมภาษณ์งานด้วย อีกอย่างตอนฝึกงานเรารู้วันที่จะฝึกเสร็จชัวร์ๆ ตอนทำธีสิสมันมีโอกาสที่เราจะทำช้าจนต้องขอเลื่อนเวลาออกไป ทำให้มีความไม่แน่นอนว่าจะเรียนจบเมื่อไหร่ และจะเริ่มทำงานได้เมื่อไหร่

ซากอาศรมในเมือง Hirsau ใกล้ๆกับเมืองที่เราทำธีสิส

หลังจากสามสี่เดือนที่เต็มไปด้วยความเครียดและความวิตกกังวลที่กัดกินใจจนสุขภาพจิตเกือบพังพินาศผ่านไป ในที่สุดเราก็ได้อีเมลล์แจ้งเตือนมาจากมหาลัยว่าธีสิสของเราผ่านแล้ว และภูเขาหิมาลัยที่กดทับเรามาตลอดช่วงเวลานั้นก็ถูกยกออกจากอก ในที่สุดก็หลุดพ้นและเลิกวิตกกังวลแบบถาวรได้ซักที จะได้เริ่มต้นหางานแบบจริงๆจังๆแบบไม่มีห่วงได้ซักทีด้วย ตอนที่ยังทำธีสิสอยู่นั้น ด้วยความเครียดมหาศาลทำให้เรามานั่งทบทวนชีวิตใหม่ว่าจากนี้ต่อไปแล้วเราต้องการอะไรกันแน่ อะไรคือสิ่งสำคัญในชีวิต ในชีวิตนี้เราก็ได้ไปเที่ยวไปเห็นอะไรมาเยอะพอประมาณแล้ว จนตอนนี้ก็ไม่ได้รู้สึกว่าอยากจะไปเที่ยวไหนเป็นพิเศษแล้ว อยากจะมีชีวิตเรียบง่ายๆ ในที่ๆอยู่แล้วสบายใจ ทำงานเก็บเงิน มี work-life-balance สุดสัปดาห์ไปเที่ยวพักผ่อนพอเป็นพิธี (เหมือนชีวิตตอนที่ฝึกงาน) ก่อนหน้านั้นเวลาเราคิดถึงเมืองที่เราอยากไปใช้ชีวิตอยู่ตอนทำงานจะไม่เคยคิดถึงเมืองไหนเป็นพิเศษ แต่ตอนนั้นเหมือนมีเสียงในหัวพูดกับตัวเองว่า เลิกหลอกตัวเองได้แล้ว เมืองที่เธอชอบและอยากจะไปอยู่มาตลอดก็คือเมืองเบอร์ลิน ตอนนี้ได้เวลาแล้ว ถ้าไม่หาทางไปอยู่ตอนนี้จะได้ไปอยู่ตอนไหน 5555 ตั้งแต่นั้นมาเลยปักหมุดเลยว่าจะหางานในเมืองเบอร์ลินเป็นหลัก แล้วก็ตัดสินใจหอบข้าวของย้ายไปหาบ้านเอาดาบหน้าที่เบอร์ลินเลย 555 และอีกอย่างที่เราคิดถึงอยู่บ่อยๆมากตอนที่ทำธีสิสอยู่คือครอบครัวที่ไทย คือมีความรู้สึกว่าในชีวิตนี้เราได้เรียนสูง ได้ไปเที่ยวไปเห็นอะไรมาเยอะแยะมากมาย แต่ว่าเราเสียช่วงเวลาในการใช้ชีวิตกับพ่อแม่ไปเยอะมาก และเสียเวลาในการเติบโตไปพร้อมกับน้องชายไปค่อนชีวิตของน้อง ไม่ได้อยู่กับน้องตอนน้องเติบโตจากวัยเด็กไปเป็นวัยรุ่น ในความคิดของเรา ยังคิดว่าน้องชายยังเป็นเด็กอยู่เสมอ แต่พอกลับไทยไปทีไรน้องก็จะโตขึ้นเยอะมากจนเหมือนเปลี่ยนไปเป็นคนละคน ซึ่งพอจะเล่นกับน้องเหมือนตอนยังเป็นเด็กน้องก็ไม่ค่อยเล่นด้วยแล้ว ยิ่งก่อนหน้านั้นเพิ่งดูหนังเรื่อง Everything Everywhere All at Once ที่ตัวหนังพูดถึง multiverse มาด้วย เราเลยมานั่งนึกบ่อยๆว่าในอีกโลกคู่ขนานที่เราไม่ได้ย้ายมาเรียนม.ปลายที่กรุงเทพ ที่เราไม่ได้เรียนสูงๆแต่ว่าได้อยู่บ้านกับพ่อแม่กับน้อง ชีวิตเราจะเป็นยังไงน้า เราจะมีความสุขมั้ยน้า ช่วงท้ายๆของการทำธีสิส มีหลายช่วงที่เราถึงกับขนาดคิดว่าอยากกลับไทยเลย กลับไปอยู่ในบ้านเกิดของเรา กับพ่อแม่ กับน้อง… แต่พอรู้ว่าธีสิสผ่านแล้วก็ยังอยากหางานทำอยู่ที่เยอรมันต่อแหละ อย่างน้อยก็อยากทำงานอยู่ที่นี่จนได้พาสปอร์ตเยอรมันก่อนแล้วค่อยคิดอีกทีว่าอยากกลับไทยมั้ย แต่ว่าเราอยากเปลี่ยนสายในการทำงาน จากที่เรียนวิศวะมา อยากจะเปลี่ยนไปทำงานแนว IT เพื่อว่าจะได้มีโอกาสทำงานที่สามารถทำแบบออนไลน์ได้ เผื่อจะได้มีโอกาสแบบทำงานสามเดือนอยู่เยอรมัน อีกสามเดือนอยู่ไทย สลับๆกัน อะไรอย่างงี้ได้ ซึ่งตอนนี้เราก็อยู่ในช่วงหางานอยู่ ตอนนี้ตำแหน่งที่สมัครไปเกือบทั้งหมดเป็นงานเกี่ยวกับ IT ซึ่งก็กังวลอยู่เหมือนกันว่าจะหาได้มั้ยเพราะว่าเราก็ไม่ได้เรียนมาแบบตรงๆ แล้วความรู้ IT กับประสบการณ์การเขียนโปรแกรมก็ไม่ได้เยอะ ก็ต้องรอดูต่อไป เอาเป็นว่าขอจบโพสต์นี้แค่นี้ก่อน เดี๋ยวโพสต์ต่อไปเราจะมาเล่าประสบการณ์ตั้งแต่เรียนจบและย้ายไปอยู่เมืองเบอร์ลินจนถึงตอนนี้ให้ฟัง

หาทำธีสิสที่บริษัท

ระหว่างที่กำลังฝึกงานอยู่ ตอนเดือนมีนาคมที่ผ่านมาเรามีสอบวิชานึงที่มหาลัย ซึ่งเป็นวิชาสุดท้ายในการเรียนป.โทแล้ว ตอนแรกเค้ากำหนดว่าจะจัดสอบที่มหาลัย แต่ไปๆมาๆ โควิดสายพันธุ์โอมิครอนเดบิวต์ และมาแรงมาก ทำตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งทะยานแบบไม่เคยมีมาก่อน ทางมหาลัยเลยเปลี่ยนให้เป็นจัดสอบแบบออนไลน์แทน เป็นโชคดีของเราไป ตอนก่อนสอบเราก็ใช้วันลากับชั่วโมงทำงานที่ทำเกินสะสมมาก่อนหน้านี้หยุดรวมกันเกือบหนึ่งอาทิตย์เพื่ออ่านหนังสือสอบ เป็นการสอบแบบชิวๆเพราะเป็นวิชาที่ง่ายซึ่งเราตั้งใจเก็บวิชาที่ง่ายไว้สอบตอนท้ายสุดอยู่แล้วเพื่อจะได้ไม่เครียด

พอสอบวิชาสุดท้ายของการเรียนเสร็จแล้ว ก็ได้เวลาคิดถึงสเต็ปต่อไปหลังจากการฝึกงาน ซึ่งก็คือการทำธีสิสจบนั่นเอง ซึ่งเราก็ยังคงอยากทำที่บริษัทเหมือนเดิม เพราะว่าจะได้ได้ค่าจ้าง (ทำธีสิสที่มหาลัยไม่ได้ค่าจ้าง) และอาจจะได้คอนแท็คหรือเส้นสายสำหรับหาลู่ทางเข้าทำงานหลังเรียนจบต่อได้ด้วย ตอนแรกเราก็ถามหัวหน้าว่าพอจะมีโอกาสในการทำธีสิสที่นี่ต่อมั้ย หัวหน้าก็ถามว่าอยากทำแนวไหน ด้วยความที่เรารู้สึกสนุกกับการทำงานที่เกี่ยวกับ Data ที่ทำตอนฝึกงาน แต่อยากจะทำอะไรที่ไปทางวิศวะหรือเขียนโปรแกรมมากกว่านี้เลยบอกไปว่าอยากทำแนว Machine Learning (จริงๆก็อยากอยู่แผนกเดิมต่อ แต่งานในแผนกนี้จะออกไปทางบริหารจัดการการผลิต หรือควบคุมคุณภาพ อะไรอย่างนี้มากกว่า) หัวหน้าก็ให้คอนแท็คของพนักงานในบริษัทสาขาเดียวกับเราที่ทำแผนกเกี่ยวกับ Machine Learning มาสองคนให้เราส่งเมลล์ไปถาม แต่เค้าตอบมาว่าตอนนี้มีนักศึกษาที่กำลังทำธีสิสอยู่ในแผนกนั้นอยู่สามคน ซึ่งครบลิมิตจำนวนคนที่เค้ารับได้แล้ว เลยอดไป สุดท้ายเราเลยกลับมาที่วิธีดั้งเดิม คือนั่งเปิดเว็บบริษัทต่างๆหาตำแหน่งที่เปิดรับสมัครอยู่แล้วส่งใบสมัครไปเองเลย 555 ก็คือเหมือนตอนที่หาสมัครที่ฝึกงานนี่เลย แต่คราวนี้ต่างออกไปคือ เรารู้สึกผ่อนคลายและมีความมั่นใจมากขึ้น เพราะมีประสบการณ์การทำงานมากขึ้นแล้ว แล้วก็ได้เห็นว่างานที่เราทำมีประโยชน์กับพนักงานคนอื่นๆและตัวบริษัทด้วย ตอนเขียนจดหมาย Motivation เลยเขียนด้วยความมั่นใจมากขึ้น และมีประสบการณ์ให้เขียนมากขึ้น ความรู้สึกกดดันว่าต้องเขียนให้ดูเวอร์วังหรือหาคำมาอวยบริษัทที่สมัครเยอะๆน้อยลง 555 แต่เอาจริงๆนะ นี่สงสัยมากๆว่าคนที่รับสมัครพนักงานใหม่เนี่ยเค้าอ่าน Motivation Letter กันจริงๆรึเปล่า หรือมีกี่เปอร์เซ็นต์ที่อ่านอย่างจริงจังกันบ้าง ตอนครั้งล่าสุดที่เราสมัครธีสิสนี้ มีบริษัทนึงตอบกลับมาเชิญไปสัมภาษณ์ เป็นบริษัทรถยนต์เยอรมันชื่อดังที่ขอไม่บอกชื่อละกัน 555 ตำแหน่งที่เค้าหาจริงๆแล้วเป็นตำแหน่ง Working Student คือหานักเรียนไปทำงานแบบพาร์ทไทม์ แต่ว่าในคำบรรยายเค้าเขียนว่าสามารถทำธีสิสได้ด้วย ด้วยความที่คำบรรยายงานที่ต้องทำใกล้เคียงกับงานที่เราทำตอนฝึกงาน เราเลยสมัครไป แล้วก็เขียนไปใน Motivation Letter ว่าเข้าใจว่าประกาศนี้สำหรับตำแหน่ง Working Student แต่สนใจสมัครทำธีสิสเพราะว่าตัวงานใกล้เคียงกับที่เคยทำมาก ซึ่งพอถึงตอนสัมภาษณ์จริงๆก็ไปแจ๊คพ็อตว่าเค้าหาแค่ Working Student จริงๆที่ตั้งใจทำพาร์ทไทม์กับเค้าไปนานๆหลายเดือน แล้วหลังจากผ่านไปหลายเดือนแล้วถึงค่อยอาจจะมีโอกาสทำธีสิสได้ เลยเงิบไป สรุปว่าการสัมภาษณ์นั้นก็จบลงอย่างรวดเร็วด้วยความค้างคาใจว่าคนที่รับสมัครเรานั้นได้อ่าน Motivation Letter หรือแม้แต่ CV ของเราจริงจังบ้างรึเปล่า… เอ๊ะหรือเค้าอาจจะใช้โปรแกรมคัด CV ล้วนๆเลยรึเปล่า แบบว่าถ้ามี Keyword นี้ๆๆให้ผ่านเข้ารอบ ถ้าไม่มีปัดตก แบบคนรับสมัครไม่ต้องอ่านอะไรเลย อาจจะเป็นแบบนี้ก็ได้ 555

แต่โชคดีว่าก่อนหน้าที่จะไปสัมภาษณ์ที่บริษัทนี้นั้น เราไปสัมภาษณ์อีกที่นึงมาก่อนแล้ว และที่นั่นก็รับเราแล้วด้วย ซึ่งบริษัทที่รับเราทำธีสิสนั้นก็คือบริษัท… Bosch เหมือนเดิมนั่นเอง 5555 แต่เป็นคนละสาขา คนละเมือง เลยไม่รู้สึกเฟลตอนโดนบริษัทรถยนต์แห่งนี้ปฏิเสธ จากประสบการณ์ที่สมัครงานมาทั้งหมดนั้น เราประทับใจกับบริษัท Bosch ที่สุดเลย เพราะว่าตอบรับหรือตอบปฏิเสธเร็วมาก คือเหมือนว่าหัวหน้าแผนกจะเป็นคนจัดการหาพนักงานใหม่ที่ตัวเองต้องการเองเลย ไม่ใช่แบบให้แผนก HR เป็นคนจัดการหาคนสำหรับตำแหน่งทุกตำแหน่งอะไรอย่างนี้ เลยจะเร็วมาก แบบวันนี้เรากดส่งใบสมัคร วันต่อมาหัวหน้าแผนกตรวจเอกสาร (เราจะได้อีเมลล์มาบอกถ้ามีคนตรวจเอกสารของเราแล้ว) อีกไม่กี่วันต่อมาเราจะถูกเชิญไปสัมภาษณ์หรือไม่ก็โดนตอบปฏิเสธมาเลย ไม่ต้องรอเป็นอาทิตย์หรือบางทีก็เป็นเดือนถึงรู้ผลเหมือนบางบริษัท (แต่ว่าเท่าที่สมัครไป เค้าก็จะตอบกลับมาแทบทุกที่เลยนะ ถึงจะตอบปฏิเสธก็เถอะ มีแค่สองสามที่เท่านั้นที่จนถึงทุกวันนี้ยังไม่ได้อีเมลล์อะไรกลับมาเลย มีอยู่บริษัทนึงที่เราสมัครไปหลายตำแหน่งที่ตอนสมัครทีไรก็จะได้อีเมลล์ปฏิเสธหลังจากผ่านไปหนึ่งสัปดาห์ทุกครั้ง คือคงตั้งโปรแกรมอัตโนมัติเอาไว้ว่าถ้าครบหนึ่งสัปดาห์แล้วไม่มีการเชิญไปสัมภาษณ์ก็จะส่งอีเมลล์อัตโนมัติไปตอบปฏิเสธเลย)

จริงๆแล้วก่อนจบการฝึกงานหรือตอนจะลาออกจากงาน หัวหน้าของเราจะทำใบประกาศมาให้ ซึ่งจะมีบอกว่าในการฝึกงานหรือทำงานนี้เราทำอะไรบ้าง แล้วก็จะมีประเมินการทำงานของเราในด้านต่างๆด้วย ใบนี้ภาษาเยอรมันจะเรียกว่า Praktikumszeugnis สำหรับการฝึกงาน หรือ Arbeitszeugnis สำหรับการทำงานปกติ ซึ่งในบางกรณีตามกฏหมายแล้วหัวหน้าจะต้องออกใบนี้ แต่ในบางกรณีหัวหน้าก็ไม่จำเป็นต้องออกให้แต่ว่าเราสามารถขอหัวหน้าให้ออกให้ได้ถ้าต้องการ ด้วยความที่เราอยากใช้ใบประกาศนี้สมัครธีสิส เราเลยไปขอหัวหน้าเราตั้งแต่เดือนกว่าๆก่อนวันจบฝึกงานจริงๆ แต่เค้าก็ออกใบนี้มาให้ ซึ่งใบที่ออกมาให้ล่วงหน้าก่อนใบจริงที่จะออกให้ตอนสิ้นสุดการทำงานนั้นเค้าจะเรียกว่า Zwischenzeugnis ซึ่งเนื้อหาก็จะเหมือนกัน แค่อาจจะไม่เป็นทางการเท่า หรือไม่มีลายเซ็นของแผนก HR อะไรอย่างนี้ แต่ในกรณีของเรา สรุปว่าตอนสุดท้าย ใบ Praktikumszeugnis ของเราก็เนื้อหาเหมือนในใบ Zwischenzeugnis เลย ไม่ได้มีการบรรยายอะไรลงไปเพิ่มเติม เพราะว่าหลังออกใบ Zwischenzeugnis มา อีกแค่เดือนนิดๆเราก็ฝึกงานจบแล้ว ซึ่งหลักใหญ่ใจความของตัวงานก็ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงหรือมีอะไรสำคัญให้ต้องเพิ่มเติมลงไปแล้ว

ตอนที่เราสมัครฝึกงานเมื่อปีที่แล้วเราส่งใบสมัครไปสามสิบกว่าใบ โดนเรียกไปสัมภาษณ์แค่ห้าหกที่ รวมแล้วกินเวลาเป็นเดือนๆกว่าจะหาที่ฝึกงานได้ ตอนที่สมัครธีสิสนี้เราส่งไปห้าใบ ใบแรกที่ส่งไปที่ Bosch ส่งไปวันศุกร์ วันจันทร์ส่งไปที่บริษัทอื่นอีกสี่ใบ วันอังคารได้อีเมลล์จาก Bosch เชิญไปสัมภาษณ์วันพุธ (ส่งมาแบบ intern มาที่อีเมลล์ทำงานของเราเลย) แล้ววันศุกร์เค้าก็โทรมาบอกว่าตกลงรับเราเลย (โทรแบบ intern มาที่เบอร์ที่ทำงานของเราเลยเหมือนกัน) ตกใจเบาๆ ไม่คิดว่าจะหาได้เร็วขนาดนี้เลย แบบแค่อาทิตย์เดียว ตอนแรกนึกว่าอาจจะต้องไปหาห้องเช่าถูกๆในเมืองไหนซักเมืองเช่ารอซักเดือนตอนช่วงหาที่ทำธีสิสซะอีก 555 ความที่เราฝึกงานที่ Bosch อยู่แล้วคงมีส่วนช่วยให้เค้าตัดสินใจรับเราไม่มากก็น้อยแหละ แต่ตอนวันศุกร์หลังจากเราวางสายจากที่ Bosch โทรมาตอบรับเราไปได้แค่ไม่กี่นาที เราก็ได้อีเมลล์จากบริษัทรถยนต์เยอรมันเชิญไปสัมภาษณ์อาทิตย์หน้าอีก ตกใจซ้ำสองที่โดนเชิญไปสัมภาษณ์จากสองที่แรกที่สมัครไปเลย ตอนแรกคิดว่าจะปฏิเสธดีมั้ยแต่เพื่อนบอกให้ไปสัมภาษณ์ดูก่อนแล้วค่อยคิดอีกที เลยตัดสินใจไป แล้วก็เจอเหตุการณ์อย่างที่เล่าไปเมื่อย่อหน้าก่อนหน้านู้นนั่นแหละ แต่หลังจากนี้ก็ได้อีเมลล์ปฏิเสธมาจากอีกหนึ่งที่ที่สมัครไป ส่วนอีกสองที่ที่เหลือจนถึงตอนนี้ยังไม่ได้อีเมลล์อะไรตอบกลับมาเลย คิดไปคิดมา ที่เค้ารับเราตั้งแต่ที่แรกที่เราสมัครไปเลยนี่ คงมีดวงช่วยอีกไม่มากก็น้อยด้วยแน่นอน

แต่หลังจากที่เราโดนตอบตกลงให้ไปทำธีสิสเรียบร้อยแล้ว ความท้าทายก็ยังไม่หมด เพราะว่าเรายังต้องหา Supervisor จากมหาลัยด้วย คือนักศึกษาที่ทำธีสิสกับบริษัทจะมีที่ปรึกษาที่บริษัทหนึ่งคน และต้องมีที่ปรึกษาที่มหาลัยอีกหนึ่งคนด้วยถึงจะทำได้ แต่คนที่เป็นที่ปรึกษาที่มหาลัยก็ควรจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับหัวข้อที่เราทำธีสิสที่บริษัทประมาณหนึ่งด้วยจะได้ช่วยให้คำปรึกษาเราได้ ซึ่งการหาที่ปรึกษาที่มหาลัย หลักๆที่เราทำเลย (ที่เพื่อนคนเยอรมันแนะนำมาอีกที) ก็คือเข้าไปอ่านรายละเอียดในเว็บไซต์ของ Institute ต่างๆของมหาลัยตรงส่วนที่เกี่ยวกับหัวข้อวิจัยว่า Institute นี้แบ่งเป็นแผนกอะไรบ้าง และแผนกไหนเน้นทำวิจัยเกี่ยวกับหัวข้อไหน (อีกอย่างที่สำคัญคือต้องเป็น Institute ที่สามารถเป็นที่ปรึกษาให้ธีสิสของนักศึกษาจากคณะของเราได้ด้วย ซึ่งรายละเอียดตรงนี้จะแตกต่างกันไปตามคณะกับตามมหาลัย ต้องไปหาอ่านๆหรือถามๆดูเองอีกที) ถ้าเจอแผนกที่ทำหัวข้อวิจัยใกล้เคียงกับที่เราทำก็ให้ส่งอีเมลล์ไปบอกหัวหน้าแผนกว่าเราได้ทำธีสิสหัวข้อนี้ๆที่บริษัทนี้ๆ จะขอ Internal Supervisor จากแผนกของคุณได้มั้ย อะไรประมาณนี้ ถ้าให้ดีก็ควรพิมพ์บอกรายละเอียดคร่าวๆไปด้วยว่าเราจะทำอะไรในธีสิสของเราบ้าง และส่งใบเกรดของเรากับ CV ของเราไปด้วย ของเราโชคดีตรงที่ที่ปรึกษาที่บริษัทส่งใบรายละเอียดสิ่งที่ต้องทำในธีสิสมาให้เราสำหรับเอาไว้หา Internal Supervisor โดยเฉพาะ เราเลยใช้ใบนี้ส่งไปพร้อมกับอีเมลล์ส่งไปหาหัวหน้าแผนกได้เลย ตอนแรกเราส่งอีเมลล์ไปที่แผนกๆนึง แต่รอสองสามวันแล้วยังไม่มีใครติดต่อกลับ เลยต้องโทรไปถาม โทรไปเสร็จเค้าก็บอกว่าจะดูให้ ให้รอก่อนอีก ตอนนั้นกระวนกระวายมาก เพราะว่าในสัญญาการทำธีสิสที่บริษัท เราต้องเขียนชื่อที่ปรึกษาลงไปด้วย ไม่งั้นเค้าจะออกสัญญาให้ไม่ได้ ระหว่างนั้นก็มีคนจากแผนกนั้นอีเมลล์มาว่าให้ลองติดต่อไปที่ที่ปรึกษาคนนี้ ตอนนั้นเราก็มีความหวังเบาๆ แต่ปรากฏว่าลองไปเช็คข้อมูลอีกที… ปรากฏว่า Institute ที่เราติดต่อไปนั้นเป็นที่ปรึกษาให้ธีสิสของนักศึกษาจากคณะของเราไม่ได้!!! เลยต้องส่งเมลล์เพิ่มไป Institute อื่นที่ชัวร์ว่าเป็นที่ปรึกษาให้เราได้อีกสองสามแห่ง แล้วก็ต้องรอต่อไปอีก ด้วยความที่ยังทำสัญญาไม่ได้ และกระบวนการทำสัญญาก็ยังกินเวลาประมาณเดือนนึงอีก ทำให้จากตอนแรกที่เราสามารถเริ่มสัญญาตอนต้นเดือนพฤษภาคมได้ โดนเลื่อนไปเป็นเริ่มสัญญาได้เร็วสุดตอนกลางเดือนพฤษภาคม ตอนนั้นกระวนกระวายมาก นอนหลับไม่สนิทเลย กลัวว่าที่ปรึกษาทีบริษัทจะเปลี่ยนใจกะทันหันมั้ย 555 แล้วถ้ายังทำสัญญาไม่ได้ก็ยังเริ่มหาบ้านไม่ได้อีก แต่ไปๆมาๆ ในที่สุดก็มีที่ปรึกษาคนนึงส่งเมลล์มาบอกเราว่าเค้ายินดีเป็นที่ปรึกษาให้เรา เสร็จแล้วเราก็เริ่มหาบ้านจากเว็บ wg-gesucht ซึ่งก็มีห้องว่างให้เช่าลงประกาศอยู่สองสามห้อง ซึ่งเราก็ติดต่อไปจนได้โทร Video Call ดูห้องกับเจ้าของห้องเช่า แล้วก็ตกลงเซ็นสัญญากันผ่านอีเมลล์เรียบร้อย ได้ห้องมาอย่างรวดเร็วมาก ต่างจากตอนที่หาบ้านแถวๆเมืองที่ฝึกงานที่เข้าเว็บ wg-gesucht แล้วไม่มีห้องว่างลงประกาศไว้เลย ต้องไปไล่หาห้องเช่าเอาจากเว็บอื่น ผ่านไปนานกว่าจะหาได้

สรุปว่าตอนนี้เราก็ได้ที่ทำธีสิสแล้ว ซึ่งเป็นหัวข้อที่ตรงกับความสนใจระดับหนึ่งเลย (ไม่ได้ตรงแบบเป๊ะ แต่ว่าอย่างน้อยก็ได้ทำที่บริษัทที่มีค่าจ้างให้ เลยรับๆไว้ก่อนดีกว่า และอีกอย่างคืออยากรีบๆรับรีบทำให้เสร็จ จะได้รีบๆเรียนจบด้วย) แล้วก็หาบ้านได้แล้วด้วย ตามสัญญาการทำงานเราจะเริ่มงานอย่างเป็นทางการได้ตอนวันที่ 15 พฤษภาคม แต่ว่าเราบอกที่ปรึกษาไปว่าฝึกงานเสร็จตั้งแต่กลางเดือนเมษาแล้วและอยากเริ่มเตรียมตัวตั้งแต่ตอนนั้นเลย เค้าเลยส่งเปเปอร์และหนังสือต่างๆมาให้อ่านเตรียมตัวแล้ว ซึ่งมีเยอะมาก เห็นแล้วจะเป็นลม 5555 แล้วเมื่อวานเราก็เพิ่ง Video Call กับที่ปรึกษาทั้งสองคนแบบพร้อมหน้าพร้อมตากันเป็นครั้งแรกด้วย ซึ่งสิ่งที่ที่ปรึกษาจากมหาลัยบอกเราคือเค้าอ่านรายละเอียดสิ่งที่เราต้องทำในธีสิสนี้แล้วเค้ารู้สึกว่า… ทำไม่น่าจะทัน!! =..=” ซึ่งเค้าก็คุยๆเรื่องนี้กับที่ปรึกษาที่บริษัทระหว่าง Video Call ด้วย แล้วก็แบบคุยกันอย่างนักวิชาการความรู้แน่น แลกเปลี่ยนว่าควรทำแบบนี้ๆใช้เทคนิกนี้ๆๆดีมั้ย ด้วยภาษาเยอรมัน ซึ่งนักเรียนต่างด้าวเอเชียที่เน้นท่องจำก่อนสอบแล้วก็ลืม นั่งฟังแล้วก็ได้แต่ยิ้มแห้งและพยายามจดบันทึกตามเท่าที่ฟังทัน ตอนนี้คือแอบนึกเบาๆว่าคิดถูกแล้วใช้มั้ยที่คิดมาทำธีสิสที่บริษัท ที่นอกจากไม่รู้ว่าจะหนักหรือยากกว่าการทำธีสิสที่มหาลัยมั้ย แล้วยังต้องคอยติดต่อประสานงานกับที่ปรึกษาทั้งสองคนอีก ซึ่งไม่รู้ความเห็นจะตรงกันหรือขัดแย้งกันแค่ไหนด้วย และยังหลอนว่าจะทำทันมั้ยด้วย ประเด็นคือตอนนี้ยังนึกภาพไม่ค่อยออกเลยว่ามันจะเป็นยังไงตอนทำจริงๆ แต่ตอนที่เราลงทะเบียนทำธีสิสเราต้องเขียนรายละเอียดคร่าวๆว่าจะทำอะไรในธีสิสนี้บ้าง ซึ่งตอนส่งธีสิสเราต้องทำให้เสร็จตามนั้นจริงๆด้วย แต่ก็แบบมาถึงจุดนี้แล้วยังไงก็ต้องไปต่อแหละ เอาล่ะอีกหกเดือน ลองพยายามดู จะเป็นยังไง เดี๋ยวไว้กลับมาเล่าใหม่ในตอนหน้าตอนที่มีเวลาว่างเขียนอีกครั้งโนะ

ฝึกงานจบแล้ว!

เมื่อวานเป็นวันสุดท้ายของการฝึกงานที่บริษัท Bosch ในเมือง Immenstadt im Allgäu ประเทศเยอรมนีของเรา วันนี้ตอนแรกว่าจะมารีแคปเหตุการณ์ย้อนหลังตั้งแต่ตอนร่อนใบสมัครมาจนถึงตอนที่ยื่นบัตรพนักงานคืนให้หัวหน้าแต่พอกลับไปอ่านโพสต์ที่แล้วในบล็อกมาก็รู้สึกว่าก็เล่าไปเยอะแล้วนี่ แถมหลายเรื่องที่เล่าไปก็เกือบลืมไปแล้วด้วย 555 ก็เลยเปลี่ยนใจเป็นมาเล่าเพิ่มเติมในส่วนที่นึกขึ้นได้ กับส่วนที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นละกัน

วิวจากลานจอดรถบริษัทตอนฤดูหนาว

ในโพสต์ที่แล้วเราทิ้งท้ายไว้ว่าเราเอ็นจอยกับการทำงานและ Work-Life-Balance มาก สรุปว่าจนถึงวันสุดท้ายของการฝึกงานก็ยังเอ็นจอยอยู่ เป็นช่วงชีวิตที่เครียดน้อยที่สุดตั้งแต่ที่มาอยู่เยอรมันแล้ว ในโพสต์ที่แล้วเราเขียนไว้ด้วยว่างานที่ต้องทำไม่ค่อยเกี่ยวกับที่เราเรียนมาเท่าไหร่ ตอนที่เริ่มงานแรกๆจริงๆแอบนึกเบาๆว่าอยากทำงานที่เกี่ยวกับที่เรียนมากกว่านี้ แต่สรุปไปๆมาๆ กลายเป็นว่าชอบงานที่ทำมากๆ แล้วงานของเราเกี่ยวกับการรวบรวม Data ต่างๆจากสายการผลิตมาทำ Interactive Report ซึ่งเป็นอะไรที่ใหม่ในบริษัทและในแผนกที่เราทำอยู่ด้วย คือก่อนหน้านี้วิศวกรที่วางแผนหรือตรวจคุณภาพของการผลิตก็จะเข้าโปรแกรมดูข้อมูลเพื่อเช็คข้อมูลเป็นจุดๆไป แต่ที่เราทำคือเอาข้อมูลทุกอย่างมารวมกันแล้วทำ Report ให้คนเห็นภาพรวมเลย ด้วยความที่เป็นอะไรที่ใหม่ คนที่เชี่ยวชาญโปรแกรมที่เราใช้ในบริษัทในสาขาที่เราฝึกงานเลยยังมีไม่มาก ทำไปทำมากลายเป็นว่าช่วงหลังๆเวลามีเด็กฝึกงานหรือพนักงานใหม่มา หัวหน้าจะแนะนำมาให้เราเป็นคนช่วยสอนใช้โปรแกรมนี้หรือช่วยอธิบายเวลามีคำถามไปเลย

สิ่งหนึ่งที่ไม่ชอบในการทำงานบริษัทคือเวลาจะคุยเรื่องอะไรกับใครต้องนัดคิว แล้วบางคนคิวเต็มยันอาทิตย์หน้า ทำให้บางทีเวลาทำงานบางอย่างแล้วอยากถามความเห็น หรือมีคำถามต่างๆ ต้องรออยู่นานกว่าจะได้คุยจริงจัง ทำให้งานที่ควรจะทำแป๊บเดียวเสร็จ กินเวลายาวไปเป็นอาทิตย์ๆกว่าจะเสร็จ เพิ่งจะรู้ตอนนี้นี่แหละว่าในชีวิตการทำงานจริงๆ กว่าจะนัดประชุมอะไรได้ต้องรอนานขนาดนี้ ไม่รู้ที่อื่นเป็นอย่างนี้เหมือนกันหมดรึเปล่า

วิวจากลานจอดรถบริษัทตอนฤดูร้อน

มาต่อเรื่องสังคมการทำงานดีกว่า ในแผนกของเราจะมีพนักงานประมาณเกือบยี่สิบคน ซึ่งแต่ละคนมีหน้าที่หรือตำแหน่งอะไรบ้างเอาจริงๆเราก็ไม่รู้ 5555 แต่หลักๆเลยคือจะมีฝ่ายที่วางแผนการผลิตในโรงงาน กับฝ่ายที่ควบคุมคุณภาพ ในหนึ่งอาทิตย์จะมีประชุมแบบ Group Call สำหรับทุกคนในแผนกหนึ่งครั้งเพื่อแจ้งข่าวต่างๆ แล้วก็จะมีประชุมแบบ Group Call สองครั้งเพื่อให้พนักงานแต่ละคนเล่าคร่าวๆว่ากำลังทำอะไรอยู่ มีความคืบหน้าหรือปัญหาอะไรบ้าง ต้องการการสนับสนุนอะไรมั้ย บางทีเวลามีพนักงานใหม่มาเค้าก็จะนัดประชุมแบบ Video Call เพื่อให้ทุกคนแนะนำตัวเองแบบสั้นๆด้วย แล้วเวลามีพนักงานคนไหนลาออกเค้าก็จะมีนัดมายืนล้อมกันเพื่อให้หัวหน้าแผนกกล่าวขอบคุณและอวยพรอีก สำหรับกลุ่มย่อยในแผนกที่เป็นกลุ่มของหัวหน้าของเราที่มีพนักงานประมาณสิบคนนั้นก็จะมีนัดกินข้าวที่ร้านแถวบริษัทกันเดือนละครั้งด้วย นอกจากนี้ บางวันก็จะมีการสั่งอาหารมากินด้วยกันที่แผนก หรือไม่ก็จะมีพนักงานในแผนกทำขนมมาให้กินที่แผนก (แต่ว่าให้นั่งกินที่โต๊ะทำงานใครทำงานมัน หรือไม่ก็ให้ยืนกินห่างกันอย่างน้อยหนึ่งเมตรครึ่งเพื่อป้องกันโควิด 555) แล้วตอนก่อนวันหยุดคริสต์มาสที่ผ่านมาก็มีพนักงานสามสี่คนใส่หมวกซานต้า เปิดเพลงคริสต์มาสเดินไปทั่วบริษัทแล้วเอาแยมผลไม้ homemade แจกให้พนักงานทุกคนด้วย

นอกจากประชุมแบบกลุ่มแล้ว เรากับเด็กฝึกงานอีกคนยังมีประชุมแยกกับหัวหน้าสองต่อสองอาทิตย์ละครั้งด้วย จะเป็นประชุมแบบนั่งคุยกันตัวต่อตัว (แบบใส่แมสก์) ซึ่งเราก็จะเล่าแบบละเอียดว่าทำอะไรไปบ้าง มีปัญหาหรือข้อสังเกตอะไรบ้าง มีคำถามอะไรบ้าง ซึ่งหัวหน้าก็เก่งมาก Data ตรงส่วนใหญ่น่าสงสัย เค้านั่งนึกๆแล้วตอบได้เกือบหมดเลย เช่นว่าวันนี้ไลน์ผลิตนี้ไม่ทำงานเลยไม่มีข้อมูล ต้องเลือกใช้ค่าจากสถานีนี้ถึงได้ค่าที่ต้องการ เซนเซอร์ของเครื่องจักรนี้เสียค่าที่วัดออกมาเลยแปลกๆ โปรดักต์ชนิดนี้ใช้วัตถุดิบจากไลน์ผลิตนี้ ทำให้ข้อมูลไม่เหมือนโปรดักต์ชนิดอื่น ฯลฯ แล้วหัวหน้าก็ใจดีและเป็นกันเองมากด้วย ถามอะไรก็ตอบอธิบายแบบจริงจังหมดเลยถึงแม้จะไม่เกี่ยวกับงานที่ต้องทำโดยตรงก็ตาม อารมณ์เหมือนเป็นเพื่อนมากกว่า เหมือนเป็นเพื่อนที่รู้เยอะประมาณนี้ รู้สึกว่าแค่หัวหน้าดี ชีวิตการทำงานก็ดีไป 50% แล้ว

ในระหว่างที่เราฝึกงานอยู่นั้นเราไม่ค่อยได้คุยกับพนักงานคนอื่นเท่าไหร่ จะมีแค่คนนึงที่คุยบ่อยเพราะเวลาเค้าไปกินข้าวที่โรงอาหารเค้าจะชวนคนอื่นไปด้วยกันตลอด (พนักงานส่วนใหญ่จะแยกไปเอง หรือไม่ก็ทำอาหารจากที่บ้านมากินที่ทำงาน) เลยจะได้คุยกันนิดๆหน่อยๆระหว่างที่ไปโรงอาหารบ่อยๆ แต่ส่วนใหญ่ก็คุยแต่เรื่องดินฟ้าอากาศ หรือเสาร์อาทิตย์ที่ผ่านมาทำอะไรมา หรือเสาร์อาทิตย์หน้าจะทำอะไรดี อะไรอย่างเงี้ย 555555 อยากคุยอะไรเยอะๆกว่านี้เหมือนกัน แต่ตอนอยู่ที่ที่ทำงานต่างคนก็จะทำงาน ไม่ได้มีเวลาคุยอะไรขนาดนั้น แล้วอีกอย่างด้วยความที่วัยห่างกันเยอะเลยแอบไม่รู้จะคุยอะไร เคยลองแอบๆฟังว่าพนักงานคนอื่นเวลาคุยกันเค้าคุยอะไรกันแต่ก็ฟังไม่ค่อยออกเพราะแต่ละคนสำเนียงท้องถิ่นแรงมาก 555 แต่ตรงโต๊ะทำงานฝั่งตรงข้ามกับเราจะมีเด็กฝึกงานอีกคน ซึ่งเป็นคนอินเดียที่มาเรียนมหาลัยที่เยอรมันและกำลังจะจบป.ตรี คนนี้จะคุยบ่อยเพราะด้วยความที่เป็นเด็กต่างชาติเหมือนกันเลยจูนกันง่ายกว่า แล้วเค้าก็นิสัยดีมากด้วย เป็นมิตร เดินผ่านใครก็สวัสดีหมด เพื่อนร่วมงานดี ชีวิตทำงานก็ดีไปอีก 30% 555 ระหว่างที่ฝึกงานเราไม่ได้ทำงานร่วมกันคนอื่นมาก ส่วนใหญ่จะเป็นหัวหน้าที่เอางานมาให้ทำ แต่มีสองสามครั้งที่มีพนักงานคนอื่นเอางานมาให้ช่วยทำเหมือนกัน ซึ่งเราก็ต้องนัดประชุมงานแบบโทรคุย บางทีคิวเต็มก็ต้องรอประชุมข้ามอาทิตย์กว่างานจะเดินได้ทีละขึ้น เหมือนที่เล่าไปในย่อหน้าก่อนโน้น 55

วิวระหว่างทางจากบ้านไปบริษัท

วันสุดท้ายของการฝึกงาน เราก็ไปฝึกงานตามปกติ วันนั้นถึงจะเป็นวันสุดท้าย แต่คิวเราเต็มเกือบทั้งวัน เพราะมีประชุมแผนกเพื่อแจ้งข่าวที่เค้าให้เราพรีเซนต์ Reports ทั้งหมดที่เราทำมาด้วย แล้วยังต้องประชุมกับพนักงานในแผนกอื่นอีกสองคนเพื่อช่วยสอนใช้โปรแกรมที่เราใช้ทำงานด้วย ไหนจะต้องเช็คงานของเราให้ชัวร์ว่าเก็บรายละเอียดที่จำเป็นครบแล้วจริงๆอีก วันนั้นตอนประชุมแผนก หัวหน้าแผนกทำเซอร์ไพรส์โดยการเรียกพนักงานทุกคนมายืนรวมกัน (แบบห่างกันอย่างน้อยหนึ่งเมตรครึ่ง 55) แล้วก็กล่าวขอบคุณเราที่ได้ร่วมทำงานมาด้วยกัน แล้วก็อวยพร กับให้ของขวัญเป็นแก้วน้ำลายบริษัทกับเสื้อลายบริษัทมาให้ด้วย รู้สึกเซอร์ไพรส์และตื้นตันมาก ไม่คิดว่าเค้าจะทำอย่างนี้ให้เราเพราะเราก็เป็นแค่เด็กฝึกงาน เสร็จแล้วเราก็กล่าวขอบคุณกลับนิดหน่อย แล้วเย็นวันนั้นตอนก่อนกลับบ้านเราก็เอาโน้ตบุ๊คไปคืนที่แผนก IT แล้วก็เอาบัตรพนักงานไปคืนให้หัวหน้าแผนก ตอนนั้นหัวหน้าแผนกก็พูดขอบคุณเราอีกรอบ แล้วก็เอาของขวัญให้อีกเซ็ต เซอร์ไพรส์และตื้นตันอีกรอบ 55 แล้วก็หมดเวลาหกเดือนของเราที่บริษัท Bosch ที่เมือง Immenstadt แห่งนี้ เดินออกจากประตูรั้วบริษัทด้วยความใจหายเบาๆ อยากอยู่ต่อนานๆไม่อยากให้จบเลย เพราะอย่างที่บอกว่าเราเอ็นจอยกับชีวิตฝึกงาน และตัวงานของเรานี้มาก อยากอยู่ต่อเพื่อทำ Reports อีกหลายๆอันเพื่อให้เป็นประโยชน์กับเพื่อนร่วมงานและกับบริษัท อยากอยู่ต่อเพื่อช่วยแก้ปัญหาเวลามีปัญหาอะไรที่เกี่ยวกับ Reports อยากอยู่ต่อเพื่อช่วยสอนใช้โปรแกรมให้กับเด็กฝึกงานหรือพนักงานคนอื่น บางคนคือเพิ่งมาแค่ไม่กี่อาทิตย์ แล้วเรามีโอกาสสอนแค่ไม่กี่ครั้งเอง หวังว่าจะมีคนอื่นสอนให้เค้าหรือเค้าจะเรียนรู้เองได้อย่างไม่ยากเย็น อยากอยู่ต่อเพื่อจะได้รู้จักเพื่อนร่วมงานคนอื่นมากขึ้น และอยากอยู่ต่อเพราะว่าจะได้ใช้เวลาในเมือง Immenstadt ที่อยู่ติดกับเทือกเขาแอลป์ที่สวยงามนี้ไปอีกนานๆด้วย และอีกอย่างคืออยากอยู่ต่อเพราะว่าพอฝึกงานเสร็จแล้วก็หมายความว่าถึงเวลาต้องทำธีสิสจบแล้วด้วย และไม่อยากทำธีสิส 55555 แต่ก็นะ เมื่อวันถึงเวลามันก็ต้องทำ เอาวะ อีกแค่เฮือกสุดท้ายก็จะเรียนจบซักทีแล้ว เอาเป็นว่าก็จบเรื่องราวของการฝึกงานในตอนนี้แล้ว เดี๋ยวตอนต่อไปเราจะก้าวข้ามไปสู่เรื่องราวของการทำธีสิสป.โทกันแล้วโนะ

Petch in Deutschland อีกครั้ง

หลังจากที่ชีวิตห้าเดือนในประเทศอิตาลีที่เป็นดั่งความฝันอันยาวนานที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงเดินทางมาถึงจุดสิ้นสุด ในที่สุดก็ถึงเวลาที่เราต้องเดินทางกลับไปประเทศเยอรมนี แผนที่คิดไว้ตอนแรกตั้งแต่ตอนก่อนไปแลกเปลี่ยนที่อิตาลีโน่นเลยก็คือระหว่างที่แลกเปลี่ยนอยู่ เราจะหาที่ฝึกงานในประเทศเยอรมนีสำหรับตอนเทอมต่อไปไปพลางๆด้วย ตอนแรกคิดว่าคงหาไม่ยากมาก เพราะถามเพื่อนทั้งคนไทยคนเยอรมันเห็นสมัครกันสามสี่ที่ก็ได้แล้ว ปรากฏว่าถึงเวลาหาจริงๆ เราสมัครไปเป็นสิบๆที่ เวลาก็ผ่านไปจากวันเป็นอาทิตย์ จากอาทิตย์เป็นเดือน จนเป็นหลายเดือนแล้วก็ยังหาที่ฝึกงานไม่ได้ซักที จากตอนแรกที่นั่งหาข้อมูลแต่ละบริษัทที่จะสมัครเพื่อเขียนจดหมายสมัครงานแบบจริงจังมากๆ เขียนเสร็จก็ต้องส่งให้เพื่อนคนเยอรมันช่วยตรวจช่วยแก้ให้ก่อนสมัครอีก ส่งไปหาเพื่อนคนเดิมบ่อยๆก็เกรงใจกลัวเค้าจะรำคาญเลยต้องส่งไปหลายๆคนอีก (นอกจากนี้เรายังส่งอีเมลล์ไปที่ Career Center ของมหาลัยเพื่อนัดวิดีโอคอลล์เพื่อขอคำปรึกษา และให้เค้าช่วยวิจารณ์จดหมายสมัครงานของเราให้ด้วย) ใช้เวลาเยอะมากเป็นวันๆกว่าจะเขียนออกมาได้ จนหลังๆกลายมาเป็นไม่อ่านไม่หาข้อมูลอะไรเยอะแล้ว อ่านแค่ประกาศสมัครงานแล้วเอาข้อความจากจดหมายสมัครงานอันก่อนหน้ามาก๊อปแปะกับเปลี่ยนนิดๆหน่อยๆพอ 555 อารมณ์แบบเซ็งและเหนื่อยใจปนท้อด้วยตอนนั้น หลายๆบริษัทเราตั้งใจเขียนจดหมายสมัครงานมากแต่ก็โดนปฏิเสธอยู่ดี แล้วจะตั้งใจขนาดนั้นทำไม เหมือนเสียเวลาเปล่า ประมาณนั้น จนเวลาล่วงเลยมาถึงช่วงเดือนสุดท้ายในประเทศอิตาลี เหลือเวลาอีกแค่สองเดือนเท่านั้นก็จะเปิดเทอมใหม่แล้วแต่ก็ยังหาที่ฝึกงานไม่ได้ ณ ตอนนั้นเราส่งใบสมัครไป 21 ที่ แต่มีเชิญไปสัมภาษณ์แค่สองที่แล้วก็โดนปฏิเสธมาทั้งสองที่ (ที่แรกเกือบได้แล้ว แต่เหมือนกับระหว่างนั้นมีคนใหม่สมัครมาพอดีแล้วเผอิญเค้าปั๊วะกว่าเรา เลยโดยปาดหน้าไป) ตอนแรกก็ถอดใจละ เปลี่ยนเป็นหาสมัครที่เขียนธีสิสที่มหาลัยแทนละกัน (ที่อยากสมัครฝึกงานมากกว่าเพราะว่าจะได้มีประสบการณ์ไปเขียนลงใน CV แล้วก็จะได้มีเงินเดือนด้วย แล้วก็เผื่อจะได้เจอช่องทางหาทางเข้าทำงานต่อด้วย ถ้าเราทำธีสิสที่มหาลัยก็จะไม่มีเงินเดือน ต้องอยู่อย่างกระเบียดกระเษียรเหมือนเดิม) แต่พอดีช่วงนั้นมีโอลิมปิกเกมส์ แล้วไทยก็ได้เหรียญทองเทควันโดหญิงพอดี แล้วมันมีสตอรี่ว่าน้องเทนนิสที่เป็นตัวแทนเทควันโดหญิงไทยปีนั้น ตอนแรกเหลือเวลาอีกแค่ไม่กี่วินาทีจะจบเกมแล้วแต่ว่าคะแนนยังตามคู่แข่งอยู่ แต่ว่าตอนที่เหลือเวลาอีกแค่เจ็ดวินาทีสุดท้ายนั้น อยู่ดีๆก็กลับพลิกขึ้นมานำคู่แข่งได้จนในที่สุดก็ทำให้ชนะการแข่งขันและนำเหรียญทองโอลิมปิกกลับมาประเทศไทยจนได้ พอได้อ่านสตอรี่นั้นเราเลยมีแรงบันดาลใจทำให้กลับมาฮึดหาที่ฝึกงานอีกรอบแล้วก็ส่งใบสมัครไปเพิ่มอีกหกที่ ตอนนั้นคือไม่เลือกบริษัทละ ดูแค่ว่างานตรงกับที่เราสนใจรึเปล่า requirements พอตรงกับคุณสมบัติของเรามั้ย และขนาดบริษัทไม่เล็กเกินไปใช่มั้ย ไม่อยู่ไกลขนส่งมวลชน ไกลความเจริญเกินไปใช่มั้ย สมัครเสร็จก็รอด้วยความหวัง ปกติหลายๆบริษัทเค้าจะให้สมัครล่วงหน้าเป็นเดือนๆ แต่ ณ ตอนนั้นไม่สนใจละ สมัครไปก่อน อย่างอื่นค่อยคิดทีหลัง แล้วก็รอๆๆ

ภาพจากเมือง Ulm ที่แว้บไปเที่ยวมานิดนึง

ระหว่างที่รอผลสมัครงาน เราก็ต้องหาบ้านสำหรับเดือนต่อไปในเยอรมนีไว้ด้วย ตอนแรกที่ถอดใจกับการหาที่ฝึกงานและคิดว่าจะกลับไปทำธีสิสที่มหาลัยแล้วนั้น เราหาแต่บ้านระยะยาวที่เมืองมหาลัยป.โทของเรา ก็คือเมือง Aachen แต่พอเปลี่ยนใจจะลองกลับไปหาที่ฝึกงานอีกครั้ง เราก็เปลี่ยนเป็นหาบ้านที่ไหนก็ได้ในเยอรมนีที่ให้เช่าระยะเวลาแค่หนึ่งเดือนและค่าเช่าถูกๆแทน (คือเช่าในระหว่างที่คนเช่าหลักไม่อยู่ หรือที่เค้าเรียกว่า Untermiete หรือ Zwischenmiete) ตอนนั้นเราก็หาบ้านในเมืองที่อยากอยู่หลายๆเมือง มีเมือง Berlin, Leipzig, Heidelberg กับ Karlsruhe เข้าไปเช็คในเว็บ wg-gesucht.de วันละหลายๆรอบว่ามีใครลงโฆษณาใหม่มามั้ย แล้วก็เขียนๆไปหาคนที่ลงโฆษณา มีตอบรับ มีวิดีโอคอลกับคนเช่าหลักเพื่อดูห้องสามสี่ที่ จนสุดท้ายก็ตัดสินใจมาอยู่ห้องในเมือง Karlsruhe ที่ค่าเช่าถูกมาก นอกจากค่าเช่าถูกแล้ว อีกเหตุผลที่เลือกมาอยู่เมืองนี้ก็คือเพราะว่าเราเรียนป.ตรีที่เมืองนี้ เลยอยากกลับมาเจอเพื่อนๆพี่ๆน้องๆทั้งคนไทยและคนเยอรมันที่รู้จักด้วย

สภาพลานจอดจักรยานของห้องสมุดของมหาลัยที่ถูกทิ้งร้างช่วงโควิดจนหญ้าขึ้นรกรุงรัง

ก่อนจะบินกลับเยอรมนีเราสัมภาษณ์ออนไลน์ไปสองที่ ซึ่งเป็นสองที่จากเซ็ตหกที่ที่เราสมัครไปล่าสุด เสร็จแล้วเราก็บินกลับไปเยอรมนี ไปลงที่เมืองเบอร์ลิน ไปพักบ้านเพื่อนอยู่สามสี่คืน ระหว่างนั้นก็สัมภาษณ์ออนไลน์กับอีกบริษัทนึง แล้วก็ไปเที่ยว Thai Park ด้วย ซึ่ง Thai Park นี้เป็นสวนในเมืองเบอร์ลินที่เมื่อก่อนคนไทยที่อาศัยอยู่ในเมืองเบอร์ลินจะชอบมาปิคนิคแล้วทำอาหารกินช่วงสุดสัปดาห์กัน ทำไปทำมาก็เริ่มเกิดการแลกเปลี่ยนอาหารกัน แล้วก็เริ่มมีการทำขายกัน พอชื่อเสียงของสวนที่มีคนไทยมาทำอาหารขายช่วงเสาร์อาทิตย์เริ่มกระจายออกไปก็เริ่มมีคนมาเดินเยอะขึ้น แล้วก็มีคนมาทำขายเยอะขึ้นด้วย นั่งทำกันบนพื้นบนเสื่อตามมีตามเกิดนี่แหละ พอตำรวจมาตรวจก็บอกว่ามาปิคนิคกันเฉยๆไม่ได้ทำขาย (ที่เยอรมนีอยู่ๆจะทำอาหารขายสุ่มสี่สุ่มห้าไม่ได้ ผิดกฏหมาย ต้องผ่านมาตรฐานและขออนุญาตต่างๆมากมาย) หลังๆมาเลยกลายเป็นอารมณ์แบบคนรู้ว่ามีแต่ก็ไม่มีใครจัดการอะไรจริงๆจังๆซักที จนเพิ่งเมื่อซักปีที่แล้วนี่แหละ ทางเทศบาลเมืองเบอร์ลินถึงมาจัดการทำให้มันเป็นหลักแหล่ง ให้ถูกต้องตามกฏหมาย เราเคยได้ยินเรื่องสวนนี้มานานแล้วแต่ไม่ได้ไปซักที จนเพิ่งมาได้ไปตอนนี้ที่เค้าจัดการทำให้ถูกกฏหมายแล้ว จากนั่งทำกันบนพื้นบนเสื่อ ตอนนี้ก็มีเป็นซุ้มตั้งๆให้อย่างเป็นกิจจะลักษณะ ของกินก็มีทั้งอาหารไทย อาหารอีสาน หมูปิ้ง ผัดไทย หอยทอด ก๋วยเตี๋ยว ขนมหวาน และอื่นๆอีกมากมาย อารมณ์เหมือนตลาดนัดบ้านเราเลย ไม่อยากจะเชื่อว่าจะได้เห็นข้าวเหนียวหมูปิ้ง ข้าวเหนียวมะม่วง กับกล้วยทอด ไข่นกกระทาทอด ตั้งขายอยู่ที่เยอรมนี หมดเงินไปเยอะมากกับตลาดนี้ (ราคามันไม่ได้ถูกเหมือนที่ไทย) แต่ว่าฟินสุดๆ อยากให้เมืองอื่นมีแบบนี้บ้าง

จากเบอร์ลิน เราก็เดินทางมา Karlsruhe กลับมายังเมืองเก่าที่เคยอาศัยอยู่นานถึงสี่ปีสมัยเรียนป.ตรี ห้องที่มาเช่าอยู่เดือนนึงนี้เป็นห้องในอพาร์ตเมนท์แบบแชร์ห้องน้ำห้องครัวกับแฟลตเมทคนเยอรมันสามคน ในพาร์ตเมนท์มีระเบียงสำหรับนั่งอาบแดดและดูวิวที่ถูกตกแต่งไปด้วยต้นไม้มากมายที่แฟลตเมทเค้าปลูกกันไว้ด้วย เป็นอะไรที่ดีงามมาก แต่รู้สึกว่าแฟลตเมทไม่ค่อยเป็นมิตรเท่าไหร่ คือไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่รู้สึกเหมือนเค้าไม่ได้อยากคุยอะไรกับเราเท่าไหร่ แต่ยังดีที่เมืองนี้เรามีเพื่อนๆอยู่เยอะ โดยเฉพาะเพื่อนๆคนไทยที่กินข้าวกับปาร์ตี้กันบ่อย เลยไม่เหงา

หลังจากที่มาถึง Karlsruhe ได้ไม่กี่วันเราก็ได้อีเมลล์ตอบปฏิเสธมาจากบริษัทที่เราสัมภาษณ์ไปตอนอยู่ที่เบอร์ลิน ผิดหวังอีกรอบ ฮือ เราเลยกลับมาเช็คเว็บมหาลัยเพื่อหาหัวข้อสมัครทำธีสิสอีกครั้ง แล้วก็ส่งอีเมลล์สมัครทำธีสิสไปหาที่ปรึกษาสองคน แต่นอกจากนั้นก็ยังส่งอีเมลล์สมัครงานไปเพิ่มอีกเก้าที่ด้วย ผ่านไปอีกแค่วันเดียวก็ได้อีเมลล์เชิญไปสัมภาษณ์ฝึกงานจากบริษัทนึง กับจากที่ปรึกษาธีสิสคนนึง เราไปสัมภาษณ์ฝึกงานก่อน แล้ววันต่อมาก็ได้อีเมลล์ตอบปฏิเสธมาจากบริษัทหนึ่งที่สัมภาษณ์ไปก่อนหน้านี้ที่เป็นตำแหน่งที่อยากได้มากด้วย แห้วไปอีกรอบ แต่แล้ววันถัดมา อีเมลล์ที่รอคอยก็มาถึง! อีเมลล์ตอบรับเข้าฝึกงาน!!! จากบริษัทสุดท้ายที่เหลือจากเซ็ตหกที่ที่สมัครไปตอนช่วงเดือนสุดท้ายที่อิตาลี ก็คือบริษัท Robert Bosch ที่เมือง Blaichach ในแผนก Fertigungsplanung หรือ Production planning เริ่มงานเดือนหน้าเลย ซึ่งจริงๆแล้วตัวงานไม่ค่อยตรงกับคณะที่เรียนมาเท่าไหร่ เราเรียน Mechatronics กับ Automation มา แต่เท่าที่ฟังเค้าอธิบายตอนสัมภาษณ์มา งานจะออกไปทาง Data Analyse มากกว่า แต่ว่าก็ตอบรับไปเพราะบริษัทชื่อดัง และเพราะว่าไม่รู้ว่าหลังจากนี้จะได้ตอบรับจากบริษัทอื่นเมื่อไหร่ อาจจะไม่ได้อีกเลยก็ได้ 555 จริงๆตัวงานของบริษัทที่เราเพิ่งสัมภาษณ์ไปก่อนที่จะได้คำตอบรับจาก Bosch ตรงกับงานที่เราอยากทำมาก แต่ด้วยความที่ก็ไม่รู้ว่าเค้าจะตอบรับมั้ย และอีกอย่างคือเงินเดือนน้อยด้วย 555 เลยตัดสินใจตอบตกลงรับฝึกงานของ Bosch ไปวันนั้นเลย แล้วก็ส่งอีเมลล์ไปยกเลิกฝึกงานอีกที่ที่ไปสัมภาษณ์มา แล้วก็ยกเลิกนัดสัมภาษณ์ธีสิสที่ยังไม่ได้ไปสัมภาษณ์ด้วย

ภาพจากย่านที่ชื่อว่า Durlach ที่เป็นย่านที่เก่าแก่ที่สุดในเมือง Karlsruhe

หลังจากตอบรับฝึกงานเรียบร้อยแล้ว ก็ได้เวลาหาที่อยู่ ในที่สุดชีวิตก็กลับมาสู่จุดที่ลงหลักปักฐานที่ที่ใดที่หนึ่งเป็นเวลานานๆอีกครั้งซะที หลังจากที่ร่อนเร่ไปมาเป็นเวลาเกือบสองเดือนโดยที่ไม่รู้ว่าต่อไปชีวิตจะไปปักหลักลงที่ตรงไหน แต่อุปสรรคก็ยังไม่จบ เพราะการหาบ้านครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เผลอๆหาบ้านครั้งนี้จะเครียดกว่าหาที่ฝึกงานซะอีก เพราะเรามีเวลาหาบ้านล่วงหน้าแค่ไม่ถึงหนึ่งเดือน แล้วบริษัทที่เราจะไปฝึกงานก็ตั้งอยู่ในชนบท แล้วแถวๆนั้นก็มีแต่หมู่บ้านกับเมืองเล็กๆ ทำให้ตัวเลือกบ้านมีน้อยมาก ในเว็บ wg-gesucht.de นี่มีบ้านที่อยู่แถวๆนั้นแค่สองที่ แต่ที่นึงเป็นฟาร์มที่เค้าจะให้คนที่ไปอาศัยช่วยทำงานในฟาร์มด้วย ส่วนอีกที่ก็อยู่บ้านนอกมาก ไม่ค่อยมีรถบัสวิ่งผ่าน เราเลยต้องหาบ้านจากประกาศในเว็บ immobilienscout24.de กับเว็บ ebay-kleinanzeigen.de ด้วย ซึ่งก็มีน้อยอยู่ดี แถมห้องเช่าที่มีลงประกาศไว้ บางห้องก็ใหญ่เกิน หรือไกลเกิน หรือว่าวันที่ย้ายเข้าได้อยู่หลังจากวันที่เราอยากย้ายเข้าไปไกลอีก บางที่ติดต่อไปแล้วเค้าไม่ตอบมาก็มี ตอนนั้นมีห้องที่เราติดต่อได้ห้องนึง เป็นห้องสตูดิโอ คือห้องเดี่ยวมีห้องน้ำในตัว แล้วก็ห้องนั่งเล่น ห้องครัว กับห้องนอนจะอยู่รวมกัน ที่พิเศษคือมีระเบียงด้วย แล้ววิวจากระเบียงคืออลังการงานสร้างมาก เป็นวิวของภูเขาและเนินทุ่งหญ้าสีเขียวกว้างไกลสุดลูกหูลูกตา และด้วยความที่ตัวห้องตั้งอยู่ในบ้านที่อยู่บนเขา ทำให้เรามองเห็นวิวทิวทัศน์ของชนบทที่สวยงามได้กว้างไกลมาก ไกลไปจนถึงเทือกเขาแอลป์ที่อยู่ไกลๆเลย แถวเมือง Blaichach ที่เราจะไปฝึกงานนี้ถึงจะมีข้อเสียตรงที่เป็นชนบทห่างไกล มีแต่เมืองเล็กๆไม่หวือหวา แล้วก็หาบ้านยาก แต่วิวทิวทัศน์รอบๆคือธรรมชาติอลังการ แถมเทือกเขาแอลป์ก็อยู่ใกล้แค่เอื้อม เหมือนกับมาทำงานในที่ที่คนอื่นเค้ามาเที่ยวตากอากาศกันเลย

ภาพห้องจากที่ลงโฆษณาในเว็บ

ตอนที่เห็นรูปของวิวจากระเบียงของห้องนั้นในโฆษณาห้องในเว็บ เราคิดในใจว่าแบบโหสวยมากๆ ห้องในฝันเลย ต้องอยู่ห้องนี้ให้ได้ จินตนาการไปถึงตอนที่เราอาศัยอยู่ที่ห้องนี้จริงๆ จินตนาการภาพเราทำงานกับคอมไปพลางหันหน้าออกไปมองวิวภูเขาที่ถูกปกคลุมไปด้วยเมฆหมอกไป กับภาพเราใส่เสื้อคลุมอาบน้ำ ถือกาแฟออกมานั่งจิบดูวิวตอนเช้าๆ หรือดูดาวตอนค่ำๆ ไปถึงนู่นแล้ว อยากได้มาก แต่ว่าห้องนี้มีปัญหาอยู่จุดหนึ่งตรงที่มันอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆที่ไม่ค่อยมีรถประจำทางวิ่งผ่านและในหมู่บ้านก็มีร้านรวงต่างๆน้อยมากๆ ซุปเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ก็ไม่มีเลย ที่ทำงานก็อยู่ห่างออกไปประมาณเจ็ดแปดกิโล ซึ่งไม่ได้ไกลถึงกับจะขี่จักรยานไปกลับไม่ไหวแต่ก็คงเหนื่อยพอดู แต่รถบัสขาไปขากลับก็มีแค่ไม่กี่เที่ยวต่อวัน ถ้าจะเดินทางไปเที่ยวที่อื่นก็คงลำบากพอดูเหมือนกัน แต่ด้วยความที่ตอนนั้นไม่มีตัวเลือกอื่นที่ดีกว่าแล้ว เราก็เลยตกลงว่าขอไปดูห้องๆนี้ แล้วเราก็เดินทางไปดูห้อง ซึ่งห้องนี้นั้นเจ้าของห้องเค้าฝากประกาศเช่าลงในเว็บ hc24.de ที่เป็นเว็บของบริษัทนายหน้าที่ช่วยหาคนมาเช่าห้องโดยที่ไม่คิดค่าบริการกับคนที่มาเช่า การติดต่ออะไรก็จะทำผ่านเจ้าหน้าที่ แล้วเจ้าหน้าที่ของบริษัทก็จะเป็นคนพาเรามาดูห้องด้วย ขอชื่นชมว่าเจ้าหน้าที่ให้บริการดีมากๆ พูดจาดี แล้วตอนที่โทรไปครั้งแรกว่าสนใจห้องนี้เค้าถามเราด้วยว่าแน่ใจใช่มั้ยว่าคิดมาละเอียดรอบคอบแล้วเพราะว่ามันอยู่ในหมู่บ้านที่ไม่ค่อยมีรถประจำทางวิ่งผ่านนะอะไรอย่างนี้ คือไม่ใช่แค่ว่าสั่งแต่จะขาย แล้ววันที่ไปดูห้องเค้าก็พูดจาดี ยิ้มแย้มแจ่มใส แถมขากลับยังให้เราติดรถกลับมาด้วยแถมยังขับพาดูเส้นทางจักรยานที่เราสามารถขี่ไปยังที่ทำงานได้อีก ประทับใจมาก ตอนดูห้องจริงก็คือชอบมาก วิวของจริงก็คือสวยเหมือนกับในรูป เย็นนั้นเราส่งอีเมลล์ไปบอกเค้าเลยว่าชอบมาก ตกลงอยากเช่าห้องนี้

ภาพที่ถ่ายวันที่ไปดูห้องจริง

แต่ปรากฏว่าหลังจากส่งเมลล์นั้นไปซักพัก ระหว่างทางที่นั่งรถไฟกลับ เราก็ได้ Notification จากเว็บ ebay-kleinanzeigen.de ว่ามีคนลงโฆษณาห้องเช่าใหม่ในเว็บ เลยกดเข้าไปดูเล่นๆ แต่ปรากฏว่าห้องในโฆษณาอันใหม่นั้นตรงตามความต้องการของเราเหมือนกัน แถมยังราคาพอๆกับห้องที่เราเพิ่งไปดูมาวันนี้เลยด้วย แต่ว่าห้องใหม่นี้ตั้งอยู่ในเมืองที่มีทางรถไฟวิ่งผ่าน ทำให้เดินทางไปไหนมาไหน และรวมถึงเดินทางไปที่ทำงานได้สะดวกกว่ามาก! เราเลยรีบส่งอีเมลล์ไปหาเจ้าของโฆษณาเลย แล้วอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมาเราก็ได้อีเมลล์ตอบกลับจากเจ้าของโฆษณาที่พิมพ์เบอร์มือถือมาแล้วก็บอกว่าถ้าสนใจก็โทรหาเค้าตอนนี้ได้เลย เราเลยโทรไปเลย คุยไปคุยมาแล้วก็ขอนัดดูห้องวันพรุ่งนี้เลย เค้าก็ตอบตกลง เอ้า กลายเป็นว่าอยู่ดีๆปุบปับๆมีห้องใหม่มาปาดหน้าห้องเก่าไปเฉยๆ ทั้งๆที่ตอบตกลงห้องเก่าไปแล้วแท้ๆ แล้วก็ทั้งๆที่ตลอดเวลาที่ผ่านมาเป็นอาทิตย์ๆไม่มีห้องอื่นที่น่าสนใจลงโฆษณาเลยแท้ๆด้วย เหมือนกับพระเจ้าเพิ่งสังเกตเห็นว่าเรากำลังจะตกลงเช่าห้องที่เดินทางลำบากแล้วก็เลยรีบเสยห้องใหม่มาให้พร้อมกับบอกว่าหยุด!! เอาห้องนี้ไปดีกว่า ยังไงยังงั้น

ภาพจากเมือง Immenstadt ที่ห้องที่ไปดูตอนวันที่สองตั้งอยู่

ตอนเช้าวันต่อมาเราส่งอีเมลล์ไปบอกบริษัทนายหน้าว่าพอดีเมื่อวานเจอห้องอีกห้องมา ขอไปดูห้องนั้นก่อนแล้วจะตัดสินใจอีกที แล้วก็เดินทางไปดูห้องใหม่ตามนัด ห้องใหม่นี้เป็นห้องอพาร์ตเมนท์ที่ชั้นใต้หลังคาของบ้านหลังหนึ่งที่เจ้าของบ้านอาศัยอยู่ที่ชั้นหนึ่งกับชั้นสอง ส่วนชั้นสามกับชั้นสี่ซึ่งเป็นชั้นใต้หลังคานั้นถูกปล่อยเช่า ตัวห้องถูกแบ่งเป็นห้องนอน ห้องน้ำ แล้วก็อีกห้องที่รวมห้องนั่งเล่น ห้องกินข้าว กับห้องครัวไว้ด้วยกัน ซึ่งห้องนั้นก็มีหน้าต่างขนาดใหญ่ที่มองออกไปเห็นวิวอลังการไกลไปถึงเทือกเขาแอลป์ที่อยู่ไกลๆเหมือนกันด้วย ในเรื่องของวิวนั้นห้องนี้สู้ห้องเมื่อวานไม่ได้เพราะห้องเมื่อวานมันอยู่ใกล้ภูเขากว่ามากแถมยังมีระเบียงให้ออกไปนั่งตากอากาศชมวิวได้ด้วย แล้วข้อเสียอีกอย่างของห้องนี้ก็คือด้วยความที่มันเป็นห้องใต้หลังหา เพดานบางส่วนมันก็จะลาดเอียง ทำให้แอบดูแคบๆแล้วก็เสียพื้นที่ใช้สอยไปประมาณนึง แต่ว่าสิ่งที่ดีคือห้องนี้มีห้องนอนแยกต่างหาก แล้วก็มีครัวที่มีอุปกรณ์ต่างๆครบครันแถมมีที่ดูดควันด้วย และสิ่งที่ดีกว่าห้องเมื่อวานแบบกินขาดเลยก็คือความที่มันอยู่ในเมือง อยู่ใกล้สิ่งอำนวยความสะดวกกว่า และเดินทางด้วยขนส่งมวลชนสะดวกกว่านี่แหละ นอกจากนี้เจ้าของห้องที่อาศัยอยู่ที่ชั้นล่างของบ้านก็ยังใจดีมาก พาเราเข้าห้องเค้าไปดื่มน้ำชวนคุย แถมยังให้ยืมจักรยานไปขี่เล่นตอนหลังดูห้องเสร็จอีก เค้าบอกว่าก่อนหน้านี้เค้าเคยให้เด็กฝึกงานของบริษัท Bosch มาเช่าห้องนี้เหมือนกันด้วย แล้วก็บอกว่ามีคนรู้จักหลายคนทำงานที่ Bosch แถมยังบอกว่าเค้าได้ข้อความจากคนที่สนใจห้องนี้มาเยอะมาก แต่เค้าอ่านข้อความของเราแล้วรู้สึกโอเคสุดเลยตกลงเชิญมาดูห้อง พอดูห้องเสร็จเราก็เลยตกลงเช่าเลย แล้วเจ้าของก็ตกลงให้เช่าเหมือนกัน เป็นอันเรียบร้อย แต่มีแอบแปลกใจนิดนึงตรงที่เค้าไม่เขียนสัญญาเช่าให้ คืออารมณ์แบบคนกันเองจริงๆ ตกลงเช่าแบบปากเปล่าไปเลยอะไรอย่างนั้น ค่ามัดจำก็ไม่เก็บ ใจนึงก็แอบกลัวว่าจะมีปัญหาในอนาคตรึเปล่า แต่อีกใจนึงก็แบบ เออก็ดีนะง่ายๆสบายๆดี แต่สรุปก็คือตกลงเช่าห้องนี้แหละ แล้วก็ส่งอีเมลล์ไปยกเลิกห้องที่ไปดูเมื่อวาน ก็สรุปว่าตั้งแต่เดือนหน้าเป็นต้นไปก็จะเป็นครั้งแรกตั้งแต่มาอยู่ที่เยอรมนีที่เราจะได้มีห้องเช่าที่อยู่คนเดียว ไม่ต้องแชร์ห้องน้ำห้องครัวกับใครซักทีนะ แล้วก็จะเป็นห้องเช่าห้องแรกที่จ่ายค่าเช่าด้วยเงินเดือนของเราเองด้วย ภูมิใจเบาๆและตื่นเต้นมากๆ ณ จุดที่กำลังพิมพ์อยู่นี้เป็นวันสุดท้ายที่เราอาศัยอยู่ที่เมือง Karlsruhe ก่อนจะเดินทางย้ายไปอยู่ห้องๆนี้ในวันพรุ่งนี้แล้ว สองสัปดาห์หลังจากที่ย้ายเข้าเราจะยังว่างอยู่ แต่ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคมเป็นต้นไปเราจะเริ่มฝึกงานกับบริษัท Bosch แล้ว ตื่นเต้นมาก อยากจะทำให้ดีให้เค้าประทับใจ เผื่อเค้าจะได้รับเราเข้าทำธีสิสต่อและรับเข้าทำงานต่อไป ขอให้ทุกอย่างผ่านไปด้วยดีด้วยเถอะ แล้วเดี๋ยวเป็นยังไงแล้วเดี๋ยวจะกลับมาเขียนเล่าต่อในตอนหน้าโนะ

ภาพจากชนบทแถวๆนั้นที่ถ่ายมาระหว่างที่ขี่จักรยานเล่น

หนึ่งเดือนผ่านไปในกรุงโรม

รีวิวและอัพเดตชีวิตหลังจากที่มาแลกเปลี่ยนอยู่กรุงโรมได้หนึ่งเดือนแล้ว ช่วงแรกสุดเลยที่มาถึง ทั้งประเทศอิตาลีเป็นโซนสีแดง ล็อคดาวน์ทั้งประเทศ ห้ามออกจากบ้านโดยที่ไม่มีเหตุจำเป็น ผ่านไปประมาณสัปดาห์นึงก็อัพเกรดเป็นโซนสีส้ม ออกจากบ้านได้แต่ออกนอกเมืองไม่ได้ กับสถานที่ท่องเที่ยวและพิพิธภัณฑ์ต่างๆปิด ร้านอาหารก็ให้ห่อกลับไปกินบ้านได้อย่างเดียว และล่าสุดตอนปลายเดือนที่แล้วก็อัพเกรดอีกรอบ กลายเป็นโซนสีเหลืองเกือบทั้งประเทศ ก็คือเดินทางข้ามประเทศไปเที่ยวนั่นเที่ยวนี่ได้แล้ว ร้านอาหารเปิดให้นั่งกินด้านนอกร้านได้ สถานที่ท่องเที่ยวเปิด พิพิธภัณฑ์เปิด โรงหนังโรงละครเปิด จำนวนคนที่ได้รับวัคซีนรายวันก็น่าจะประมาณครึ่งล้านคนได้ ทุกวันนี้ชีวิตแทบจะกลับมาเป็นแบบปกติแล้ว แค่ทุกคนยังใส่แมสก์กันเกือบตลอดเวลาที่อยู่ข้างนอกอยู่ กับยังมีข้อห้ามนิดหน่อยเช่นในร้านอาหารห้ามนั่งเกินสี่คนต่อโต๊ะ ห้ามยืนจับกลุ่มสุมหัวกันเยอะๆในที่สาธารณะหลังหกโมงเย็น แล้วก็มีเคอร์ฟิวตั้งแต่สี่ทุ่มถึงตีห้า อะไรอย่างงี้ (แต่ว่าถ้าไปเดินแถวย่านที่เที่ยวกลางคืนของนักเรียนนี่ทุกคนแทบจะไม่สนใจกฏอะไรแล้ว ยืนจับกลุ่มยืนคุย ดื่มเบียร์ดื่มไวน์อะไรกันยันสี่ทุ่มกว่าไม่แคร์โลกเลย แต่ก็ไม่มีใครมาจับนะ แต่ตามที่สาธารณะในใจกลางเมืองจะมีตำรวจกับทหารเดินตรวจเยอะอยู่ ถ้าใครเริ่มยืนจับกลุ่มกันใหญ่ๆนานๆ เค้าจะมาเตือน กับถ้าใครไม่ใส่แมสก์ บางทีก็อาจจะโดนเตือนเหมือนกัน)

แน่นอนหลังจากที่เรามาถึงกรุงโรมก็คือออกไปเที่ยวรัวๆเท่าที่จะทำได้ 55 แต่บางทีก็จะมีช่วงที่อากาศหนาว ฝนตกปรอยๆติดกันหลายๆวัน ก็จะอยู่บ้านเรียนออนไลน์กับทำธุระต่างๆไป เราโชคดีอยู่ตรงที่ได้มาเรียนในเทอมที่สอนออนไลน์หมด แถมยังอัดคลิปไว้ให้นักเรียนดูย้อนหลังได้ด้วย ทำให้เราจะเรียนเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่มีเวลาบังคับ แต่ข้อเสียคือมีอยู่วิชานึงที่จนถึงตอนนี้ ทั้งเทอมที่ผ่านมาเราเพิ่งเข้าเรียนไปแค่คาบเดียวเอง แหะๆ คือต้องมีวินัยมากด้วยถึงจะบังคับตัวเองให้เรียนตามให้ทันเรื่อยๆได้ เดือนที่ผ่านมาเรามีกิจกรรมอะไรเยอะมาก ว่าจะเรียนๆย้อนหลังวิชานี้แต่ไม่ได้เริ่มซักที แต่ตั้งแต่ตอนนี้จะโฟกัสกับการเรียนจริงๆจังๆซักทีละ (ขอให้ทำได้จริงเถอะ สาธุ) ในส่วนของการเรียนในมหาลัยที่นี่ เรารีวิวไว้หน่อยนึงแล้วในโพสต์นี้ petchpetals.wordpress.com/2021/04/17/เดินทางถึงอิตาลี-ตรวจโ/ วันนี้จะมาเพิ่มเรื่องการสอบ คือถ้าเป็นที่เยอรมันจะจัดสอบแค่ครั้งเดียวตอนหลังจบเทอม วัดความรู้ที่เรียนมาตลอดทั้งเทอมทีเดียวไปเลย (บางคณะอาจจะไม่เป็นแบบนี้นะ แต่จากประสบการณ์ในคณะวิศวะ ทุกวิชาเลยจะมีสอบแค่ครั้งเดียวตอนจบเทอม) ส่วนที่อิตาลีนี้ ระหว่างเทอมจะมีจัดสอบสองครั้ง เค้าเรียกว่า Midterm กับ Final ซึ่ง Midterm ก็จะครอบคลุมเนื้อหาครึ่งแรกของเทอม ส่วน Final จะครอบคลุมเนื้อหาครึ่งหลังของเทอม นอกจากนี้ก็ยังจะมีการจัดสอบอีกสองครั้งในช่วงปิดเทอมอีกทีให้เลือกเอาได้ว่าอยากจะสอบครั้งไหน ซึ่งข้อสอบตอนช่วงปิดเทอมนี้จะมีเนื้อหาครอบคลุมทั้งเทอมนั้นเลย ข้อสอบทั้งสามอันนี้เราสามารถเลือกได้ว่าจะเข้าร่วมการสอบครั้งไหน เงื่อนไขคือต้องทดสอบความรู้ให้ได้ครบทั้งสองพาร์ทของทั้งเทอมนั้น หมายความว่าสมมติว่าตอนระหว่างเทอม เราเข้าสอบทั้ง Midterm กับ Final ก็หมายความว่าเราทดสอบความรู้ของทั้งสองพาร์ทแล้ว ไม่จำเป็นต้องเข้าสอบช่วงปิดเทอมแล้ว หรือถ้าระหว่างเทอมเราเข้าสอบแค่ข้อสอบ Midterm ไม่ได้สอบ Final เราก็จำเป็นต้องเข้าสอบช่วงปิดเทอม แต่ว่าจำเป็นต้องทำแค่พาร์ทสองเท่านั้น พาร์ทแรกไม่ต้องทำ อะไรอย่างนี้

วิชาที่เรามาเรียนที่นี่มีสามวิชา คือ “Big Data Analytics”, “Internet of Things” กับคอร์สภาษาอิตาเลียน ซึ่งสามวิชานี้มีหน่วยกิตรวมกันได้เป็น 15 หน่วยกิต ซึ่งเป็นหน่วยกิตขั้นต่ำที่เค้าบังคับให้สอบให้ผ่านเพื่อที่จะให้ได้เงินทุนของโครงการแลกเปลี่ยนมาใช้ ถ้าสุดท้าย สอบผ่านไม่ครบ 15 หน่วย ก็จะต้องจ่ายทุนคืนเป็นอัตราส่วนตามจำนวนหน่วยกิตที่ขาดไป อันนี้เราตั้งใจเลือกเรียนให้น้อยที่สุดเลยจะได้มีเวลาว่างเยอะ 555 ในส่วนของวิชา Big Data Analytics จะแบ่งเป็นสองพาร์ท พาร์ทแรกจะสอนเขียนโปรแกรมภาษา Python แล้วก็จะมีการบ้านให้เขียนโปรแกรมส่งห้าครั้ง แล้วพอจบพาร์ทก็จะให้เขียนโปรแกรมที่หกส่ง เก็บคะแนนจากทุกการบ้านมารวมกันเป็นคะแนน Midterm ส่วนพาร์ทที่สองจะเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับ Machine learning กับ Data analytics ซึ่งก็มีการบ้านเขียนโปรแกรมภาษา Python ให้ทำส่งเก็บเป็นคะแนนเหมือนกัน ตอนเรียนพาร์ทแรกคนสอนพูดภาษาอังกฤษดีมาก แต่ตอนพาร์ทสองเป็นอีกคนสอน พูดอังกฤษไม่คล่องเท่าไหร่ ทำให้เวลาสอนสดพูดช้ามาก เราเลยไม่เข้าเรียนสด รอดูวิดีโอย้อนหลังแล้วกดเพิ่ม speed เป็นสองเท่าแทน จะกลายเป็นความเร็วคนพูดปกติ 555 วิชานี้เราตั้งใจจะพยายามเรียนตามให้ทันทุกคาบ จะได้สอบไฟนอลให้จบตั้งแต่ตอนจบเทอมตอนปลายเดือนพฤษภาคมไปเลย ไม่ต้องไปรอสอบตอนช่วงปิดเทอมอีกที ส่วนวิชา Internet of Things ก็จะแบ่งเป็นพาร์ทๆเหมือนกัน เราเพิ่งเข้าเรียนคาบแรกที่เป็นคาบแนะนำวิชาคาบเดียว 5555 เค้าบอกว่าช่วงแรกจะมีสอนใช้ภาษา C++ ด้วย แต่เนื้อหาหลังจากนั้นเป็นไงบ้างไม่รู้ ต้องไปเรียนตามหลังก่อน ไว้แลกเปลี่ยนเสร็จแล้วเดี๋ยวจะกลับมารีวิวย้อนหลังละกัน แหะๆ

ในส่วนของคอร์สภาษาอิตาเลียน ตอนช่วงแรกๆปัญหาเยอะมากเพราะมหาลัยไม่บอกซักทีว่าจะจัดสอนเมื่อไหร่ยังไง ในกรุ๊ปแชทของนักเรียนแลกเปลี่ยนมีคนพิมพ์ถามแทบทุกวันว่ามีข่าวบ้างรึยัง สุดท้ายก็สรุปออกมาว่าคนที่เรียนคอร์สระดับต้นๆ เช่น A1 กับ A2 จะไม่มีการเรียนสดแบบตัวต่อตัวกับครู แต่จะมีวิดีโอที่อัดเอาไว้แล้ว กับไฟล์ต่างๆให้โหลดไปอ่านและเรียนเอง เป็นงั้นไป ตอนรู้ตอนแรกก็แอบเซ็งๆ แต่จริงๆมันก็ดีตรงที่เราจะเรียนเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ก็นั่นแหละ ก็ต้องมีวินัยมากๆอีกเช่นเคย ซึ่ง ณ จุดนี้ ดองคอร์สภาษาไว้เป็นอาทิตย์ๆแล้วเหมือนกัน ฮือ ในส่วนของการสอบคอร์สภาษานี้ ในหน้าของวิชามันจะมีส่วนที่เป็นข้อสอบไฟนอลออนไลน์ให้กดเข้าไปทำได้ ซึ่งเราจะกดเข้าไปทำเมื่อไหร่ก็ได้ ถ้าทำเสร็จแล้วก็คือจบคอร์สเลย แล้วก็อาจจะมีสอบพูดด้วยก็ได้แต่ยังไม่มีรายละเอียดแน่ชัด

ในส่วนของชีวิตความเป็นอยู่ก็ไม่มีอะไรหวือหวา หลักๆก็เหมือนเด็กมหาลัยในอีกหลายๆที่ในช่วงโควิด ตื่นนอนอาบน้ำ เรียนออนไลน์ เล่นเน็ตต่างๆนานา คุยกับแฟลตเมตบ้างนิดหน่อย ออกไปซื้อของที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตแถวบ้านมาใส่ตู้เย็นเก็บไว้ทำกับข้าว กับข้าวก็ทำกินเองอยู่บ้าน ที่เพิ่มเติมมาจากนี้ก็คือช่วงไหนว่างๆ นั่งรถเมหรือรถไฟใต้ดินจากบ้านออกไปนิดเดียวก็เป็นสถานที่สำคัญๆระดับโลกของกรุงโรมแล้ว อารมณ์เหมือนกับเรียนหนังสืออยู่บ้านปกติ แล้วเปิดประตูไปไหนก็ได้ของโดเรมอนไปถึงโคลอสเซียม ไปมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์อะไรอย่างงี้เลย เดือนที่ผ่านมาเราซื้อตั๋วรถสาธารณะแบบรายเดือน ราคา 35 ยูโร ใช้ขึ้นรถเมกับรถไฟใต้ดินได้กี่ครั้งก็ได้ตลอดทั้งเดือน แต่ว่าคิดว่าเดือนนี้จะไม่ซื้อแล้วเพราะรู้สึกไม่คุ้ม เพราะว่าที่นี่ตั๋วรถเมกับรถไฟปกติราคาแค่ 1.5 ยูโร (ซึ่งถือว่าถูกมากถ้าเทียบกับค่าตั๋วรถสาธารณะที่เยอรมนี) ซึ่งก็แปลว่าต้องขึ้นรถสาธารณะอย่างน้อย 24 ครั้งในเดือนนั้นถึงจะคุ้มค่าตั๋วรายเดือน แต่รู้สึกว่าเดือนที่ผ่านมาเรานั่งไม่ถึง เพราะว่าก็ไม่ได้ออกเที่ยวทุกวัน แถมสถานที่หลายๆแห่งก็เดินถึงกันได้ ไม่ต้องนั่งรถ ช่วงแรกๆ วันไหนที่อากาศดีก็จะออกไปเที่ยวทั้งวัน ซึ่งเราก็ได้โพสต์รูปในโพสต์ก่อนหน้านี้เยอะแยะมากมาย (แต่เราโพสต์เป็นภาษาอังกฤษเพราะว่ามีคนต่างชาติในเว็บบอร์ดอันนึงรีเควสต์มาว่าอยากเห็นภาพของกรุงโรมในช่วงที่ไม่มีนักท่องเที่ยว) อาหารก็ซื้อจากภัตตาคารมากินซะหลายมื้อเลย อยากลองเมนูต่างๆไปซะหมด ชีวิตดีมาก แต่ซักพักเริ่มตระหนักว่าใช้เงินไปเยอะมาก แล้วก็เริ่มเบื่อาหารอิตาเลียนด้วย กินเมนูซ้ำๆมาหลายรอบแล้ว 555 เลยเริ่มกลับไปเน้นทำกินเอง โชคดีที่แถวบ้านมีร้านขายของเอเชียเลยซื้อวัตถุดิบต่างๆมาทำอาหารไทยได้บ้าง บางทีแฟลตเมทก็มีการนัดกันโทรสั่งอาหารมากินด้วยกันที่บ้านบ้าง แล้วถ้าเป็นวันเกิดใคร คนนั้นก็จะทำอาหารให้ทุกคนกินกันด้วย ตอนนี้ผ่านไปแล้วสองวันเกิด วันเกิดต่อไปคือวันเกิดเราตอนสิ้นเดือนนี้แล้ว ยังไม่รู้เลยจะทำอะไรให้เค้ากิน อาหารของแต่ละคนคืออลังการ แต่ฝีมือทำอาหารของเรายังงูๆปลาๆมาก 555 กลัวขายหน้าจัง 5555

นอกจากนี้ ในเมื่อมาเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน ก็คงจะไม่พูดถึงประสบการณ์การทำกิจกรรมต่างๆร่วมกับนักเรียนแลกเปลี่ยนคนอื่นไม่ได้ ตอนช่วง welcome days ตอนก่อนเปิดเทอมก็จะมีกิจกรรมพูดคุยทำความรู้จักกับนักเรียนแลกเปลี่ยนคนอื่นๆกันผ่าน Zoom แล้วก็กิจกรรมอื่นๆอีกสองสามอย่างที่เราเล่าไปในโพสต์นี้ petchpetals.wordpress.com/2021/03/20/เริ่มต้นชีวิตนักเรียนแ/ ตอนที่เราเดินทางมาถึงกรุงโรม ไม่มีมีกิจกรรมอะไรเพราะว่าในเมืองเป็นโซนสีแดงอยู่ พอปลายเดือนที่แล้วเค้าเปลี่ยนเป็นโซนสีเหลืองแล้วถึงเริ่มจัดกิจกรรมสำหรับนักเรียนแลกเปลี่ยนได้อีกครั้งนึง เดี๋ยวไว้มาเล่าให้ฟังในโพสต์หน้าว่ามีอะไรบ้าง

เริ่มต้นชีวิตนักเรียนแลกเปลี่ยนโครงการ Erasmus+

ในโพสต์ที่แล้วเราเล่าเรื่องเทอมที่เพิ่งจบไปให้ฟังไปแล้ว เดี๋ยวโพสต์นี้จะมาอัพเดตชีวิตหลังจากนั้นต่อ เทอมที่ผ่านมาเราก็ลงเรียนไปหลายวิชามาก ไม่ใช่แค่เลคเชอร์ แต่ยังมีแล็บต่างๆที่ต้องส่งงานมากมาย แบ่งเวลากันหัวหมุนมาก หมายถึงเวลาเรียนหนังสือกับเวลาทำตัวขี้เกียจอะ 5555 แล็บหลายอย่างก็ผ่านไปด้วยดี บางอันก็หวุดหวิดมีต้องแก้ตอนสุดท้ายก่อนจะผ่าน ส่วนสอบ จริงๆตอนแรกวางแผนว่าจะสอบหกวิชา แต่ไปๆมาๆถอนไปสองวิชา กับถอนแล็บไปตัวนึง เพราะช่วงสอบตารางอ่านตารางเรียนต่างๆมันอัดมาก เตรียมตัวไม่ทัน ยอมรับว่าระหว่างเทอมก็แอบขี้เกียจด้วย แต่ว่าที่ถอนไปก็ไม่ใช่เรื่องร้ายแรงมาก เพราะยังไงก็เหลืออีกเทอมนึงให้ตามสอบย้อนหลังอยู่แล้ว ซึ่งเทอมหน้านี้เราก็จะไปแลกเปลี่ยนที่มหาวิทยาลัยที่ชื่อว่า Sapienza ในกรุงโรม ประเทศอิตาลี ที่เราสามารถเอาหน่วยกิตที่เก็บได้จากการสอบที่นี่ไปใส่แทนหน่วยกิตจากมหาลัยต้นทางที่เยอรมันได้

ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาเราย้ายบ้านไปอยู่บ้านหลังใหม่ในเมืองเดิม เพราะว่าสัญญาเช่าบ้านหลังเก่าหมดอายุ แต่บ้านใหม่นี้ก็คืออยู่แค่เดือนเดียว เพราะเดี๋ยวเดือนหน้าก็จะย้ายไปอิตาลีแล้ว แล้วประเด็นคือบ้านใหม่นี้เนี่ยอินเตอร์เน็ตกากมากๆ ตอนแรกก็ไม่ได้สังเกตอะไรมาก แต่พอดีช่วงนี้มหาลัยจัดสอบแบบออนไลน์เพราะมีโควิด และการสอบออนไลน์ครั้งแรกที่บ้านหลังใหม่นี้ก็คือพัง! เพราะเค้าให้เราเปิดกล้องถ่ายเราตลอดการสอบ แต่ว่าเพราะเน็ตมันกาก ภาพเลยขาดๆหายๆ เดี๋ยวค้างบ้าง เดี๋ยวเน็ตหายบ้าง คนคุมสอบต้องบอกให้เราไปแก้ปัญหาระหว่างสอบถึงสามรอบ ซึ่งเค้าก็ดีที่เพิ่มเวลาสอบให้เราเป็นกรณีพิเศษ แต่ว่าพอมันมีปัญหาระหว่างสอบถึงสามรอบแบบนี้นี่สติสตังเลยกระเจิดกระเจิงไปเลย สอบครั้งนี้ก็คือพังพินาศ ToT แต่คิดว่าไม่น่าจะตก แค่ได้เกรดแย่เฉยๆ แต่ก็นั่นแหละ ระหว่างสอบผ่านครั้งนี้แต่ได้เกรดแย่ กับสอบตกครั้งนี้แล้วไปสอบใหม่เทอมหน้าแบบเกรดดีกว่าเดิม ก็ไม่รู้อย่างไหนจะดีกว่ากันนะ 555 เห้อเศร้า ตอนนี้เหลือสอบอีกหนึ่งวิชาซึ่งก็จะเป็นแบบออนไลน์เหมือนกัน ต้องหาที่นั่งสอบใหม่ละ จะพังอีกวิชาไม่ได้ = =”

ห้องนอนใหม่ชั่วคราว มีเฟอร์นิเจอร์เท่านี่เห็นนี่แหละ แต่ไม่เป็นไร อยู่แค่เดือนเดียว 55

มาเล่าเรื่องของการไปแลกเปลี่ยนดีกว่า โครงการที่เราไปชื่อโครงการ Erasmus (เดี๋ยวนี้เปลี่ยนชื่อเป็น Erasmus+ แล้วแต่ขอพิมพ์ว่า Erasmus เฉยๆละกัน) ซึ่งเป็นโครงการที่นักเรียนสามารถไปแลกเปลี่ยนที่มหาวิทยาลัยในประเทศอื่นๆในยุโรปได้เป็นเวลาหนึ่งถึงสองเทอมโดยที่ไม่ต้องเสียค่าเทอมเลย (ค่าเทอมของมหาลัยต้นทางก็ไม่ต้องเสีย) แล้วก็เอาหน่วยกิตที่สอบผ่านระหว่างแลกเปลี่ยนมานับรวมกับหน่วยกิตของมหาลัยต้นทางได้ด้วย ทำให้ไม่เสียเวลาเรียนไปฟรีๆ (แต่อันนี้แล้วแต่วิชา ถ้าเป็นระดับป.โทจะง่ายกว่า แต่ถ้าเป็นระดับป.ตรีจะไม่ค่อยมีวิชาที่เค้าให้เอาหน่วยกิตมาใช้ได้ หรือไม่ก็ต้องทำเรื่องขอยุ่งยาก) แถมยังมีเงินช่วยค่ากินอยู่ให้ด้วย ไม่ได้เยอะมากแต่ว่าก็พอโปะค่าเช่าบ้านได้อยู่ แค่นี้ก็ผ่อนคลายภาระไปได้เยอะแล้ว มหาลัยใหญ่ๆในยุโรปจะเข้าร่วมโครงการนี้เยอะมาก (ไม่แน่ใจว่ามีทุกมหาลัยเลยรึเปล่า) แต่ละคณะของแต่ละมหาลัยก็จะมีรายชื่อมหาลัยต่างชาติที่นักเรียนของคณะนั้นสามารถไปแลกเปลี่ยนได้ต่างๆกันไปแล้วแต่ว่าคณะนั้นของมหาลัยนั้นไปทำข้อตกลงกับมหาลัยต่างชาติแห่งไหนไว้บ้าง บางมหาลัยต่างชาติก็รับนักเรียนแค่สองสามคน บางมหาลัยก็รับเป็นสิบคน แล้วแต่ว่าทางระหว่างมหาลัยนั้นเค้าตกลงกันไว้ว่ายังไง บางมหาลัยคนก็แย่งกันสมัคร บางมหาลัยก็ไม่ค่อยมีคนสมัคร แต่จำนวนนักเรียนที่เค้ารับเข้าโครงการนี้โดยรวมแล้วมีเยอะมากๆ คือใครสมัครก็มีโอกาสได้แน่นอน แค่ว่าจะได้มหาลัยหรือประเทศที่เราเลือกไว้ที่อันดับหนึ่งรึเปล่า (ตอนสมัครสามารถเลือกมหาลัยปลายทางได้สามอันดับ) ยกเว้นแต่ว่าจะเลือกแต่มหาลัยที่คนแย่งกันเยอะๆหมดเลย ถึงจะมีโอกาสไม่ได้

ส่วนตัวเราโชคดีได้มหาลัยอันดับหนึ่งที่สมัครไปเลย ก็คือมหาลัย Sapienza ในกรุงโรม ประเทศอิตาลี พอเรารู้ผลการสมัครแล้ว ก็จะมีขั้นตอนที่ต้องทำหลังจากนั้นอีกหลายๆอย่าง เช่นต้องกรอกใบสมัครออนไลน์ของมหาลัยในต่างประเทศโดยตรง ต้องเซ็นชื่อในใบสัญญาการรับทุน และที่สำคัญและใช้เวลามากก็คือการกรอกใบสัญญาที่มีชื่อว่า Learning Agreement ซึ่งในใบนี้เราจะต้องกรอกรายชื่อวิชาที่เราตั้งใจจะไปลงเรียนที่มหาลัยในต่างประเทศ แล้วในบางกรณีอาจจะต้องกรอกชื่อวิชาของมหาลัยต้นทางที่มีเนื้อหาคล้ายกับวิชาที่เราจะไปลงเรียนที่มหาลัยในต่างประเทศที่เราอยากจะเอาหน่วยกิตมาแทนที่กันด้วย ซึ่งก่อนที่จะกรอกใบนี้ได้เราก็ต้องไปศึกษาข้อมูลทางฝั่งของมหาลัยปลายทางก่อนว่าแต่ละเทอมเปิดสอนวิชาอะไรบ้าง มีหน่วยกิตเท่าไหร่ สอนเป็นภาษาอะไร รายละเอียดเป็นยังไง มีวิชาไหนน่าสนใจบ้าง ฯลฯ แล้วพอกรอกเสร็จก็ต้องส่งใบสัญญานี้ไปให้หน่วยงานต่างๆของมหาลัยทั้งต้นทางปลายทางเซ็นอีก (แต่ขั้นตอนเหล่านี้อาจจะแตกต่างกันไปแล้วแต่มหาลัย) ขั้นตอนนี้สำคัญเพราะว่าพอเราไปถึงมหาลัยปลายทางแล้ว เราสามารถลงเรียนได้แค่วิชาที่เรากรอกชื่อไปเท่านั้น เค้าเลยจะแนะนำให้เรากรอกลงไปให้มากที่สุดที่จะทำได้ เพื่อว่าสมมติว่าพอไปเริ่มเรียนแล้วมีเหตุที่ทำให้เรียนวิชาบางวิชาไม่ได้ เราจะได้ยังมีตัวเลือกอื่นๆ ไม่งั้นถ้าอยากจะเพิ่มวิชาทีหลังตอนที่ไปเริ่มเรียนที่มหาลัยปลายทางแล้ว เราต้องกรอกใบสัญญาอันนี้แล้วก็ส่งไปให้หน่วยงานนั้นนี้เซ็นใหม่ เสียเวลาไปอีก ในส่วนของหน่วยกิตที่ต้องเก็บระหว่างที่ไปแลกเปลี่ยนนั้นเค้ากำหนดให้ขั้นต่ำเป็น 15 หน่วยกิต ก็ตีเป็นสามวิชาโดยประมาณ ซึ่งก็สบายๆ ปกติแล้วคนที่ยุโรปนี่จะรู้กันดีว่าคนที่ไปแลกเปลี่ยนโครงการ Erasmus นั้น ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เน้นไปเรียนกันหรอก เน้นไปปาร์ตี้ ไปเที่ยวกันมากกว่าอยู่แล้ว 5555

ถึงเน็ตที่บ้านใหม่จะกากแต่ว่าตึกรามบ้านช่องแถบนี้สวยมากๆ สวยสุดในเมืองเลยก็ว่าได้

ระหว่างที่กรอกใบสมัคร กรอกใบสัญญาต่างๆนานา เราก็จะทยอยๆได้อีเมลล์จากทั้งมหาลัยของเรา และมหาลัยในต่างประเทศมาเรื่อยๆเพื่อแจ้งข่าวและกำหนดการต่างๆ พอส่งเอกสารทุกอย่างแล้ว ได้รับการยืนยันแล้ว ก็รอเดินทางได้เลย ขั้นตอนสำคัญต่อไปก็จะเป็นการหาที่อยู่ในต่างประเทศแล้ว ในขั้นตอนนี้บางมหาลัยก็จะช่วยจัดการให้ บางมหาลัยก็ไม่ ส่วนมหาลัยเรามีหอนักเรียนสองสามแห่งให้ แต่ว่าทำเลไม่ค่อยดี อันที่ทำเลดีก็แพง ไม่ก็เป็นหอหญิงล้วน ไม่ก็ต้องอยู่ยาว เราเลยลองหาที่อยู่เอาเอง จริงๆมันจะมีเว็บอยู่สองสามเว็บที่เค้ารวบรวมห้องเช่าในเมืองต่างๆสำหรับนักเรียนต่างชาติไว้และมีบริการคอยดูแลเรื่องสัญญาเช่ากับเรื่องการจ่ายเงินอะไรอย่างนี้ให้เราด้วย เช่นเว็บ https://www.spotahome.com/ กับเว็บ https://www.uniplaces.com/ แต่เว็บพวกนี้จะเก็บค่าบริการแพงมาก คือประมาณ 170 ยูโร หรือประมาณหกพันกว่าบาท เราเลยลองไปหาในกรุ๊ปต่างๆในเฟสบุ๊คดูก่อน บางกรุ๊ปเราลองโพสต์ดูด้วย ซึ่งก็มีคนตอบกลับมาล้นหลามมาก แต่คุยไปคุยมา ปรากฏว่าเป็นมิจฉาชีพเกือบหมดเลย – -” คือส่งรูปไม่ก็ส่งวิดีโอปลอมๆของตัวห้องมาให้ดูแล้วก็ให้เราโอนค่าเงินมัดจำแพงๆเป็นค่าจองห้องไปให้ ซึ่งเราก็จะตรวจสอบโดยการขอโทรวิดีโอแชทกับคนที่อาศัยอยู่ในห้องนั้นอยู่ตอนนี้ พอเจออย่างนี้คนที่เป็นมิจฉาชีพก็จะบ่ายเบี่ยง ไม่ก็จะเงียบหายไป จนตอนหลังเราก็ลองกดไปดูใน Marketplace ใน Facebook แล้วก็ไล่พิมพ์แชทไปหาคนที่ประกาศให้เช่าห้องที่เราสนใจเอาเองเลย จนสุดท้ายเราก็ได้ห้องมาจากวิธีการนี้แหละ ก็คือโทรวิดีโอแชทกับคนที่อาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนท์นั้นตอนนั้น ขอดูห้องดูอพาร์ตเมนท์ว่าหน้าตาเหมือนในรูปกับวิดีโอที่คนประกาศให้เช่าส่งมาให้ดูมั้ย แล้วก็ขอดูวิวจากอพาร์ตเมนท์ว่าเหมือนกับวิวใน Google Street View ด้วยมั้ย แล้วก็ถามตอบต่างๆแบบสดๆผ่านทางวิดีโอแชทเรียบร้อย แต่ทีนี้พอตอบตกลงแล้วเค้าก็ขอให้เราโอนเงินค่าจองไปก่อนเป็นจำนวน 100 ยูโรหรือประมาณ 3600 บาท ซึ่งนี่ก็โอนไปนะ 555 จริงๆแอบกลัวว่าจะโดนหลอกเหมือนกัน แต่ว่าถึงขนาดโทรคุยวิดีโอแชทสดๆขนาดนี้แล้ว แถมให้เบอร์คนอื่นๆที่อาศัยอยู่ที่นั่นตอนนี้มาด้วยแล้ว ถ้าจะโกงกันได้แนบเนียนขนาดนี้ก็เอาเงินไปเถอะ 555 แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะตอนนี้เราก็ไม่ได้อยู่ที่นั่น จะไปดูห้องด้วยตัวเองก็ไม่ได้ ปกติแล้วคนที่ไปแลกเปลี่ยนเค้าจะไปอยู่โฮสเตลช่วงสัปดาห์แรกๆแล้วก็ใช้ช่วงเวลาระหว่างนั้นตะลอนไปหาดูที่พักระยะยาวด้วยตัวเองกัน ก่อนจะตัดสินใจเช่า แต่เราทำอย่างนั้นไม่ได้ด้วยปัจจัยหลายอย่าง ด้วยโควิดด้วย ก็เลยต้องเสี่ยงดวงเบาๆอย่างนี้ดู สรุปว่าจะโดนหลอกมั้ย แล้วตัวอพาร์ทเมนต์จริงๆจะถูกใจเรามั้ย ต้องมาติดตามดูในอนาคตต่อไปกัน

รูปต้อนรับนักเรียนแลกเปลี่ยนจากเว็บของมหาลัย

ช่วงสองสามสัปดาห์ก่อนเปิดเทอม มหาลัยจะจัดกิจกรรมรับน้องสำหรับนักเรียนต่างชาติ ซึ่งในปีนี้ก็ยังมีจัดอยู่ แต่เพราะมีโควิด ก็เลยเป็นกิจกรรมแบบออนไลน์แทน ก็คือมีการฟังอธิการบดีพูดต้อนรับผ่าน Zoom แล้วก็จะมีพิธีต้อนรับของแต่ละคณะแยกกันไปต่างหากด้วย ซึ่งก็จะมีการอธิบายเรื่องสำคัญต่างๆเกี่ยวกับการเรียนการสอน การเข้าเรียน การลงทะเบียนสอบ การหาตารางเรียน ฯลฯ อะไรพวกนี้ด้วย แล้วนอกจากนั้น สำหรับมหาลัยเรา ในอาทิตย์แรกจะมีกิจกรรมออนไลน์ที่จัดโดยนักเรียนกันเองอีกสองกิจกรรม กิจกรรมแรกคือการทำความรู้จักกันผ่าน Zoom ซึ่งก็จะมีการแบ่งเป็นห้องเล็กๆให้แต่ละคนทำความรู้จักกับคุยจิปาถะต่างๆ แล้วก็สลับห้องกันไปเรื่อยๆ โดยที่แต่ละห้องก็จะมีนักเรียนของมหาลัยเจ้าภาพประจำอยู่ให้ถามนู่นถามนี่ได้ แล้วอีกกิจกรรมหนึ่งก็คือการสอนทำอาหารแบบ Live ทาง Instagram โดยที่นักเรียนของมหาลัยเจ้าภาพเป็นคนสอน ซึ่งเมนูที่เค้าสอนในวันนั้นก็คือสปาเกตตี้คาร์โบนาร่า (เอาจริงๆคือเป็นเมนูที่เบสิกมาก ทำง่ายมาก แอบคิดในใจว่าคนที่มาจากยุโรปน่าจะทำเป็นกันหมดอยู่แล้วมั้ย 5555) นอกจากนั้นก็มีกิจกรรมที่จัดแบบออกมาเจอกันจริงๆจังๆเหมือนกัน เช่นกิจกรรมออกกำลังกายร่วมกัน แล้วก็กิจกรรมพาทัวร์เมืองกับกิจกรรมพาไปกินอาหารร้านดังที่จัดกันทุกอาทิตย์เลย เปลี่ยนที่ไปเรื่อยๆ แต่มีจำนวนที่จำกัด ต้องจองล่วงหน้า เพราะว่ามีจำนวนคนเยอะๆไม่ได้เพราะโควิด แล้วก็ต้องใส่หน้ากากด้วย แล้วก็จะมีกรุ๊ปใน Facebook แล้วก็กรุ๊ปแชทต่างๆใน Whatsapp ซึ่งก็มีกรุ๊ปหลักของนักเรียนแลกเปลี่ยนทุกคน แล้วก็มีกรุ๊ปแชทย่อยแยกไปตามคณะด้วย แล้วใน Instagram ของหน่วยงานที่จัดการต้อนรับนักเรียนแลกเปลี่ยนของโครงการ Erasmus ของมหาลัยนี้ก็จะคอยอัพรูปจากกิจกรรม แล้วก็อัพเดตข่าวสารกิจกรรมต่างๆผ่านทางโพสต์กับทางสตอรี่ไอจีเป็นระยะๆ เห็นทีไรแล้วคันไม้คันมือ อยากไปร่วมมากๆ ใจจะขาดแล้ว แต่ว่าตอนนี้เรายังไปไม่ได้ ยังอยู่ที่เยอรมันอยู่เพราะจะรอสอบให้เสร็จทุกวิชาก่อน T.T

หลังจากกิจกรรมรับน้องแบบออนไลน์จบไปประมาณอาทิตย์สองอาทิตย์ มหาลัยก็เปิดเทอมอย่างเป็นทางการ ซึ่งเทอมนี้การเรียนการสอนก็จะมีทั้งแบบเรียนสดและแบบถ่ายทอดสดออนไลน์ผ่าน Zoom หรือโปรแกรมอะไรก็แล้วแต่ที่แต่ละภาควิชาจะจัดการกันเอง (แอบงงๆ… มากๆ) ที่มหาลัยนี้จะมีเว็บ E-learning ของมหาลัย ซึ่งตามปกติจะเป็นเว็บที่อาจารย์จะใช้อัพโหลดเอกสารการเรียนการสอนและแจ้งข่าวต่างๆ เป็นที่ให้นักเรียนอัพโหลดการบ้าน และยังมีเว็บบอร์ดให้นักเรียนตั้งกระทู้ถามเรื่องเกี่ยวกับวิชานั้นๆได้ด้วย (ที่มหาลัยในเยอรมันก็มีเว็บแบบนี้) พอช่วงนี้มีเรียนออนไลน์ บางวิชาก็จะอัดวิดีโอจากการสอนสดมาอัพโหลดลงในนี้ให้นักเรียนสามารถดูเลคเชอร์ย้อนหลังได้ ส่วนใครที่อยากเรียนสด เค้าก็จะมีการแบ่งเป็นอาทิตย์ๆ อาทิตย์นี้คนที่เลขประจำตัวนักเรียนลงท้ายด้วยเลขนี้ๆมีสิทธิ์ลงทะเบียนขอไปเรียนสดได้ อะไรอย่างนี้ แต่ว่าก็ไม่ได้สามารถไปได้ทุกคน คนที่มีสิทธิ์ก็ต้องลงทะเบียนก่อนถึงไปเรียนสดได้ ถ้าลงทะเบียนช้า ที่เต็มก่อน ก็อดไป

การเรียนที่ประเทศอิตาลีนี้ แต่ละคาบจะสอนกันยาวๆสองสามชั่วโมงไปเลยจุกๆ แต่ว่าปกติแล้วอาจารย์ผู้สอนจะมีพักครึ่งประมาณสิบห้านาทีระหว่างสอนให้ด้วย แล้วประเพณีอย่างหนึ่งของประเทศนี้คือเค้าจะไม่เริ่มเรียนตรงเวลาเป๊ะๆ แต่จะเลทไปสิบห้านาที ก็คือสมมติว่าถ้าตารางสอนบอกว่าวิชานี้เริ่มเรียนสิบโมงตรง กว่าอาจารย์จะเริ่มสอนจริงๆก็ตอนสิบโมงสิบห้านาที

จนถึงตอนนี้ นับตั้งแต่เปิดเทอมมาก็ผ่านมาประมาณสามสัปดาห์ละ ตอนนี้เรายังอยู่ที่เยอรมันอยู่เพราะว่าอยากจะสอบอีกวิชาให้เสร็จก่อนแล้วค่อยไปอิตาลี กะว่าอดใจรอไว้ก่อน เดี๋ยวจะไปร่วมกิจกรรมกับเค้าตอนเดือนเมษาให้เต็มที่เลย ปรากฏว่าเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา อ่านข่าวว่าบอกว่ากรุงโรมจะปิดเมืองล็อคดาวน์อีกครั้งจนถึงต้นเดือนเมษาแล้วค่อยดูสถานการณ์อีกที นี่นั่งเหม่อเลย จะยังไงต่อล่ะนี่ ถ้าเค้าเลื่อนล็อคดาวน์ออกไปอีก จากที่ตั้งใจจะไปเที่ยวไปร่วมกิจกรรมให้เต็มที่ ก็จะกลายเป็นต้องไปล็อคดาวน์อยู่บ้านตลอดทั้งวันทั้งคืนล่ะสิทีนี้ เห้อ เศร้า ไม่ได้กลัวไวรัสหรอกนะ กลัวไม่ได้ออกไปเที่ยวมากกว่า 555 จริงๆจุดนี้นักเรียนแลกเปลี่ยนหลายๆคนคือเตรียมบินกลับบ้านเกิดกันแล้ว เพราะว่าหลายๆคนก็เป็นคนยุโรปอยู่แล้วและคิดว่าถ้ามาแลกเปลี่ยนแต่ทำได้แค่อยู่บ้านอย่างเดียวก็ขอกลับประเทศดีกว่า แต่สำหรับเรา จุดนี้คือถอยกลับไม่ได้แล้ว บ้านที่เยอรมันก็ไม่มีแล้ว ยกเลิกสัญญาไปหมดแล้ว บ้านที่อิตาลีก็อุตส่าห์หาได้แล้วแถมจ่ายค่าจองไปแล้วอีก แถมการได้เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนโครงการ Erasmus นี้ก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่เราอยากทำมานานมากแล้วด้วย ในเมื่อมาไกลขนาดนี้แล้ว ก็ต้องไปต่อให้สุด ถึงจะเลื่อนล็อคดาวน์ไปอีกยาวๆ อย่างน้อยก็คิดซะว่าเปลี่ยนที่ล็อคดาวน์จากเยอรมันเป็นอิตาลีแทน อย่างน้อยก็คงได้ซึมซับบรรยากาศอะไรบ้างแหละ 555 แต่ยังไงก็ขอให้ล็อคดาวน์จบเร็วๆเถอะ ขอให้ได้เที่ยวอะไรบ้าง และที่สุดเลยคือขอให้โควิดจบเร็วๆเทอะ ฉีดวัคซีนกันให้เสร็จเร็วๆ โลกเราจะได้เดินหน้าต่อกันได้ซักที เอาล่ะรู้สึกว่าโพสต์นี้เริ่มยาวละ เดี๋ยวจบแค่นี้ก่อน ไว้พบกันใหม่ในโพสต์หน้า ซึ่งอาจจะเป็นโพสต์ที่เขียนจากอิตาลีแล้วก็ได้ เฮ่!

ศาลากลางเมือง Aachen หลังหิมะตก นี่อาจจะเป็นฤดูหนาวครั้งสุดท้ายของเราในเมืองนี้ก็ได้

สวัสดีปีใหม่ 2564 (2)

กลับมาต่อตอนที่สองกับการอัพเดตชีวิตตั้งแต่หลังเปิดเทอมที่ผ่านมา เทอมนี้ก็เป็นเทอมที่สองตั้งแต่มีโควิดที่มหาลัยจัดให้เรียนออนไลน์ทุกวิชา แต่เป็นครั้งแรกที่เราเรียนออนไลน์ตอนอยู่ที่เยอรมัน ตอนเทอมที่แล้วเราอยู่ไทย ด้วยปัจจัยต่างๆทำให้แทบไม่ได้เรียนเลยจนต้องมาอ่านตามทีหลังหลังจากกลับมาเยอรมันแล้ว พอมาเทอมนี้ได้มาอยู่ห้องส่วนตัวคนเดียว ทำให้มีสมาธิเรียนเยอะขึ้นมาก เทอมนี้ตอนแรกเลยเรากะจะเรียนแค่ไม่กี่วิชา เพราะตั้งใจว่าจะไปแลกเปลี่ยนที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี ตอนเทอมหน้า (เคยเขียนเล่าไว้ในโพสต์นี้ การสมัครโครงการแลกเปลี่ยน และ ERASMUS+ ) แล้วมหาลัยในอิตาลีมันเปิดเทอมก่อนที่มหาลัยเราในเยอรมันจะเริ่มจัดสอบซะอีก ทำให้ตั้งใจจะลงเรียนแค่วิชาที่เป็นแล็บ กับคอร์สภาษาที่สอบเสร็จก่อนวันปิดเทอมอะไรอย่างงี้ แต่พอมีโควิดมาเลยคิดว่าคงไม่ไปแลกเปลี่ยนแล้ว เลยตั้งใจจะลงเรียนลงสอบแบบจัดเต็มเก็บให้ครบทุกหน่วยกิตที่ยังเหลือให้หมดไปเลย หลายๆวิชาที่เราลงเรียนในเทอมนี้เป็นวิชาที่มีทำแล็บ ทำโปรเจคต์ เพราะว่าอยากเรียนวิชาที่ได้หัดลงมือทำอะไรจริงๆ ไม่ใช่ท่องจำไปสอบแล้วพอสอบเสร็จก็ลืมเหมือนวิชาส่วนใหญ่ตอนป.ตรี 555

วิวของโรงพยาบาลของคณะแพทย์ของมหาลัยของเราจากเนินเขานอกเมือง

ขอเล่าย้อนอดีตนิดนึง ตอนเรียนจบป.ตรี เรามีความรู้สึกว่าไม่อยากเรียนต่อป.โทมาก แค่ป.ตรีก็เครียดจะตาย(ห่า)แล้ว แถมเนื้อหาก็มีแต่ทฤษฎี หลายๆอย่างเรียนไปสอบผ่านไปแล้วก็ลืมอยู่ดี รู้สึกไม่เมคเซนส์เท่าไหร่ ตอนนั้นคิดอยู่นานมากๆว่าจะต่อโทหรือว่าทำงานเลยดี ทั้งถามความเห็นคนนั้นคนนี้ ทั้งหาอ่านความเห็นในเน็ต แล้วสรุปว่าสุดท้ายก็มาต่อโทเพราะว่า… หางานไม่ได้ 5555 ด้วยความที่ไม่ได้วางแผนชีวิตหลังเรียนจบกับไม่รู้ข้อมูลเรื่องวีซ่ามาก่อน ทำให้พอส่งธีสิสป.ตรีแล้วมีเราเวลาสำหรับหางานปุบปับแค่ไม่กี่เดือนก็ต้องต่อป.โทเลย ไม่งั้นจะมีปัญหายุ่งยากเรื่องวีซ่า เลยได้จับพลัดจับผลูมาเรียนต่อป.โท แต่ตอนนี้ผ่านมาจนเข้าเทอมสามแล้วก็รู้สึกว่าโชคดีที่มาเรียนนะ เพราะเนื้อหาป.โทดูเฉพาะทางและน่าจะเอาไปใช้จริงได้มากกว่าเนื้อหาป.ตรีเยอะเลย ตอนนี้รู้สึกยังกับว่าป.ตรีแทบไม่ได้เรียนอะไรมาเลย ขนาดนั้น และประเด็นคือวิชาส่วนใหญ่ของป.โทง่ายกว่าตอนป.ตรีด้วย เครียดน้อยกว่า แล้วเราก็แอบมีความมั่นใจมากขึ้นด้วยเพราะผ่านป.ตรีที่นี่มาแล้ว นอกจากนั้น ป.โทยังมีวิชาเลือกให้เลือกเรียนเยอะมากตามความสนใจ วิชาบังคับมีแค่นิดเดียว ส่วนใหญ่เป็นวิชาเลือก ด้วยความรู้สึกของเราที่ว่าทำไมจบป.ตรีแล้วยังทำอะไรไม่เป็นซักอย่าง นอกจากใช้โปรแกรมกับเขียนโปรแกรมระดับ beginner สุดๆ ตอนป.โทเราเลยพยายามเลือกวิชาเลือกที่มีให้ใช้โปรแกรม ให้ทำโปรเจคต์ตั่งต่างจัดเต็ม อย่างในรูปต่อไปนี้ก็คือฝึกงานเขียนโปรแกรม PLC ควบคุมโรงงาน ซึ่งเป็นวิชาบังคับและเป็นเหมือนงานหลักของคณะเราเลย (automation engineering) แต่ถามว่าฝึกงานเสร็จแล้วใช้เป็นมั้ย? แหะๆๆๆๆ (ขำแห้ง) เดี๋ยวไว้ไปทำงานจริงเมื่อไหร่ค่อยไปฝึกที่หน้างานอีกทีละกัน 55555

ด้วยความที่ตอนเปิดเทอมมาแรกๆเราคิดว่าเทอมต่อไปคงจะไม่ไปแลกเปลี่ยนแล้ว เพราะว่าด้วยสถานการณ์โควิด ทำให้อะไรต่างๆดูยุ่งยากและไม่แน่นอนเกิน เราก็เลยเบนเป้าหมายไปที่การฝึกงานแทน จากประสบการณ์การเรียนมหาลัยทั้งหมดที่ผ่านมาเรารู้สึกว่าการที่จะหางานทำได้เนี่ย การมีประสบการณ์ทำงานพาร์ทไทม์หรือฝึกงานในสาขาที่เกี่ยวกับการเรียนมาก่อนแทบจะสำคัญกว่าการเรียนในมหาลัยซะอีก แล้วอีกอย่าง เรารู้สึกว่าการหาที่ฝึกงานมันง่ายกว่าการหาที่ทำงานหลังเรียนจบแล้วเยอะเลย แล้วตอนป.ตรีเราไม่ได้ฝึกงานเลยเพราะว่าคณะเราไม่ได้บังคับ ตอนนี้เราเลยตั้งใจว่าก่อนจะจบป.โทเราจะต้องหาบริษัทฝึกงานซักครั้งให้ได้ (ถึงแม้ว่าคณะตอนป.โทก็ไม่ได้บังคับฝึกงานก็ตาม) แล้วถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะได้ที่ฝึกงานที่บริษัทที่ดีๆ ในตำแหน่งที่อยากทำจริงๆไปเลย แล้วถ้าทุกอย่างลงตัวก็จะขอเค้าทำธีสิสที่บริษัทต่อ แล้วพอส่งธีสิสแล้วจะได้หาช่องทางขอทำงานที่นี่ต่อเลย ถ้าทำได้จะได้ไม่ต้องมาปวดหัวหาสมัครงานหลังเรียนจบอีก แล้วก็จะได้มีรายได้ตั้งแต่ฝึกงานไปจนเรียนจบอีก (ถ้าทำธีสิสที่บริษัทเค้าจะมีเงินเดือนให้ด้วย ฝึกงานก็มีเงินเดือนให้) ตอนนั้นเราหาข้อมูลเรื่องตำแหน่งฝึกงานจากเว็บต่างๆเยอะมาก ทั้งจากหน้าเว็บของบริษัทที่สนใจ ทั้งจากเว็บไซต์ที่รวบรวมตำแหน่งงานจากบริษัทต่างๆเช่น https://www.stepstone.de/5/job-detailsuche.html แล้วนอกจากนี้ ช่วงต้นๆเทอม ที่มหาลัยก็ยังมีจัดงาน Job expo ที่เป็นงานที่บริษัทต่างๆจะส่งตัวแทนมาตั้งซุ้มแนะนำบริษัทที่มหาลัยด้วย ปีนี้เพราะมีโควิดเค้าเลยจัดงานแบบออนไลน์แทน ก็คือทุกอย่างต้องเข้าไปดูผ่านเว็บไซต์ บางบริษัทก็จะมีลิงค์ให้เรากดเข้าไปแชทคุยกับตัวแทนของบริษัทสดๆได้ บางบริษัทก็มีแค่กล่องแชทให้พิมพ์คุย แต่ยังไงก็ยังเป็นโอกาสที่ดีมากๆที่เราจะได้ติดต่อกับตัวแทนของบริษัทและสอบถามข้อสงสัยต่างๆของเราได้แบบตัวต่อตัวเลย แนะนำให้เช็คข้อมูลกับทางมหาลัยของตัวเองว่าเค้าจัดงานแบบนี้มั้ย แต่เราว่าทุกมหาลัยน่าจะมีจัดอยู่แล้ว หรือไม่ก็อย่างน้อยหนึ่งมหาลัยในเมืองนั้นๆน่าจะมี ที่นักเรียนจากมหาลัยอื่นๆก็ไปเข้าร่วมได้

ถนนในเมือง Aachen ในฤดูใบไม้ร่วง

พอตั้งใจว่าจะหาสมัครที่ฝึกงานแล้ว เราก็เริ่มเขียนจดหมายสมัครงาน แต่ไปๆมาๆ ยังเขียนได้ไม่จบซักฉบับเลย เปลี่ยนใจอีกรอบ กลับไปเป็นจะไปแลกเปลี่ยนเหมือนเดิมละ 5555 เหตุผลก็คือตอนเทอมนี้มีเพื่อนที่มหาลัยเราคนนึงกำลังไปแลกเปลี่ยนอยู่แล้วเค้ามาไซโคว่าดีอย่างงั้นดีอย่างงี้ จนอดใจไม่ไหว อยากไปบ้าง 555 อีกเหตุผลคือเทอมนี้มีวิชานึงที่เราลงทะเบียนไปแต่ว่าลงเรียนไม่ได้เพราะว่าที่นั่งเต็ม ทำให้ยังไงเราก็เก็บหน่วยกิตให้ครบในเทอมนี้ไม่ทันแน่นอน ต้องต่อออกไปอีกเทอมแน่นอน ก็เลยคิดว่าถ้าอย่างนั้นเทอมหน้าก็ไปเรียนที่อิตาลีซะเลยละกัน และเหตุผลสุดท้ายที่สำคัญที่สุด ที่ส่งผลให้ทุกอย่างลงล็อคก็คือ เพราะสถานการณ์โควิด ทำให้เค้าอนุญาตให้เราเลือกได้ว่าจะเรียนแลกเปลี่ยนแบบออนไลน์อยู่ที่เยอรมัน หรือว่าจะไปเรียนที่ประเทศนั้นก็ได้ หรือว่าจะเรียนช่วงแรกแบบออนไลน์ แล้วค่อยเดินทางไปประเทศนั้นทีหลังก็ได้ ทำให้เราสามารถอยู่สอบที่เยอรมันให้ครบทุกวิชาก่อน (แล้วระหว่างนั้นก็เรียนออนไลน์ของมหาลัยที่อิตาลีไปด้วย) แล้วพอสอบเสร็จก็ค่อยย้ายไปอยู่อิตาลีแล้วเข้าเรียนที่นั่นต่อได้ ก็เลยลงตัวพอดี สรุปก็คือได้ไปแลกเปลี่ยนละ แถมสามารถอยู่สอบวิชาของเทอมนี้ตอนหลังปิดเทอมได้อีก (ถ้าเทอมนี้สอบเก็บหน่วยกิตไปได้เยอะ เทอมหน้าตอนไปแลกเปลี่ยนจะได้ไม่ต้องเครียดเรื่องเรียนเรื่องสอบมาก ไม่ต้องเรียนต้องสอบเยอะ มีเวลาเที่ยว เวลาเก็บประสบการณ์อื่นๆ) ต้องขอบคุณโควิด (จะขอบคุณดีรึเปล่าก็ไม่รู้ 555) แต่ว่าพอสถานการณ์ของเรามันมาลงเอยแบบนี้แล้ว ก็แปลว่าช่วงนี้จะเป็นเทอมที่หนักหนามาก ทั้งโปรเจคต์ก็เยอะ มีการบ้านแล็บต้องส่งเรื่อยๆแถมหลายอันด้วย แถมตอนช่วงสอบก็ต้องสอบหลายวิชา แล้วยังต้องเรียนออนไลน์ของที่อิตาลีไปพร้อมๆกันตอนช่วงสอบอีก บอกเลยว่าตอนนี้หวั่นใจมาก แต่ถามว่าทำตัวขยันมั้ย ก็ไม่นะ 5555 ฮือออ จริงๆก็พยายามบอกตัวเองให้เรียนเยอะๆ อ่านหนังสือเยอะๆนะ แต่พอต้องอยู่แต่บ้านอย่างเดียว ร้านเริ้นปิดหมด อ่านข่าวก็มีแต่ข่าวไม่ดีไม่เว้นแต่ละวัน อากาศก็หนาวๆมืดๆ วันนึงเห็นแสงแดดแค่ไม่กี่ชั่วโมง ก็ทำให้ใจหดหู่ ไม่ค่อยมีอารมณ์อ่านหนังสือเท่าไหร่ แต่ตอนนี้ก็เริ่มใกล้สอบเข้าไปทุกที งานก็เริ่มพอกขึ้นทุกที ก็เริ่มมีแรงบันดาลใจให้ขยันขึ้นมาหน่อยละ ต้องจวนตัวจริงๆแหละถึงมีอารมณ์อ่านหนังสือ 555

ชานเมือง Aachen ที่เต็มไปด้วยฟาร์มและบ้านโบราณ

มาถึงเรื่องสถานการณ์โควิดที่เยอรมันบ้าง คือตอนแรกที่เรากลับมาถึงเยอรมันเป็นช่วงหน้าร้อน สถานการณ์ดีขึ้นกว่าช่วงแรกๆเยอะแล้ว มีการบังคับให้ใส่หน้ากากตอนเข้าห้างร้านต่างๆ แต่ว่าในที่แจ้งคนก็ออกมาเดินเล่น ออกมาเที่ยวอะไรกันจนแทบจะเหมือนทุกอย่างเป็นปกติเลย ไปๆมาๆก็เริ่มมีประท้วงต่อต้านการใส่หน้ากาก ต่อต้านมาตรการป้องกันโควิดต่างๆนานา เริ่มจากเมืองนึง แล้วก็เริ่มลามไปเมืองอื่นๆ เมืองเราก็มีเดินพาเหรดต่อต้านมาตรการป้องกันโควิด หาว่าเป็นการลิดรอนเสรีภาพไปอีก ว่าซั่น แล้วไปๆมาๆ พอเริ่มเข้าหน้าหนาว อากาศเริ่มเย็นขึ้น ตัวเลขผู้ติดเชื้อก็เริ่มเพิ่มขึ้นๆ จนพอมาเดือนพฤศจิกายนก็มีการล็อคดาวน์แบบเบาะๆ ก็คือปิดร้านบางร้านเช่นร้านอาหาร บาร์ โรงหนัง โรงละคร ด้วยหวังว่าสถานการณ์จะดีขึ้นก่อนสิ้นปี ช่วงสิ้นปีคนจะได้กลับไปฉลองคริสต์มาสกับปีใหม่กันได้ แต่ก็มิได้นำพา ตัวเลขผู้ป่วยกับผู้เสียชีวิตพุ่งขึ้นแบบไม่เกรงใจล็อคดาวน์แบบอ่อนๆเลย สุดท้ายเลยทำให้รัฐบาลเยอรมันต้องจำใจล็อคดาวน์แบบจริงจังตอนเดือนธันวาคม คือปิดร้านทุกอย่าง ยกเว้นแค่ร้านซุปเปอร์มาร์เก็ตกับร้านขายของสดสำหรับทำอาหาร แล้วก็ให้คนทำงานจากบ้าน เราก็โดนผลกระทบไปด้วยตรงที่ว่าไม่สามารถไปทำโปรเจคต์ที่มหาลัยได้แล้ว (แต่เดดไลน์ยังเป็นวันเดิม 555 ฮือออออ) ส่วนการฉลองคริสต์มาสกับปีใหม่ก็ยกเลิกหมด ตลาดคริสต์มาสก็ห้ามจัด พลุก็ห้ามจุด ห้ามไปรวมกันฉลองที่บ้าน และห้ามอีกหลายห้าม กลายเป็นช่วงเวลาสิ้นปีที่เงียบเหงาและน่าหดหู่ที่สุดที่เคยมีมาเลย (ในชีวิตเรา) แต่ล่าสุดวันนี้เราเพิ่งเห็นข่าวว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิดในเยอรมันแค่เดือนธันวาคมที่ผ่านมาเดือนเดียวสูงว่าจำนวนของเดือนก่อนๆหน้าในปีนั้นรวมกันทั้งปีซะอีก แถมที่ไทยตอนนี้ก็กลับมาระบาดอีกรอบหลังจากที่ปลอดโควิดมาหลายเดือน จำนวนผู้ติดเชื้อก็เพิ่มแบบก้าวกระโดดในแต่ละวัน อ่านข่าวแล้วก็ได้แต่กุมขมับ สถานการณ์แบบนี้ไม่มีอารมณ์จะทำอะไรเลย ตอนนี้ลุ้นอยู่ว่าเยอรมันจะขยายเวลาล็อคดาวน์ต่อไปมั้ย (ตอนแรกจะล็อคดาวน์ถึงแต่ต้นมกรา) ถ้าขยายออกไปอีกก็ไม่รู้จะทำยังไงกับโปรเจคต์ของมหาลัยเหมือนกัน เห้อออ

จัตุรัสใจกลางเมืองที่ไร้ตลาดคริสต์มาส

สรุปว่าตอนนี้ภารกิจที่ต้องทำก็มีทำการบ้านและโปรเจคต์ต่างๆที่กำลังท่วมหัวอยู่ อ่านหนังสือเตรียมตัวสอบ เตรียมตัวทำแล็บกับพรีเซนต์ในอีกสองแล็บในเดือนนี้กับปลายเดือนหน้าตอนหลังปิดเทอม อ่านหนังสือสอบต่อจนสอบเสร็จ แต่ระหว่างนั้นก็ต้องหาห้องที่อิตาลีอยู่ จัดการเรื่องเอกสารต่างๆและเรื่องลงเรียนวิชาต่างๆของที่อิตาลี เข้าเรียนออนไลน์ที่อิตาลี และเก็บข้าวของเตรียมจัดกระเป๋าย้ายบ้านกับเอาของที่ไม่จำเป็นไปทิ้งหรือไปฝากไว้บ้านเพื่อนด้วย โอ๊ยแค่คิดก็ปวดหัวแล้ว นี่เราทำอะไรลงไปเนี่ยยยย แต่หวังว่าในที่สุดเราจะต้องรอด สาธุ จะเป็นยังไงต่อเดี๋ยวไว้กลับมาเล่าต่อ

ปล. ในโพสต์ก่อนๆหน้าเราเล่าว่ามีอีกภารกิจที่ต้องทำคือต่อ Residence Permit ของเยอรมัน หลังจากที่อยู่กับ Residence Permit ที่หมดอายุมาเป็นปีเพราะว่าสำนักงานคนต่างชาติของเมืองที่เราเคยอยู่ก่อนหน้านี้ไม่ส่งเอกสารมาที่สำนักงานของเมืองปัจจุบันซักที ทำให้ต่ออายุไม่ได้ซักที ตอนนี้สรุปว่าต่อได้แล้ว เค้าต่อให้มาสองปี เย่ หวังว่าตอนต่ออายุรอบหน้าจะเป็นการเปลี่ยนจากวีซ่านักเรียนไปเป็นวีซ่าทำงานแล้วนะ

หมู่บ้าน Monschau ซึ่งเป็นหมู่บ้านโบราณที่สวยมากๆ อยู่ห่างจากเมือง Aachen ไปประมาณชั่วโมงนิดๆโดยรถบัส

การสมัครโครงการแลกเปลี่ยน และ Erasmus+

โพสต์นี้เราจะมาเล่าประสบการณ์การเตรียมตัวสมัครโครงการแลกเปลี่ยนไปต่างประเทศเมื่อช่วงเทอมที่ผ่านมาให้ฟังอย่างคร่าวๆ แต่ละมหาลัยก็อาจจะมีโครงการและมีขั้นตอนที่ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นถ้าอยากได้ข้อมูลที่ชัวร์ๆยังไงทางที่ดีที่สุดก็คือการติดต่อสอบถามไปที่ International office ของมหาลัยหรือของคณะที่เราเรียนอยู่โดยตรง ส่วนเรื่องที่เราจะเล่าในโพสต์นี้จะเป็นข้อมูลต่างๆของมหาวิทยาลัย RWTH Aachen ที่เราเรียนอยู่เผื่อใครที่สนใจสมัครโครงการแลกเปลี่ยนจะได้อ่านไว้เป็นแนวทางได้โนะ

ที่ RWTH Aachen ถ้าเกิดว่าเราสนใจอยากจะไปแลกเปลี่ยนที่ต่างประเทศ มีอยู่สามทางหลักๆที่เราสามารถสมัครไปได้ ทางแรกก็คือผ่านทาง International office ของมหาลัย ทางที่สองคือผ่านทาง International office ของคณะที่เราเรียนอยู่ ทางที่สามคือสมัครกับมหาลัยที่เราอยากไปเรียนตรงๆเลย

20191012_150234.jpg

การสมัครโครงการแลกเปลี่ยนผ่านทาง International office ของมหาวิทยาลัย

International office ของมหาลัยจะมีรายชื่อมหาวิทยาลัยทั่วโลกที่เป็นพาร์ทเนอร์ของมหาลัยของเรา ซึ่งเราสามารถเช็ครายชื่อนี้และอ่านรายละเอียดของข้อตกลงต่างๆเช่นจำนวนนักเรียนที่รับ คณะที่รับ หลักฐานทางภาษาที่ต้องใช้ ไปได้เทอมไหน ไปได้กี่เทอม ฯลฯ ของแต่ละมหาลัยได้ในเว็บนี้ https://www.rwth-aachen.de/go/id/dhce/lidx/1 แต่ละปีเค้าจะเปิดรับสมัครสองรอบ รอบหลักจะหมดเขตส่งเอกสารวันที่ 15 ธันวาคม ส่วนรอบรองจะหมดเขตวันที่ 15 มีนาคมถ้าจำไม่ผิด การสมัครจะเป็นการสมัครออนไลน์ผ่านทางเว็บของ International office ซึ่งเราจะต้องกรอกข้อมูลต่างๆ และส่งเอกสารต่างๆ ผ่านทางหน้าเว็บนั้น และสิ่งที่สำคัญคือเราต้องเขียน Motivation letter ส่งไปพร้อมกับเอกสารอื่นๆด้วย ในเว็บเราสามารถกรอกอันดับของมหาวิทยาลัยที่เราต้องการสมัครได้ทั้งหมดสี่อันดับเรียงตามความอยากได้ และเราต้องเขียน Motivation letter สำหรับทุกมหาลัยที่เราเลือก คือถ้าจะสมัครครบทั้งสี่มหาลัยเลย ก็ต้องเขียน Motivation letter สี่ฉบับ หนึ่งฉบับต่อหนึ่งมหาลัยให้เนื้อหาของแต่ละฉบับสอดคล้องกับข้อมูลของมหาลัยนั้นๆ เอกสารทั้งหมดที่เราส่งไปตอนสมัครจะถูกนำไปตรวจและให้คะแนน โดยที่จะมีคะแนนจากเกรด คะแนนจาก Motivation letter และคะแนนจากกิจกรรมนอกห้องเรียนที่เคยทำ แล้วเค้าก็จะเอาคะแนนของผู้สมัครแต่ละคนมาจัดลำดับดูแล้วดูว่าผู้สมัครคนไหนจะได้ไปแลกเปลี่ยนที่มหาลัยไหน ใครคะแนนเยอะก็จะถูกพิจารณาก่อน ก็มีโอกาสได้มหาลัยอันดับหนึ่งที่ตัวเองเลือกมากกว่า ใครคะแนนน้อยก็ต้องลุ้นหน่อย อาจจะได้มหาลัยอันดับสองสามสี่ หรือไม่ได้เลย การสมัครโครงการแลกเปลี่ยนผ่านทาง International office ของมหาลัยหมายความว่าเราจะต้องแข่งกับนักเรียนคนอื่นๆทั้งมหาลัยที่เลือกสมัครมหาลัยเดียวกันกับเรา เพราะฉะนั้นอัตราการแข่งขันก็จะสูงหน่อย หลังจากการสมัครรอบหลักจบลงและมีการยืนยันจากผู้สมัครทุกคนแล้วว่าจะไปหรือไม่ไป โควตาที่ยังเหลือของแต่ละมหาลัยจะถูกนำมาเปิดรับสมัครต่อในการสมัครรอบรอง ถ้าเกิดว่ารอบหลักเราสมัครไปแต่ว่าไม่ได้ เราก็ยังสามารถมาสมัครมหาลัยที่ยังมีโควตาเหลืออยู่ในการสมัครรอบรองได้ ตอนสมัครรอบหลัก เราสามารถเลือกได้ว่าอยากไปตอนเทอมฤดูหนาว (อีกสองเทอมนับจากเทอมที่สมัคร) หรือเทอมฤดูร้อน (อีกสามเทอมนับจากเทอมที่สมัคร) และอยากไปนานหนึ่งเทอมหรือสองเทอม แต่ตอนสมัครรอบรอง เราจะเลือกไปได้แค่ตอนเทอมฤดูร้อน (อีกสองเทอมนับจากเทอมที่สมัคร) และไปได้นานแค่หนึ่งเทอม

การสมัครโครงการแลกเปลี่ยนผ่านทาง International office ของคณะ

International office ของคณะจะมีรายชื่อมหาวิทยาลัยทั่วโลกที่เป็นพาร์ทเนอร์ของคณะนั้นๆ ซึ่งจะไม่มีความเกี่ยวข้องกับรายชื่อของมหาลัยที่เป็นพาร์ทเนอร์ของ International office ของตัวมหาลัย (แต่อาจจะมีบางมหาลัยที่มีชื่ออยู่ในทั้งสองรายชื่อ) ระหว่างคณะกับมหาลัยพาร์ทเนอร์แต่ละมหาลัยจะมีโครงการแลกเปลี่ยนเฉพาะของตัวเองซึ่งก็จะมีรายละเอียดต่างๆกันไป สามารถอ่านรายละเอียดได้ในเว็บนี้ว่ามีมหาลัยอะไรบ้างและมีโปรแกรมแลกเปลี่ยนอะไร มีรายละเอียดยังไงบ้าง สามารถสมัครได้ยังไง ฯลฯ https://www.maschinenbau.rwth-aachen.de/cms/Maschinenbau/Studium/Internationales/Auslandsaufenthalt/Ab-ins-Ausland-Austauschprogramme-und/~fxyx/Austauschprogramme/ ส่วนใหญ่ก็จะสามารถสมัครออนไลน์ได้ผ่านทางเว็บของ International office ของคณะ หรือบางโปรแกรมก็อาจจะต้องติดต่อขอสมัครกับโปรเฟสเซอร์หรือสถาบันใดสถาบันหนึ่งในคณะโดยตรง

การสมัครโครงการแลกเปลี่ยนโดยสมัครกับมหาวิทยาลัยปลายทางโดยตรง

การสมัครเรียนกับมหาลัยในต่างประเทศตรงๆเลยแบบไม่ผ่านทางมหาลัยที่เราเรียนอยู่ เรียกว่า Free mover เป็นหนึ่งในช่องทางที่เราจะสามารถไปแลกเปลี่ยนที่มหาลัยในต่างประเทศได้ แต่ว่าเราต้องจัดการทุกอย่างเองหมดเลยทั้งการติดต่อมหาลัยในต่างประเทศ และการประสานกับมหาลัยของเรา งานเอกสารต่างๆ วีซ่าและอื่นๆอีกมากมาย และที่สำคัญคือเราต้องจ่ายค่าเทอมของมหาลัยในต่างประเทศที่เราจะไปแลกเปลี่ยนแบบเต็มจำนวน คือถ้าเราไปแลกเปลี่ยนที่มหาลัยที่เป็นพาร์ทเนอร์ของมหาลัยของเราผ่านทางโครงการแลกเปลี่ยนของมหาลัย ส่วนใหญ่แล้วเราก็ต้องจ่ายแค่ค่าเทอมของมหาลัยของเราตามปกติ และไม่ต้องจ่ายค่าอะไรเพิ่มเติม (นอกจากค่าเครื่องบิน ค่าวีซ่า ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันที่ต่างประเทศ ฯลฯ) ซึ่งจุดนี้เป็นสิ่งที่เป็นข้อได้เปรียบของนักศึกษาของมหาลัยในเยอรมนีมากเพราะว่าค่าเทอมของมหาลัยในเยอรมนีนั้นถูกมาก สมมติว่าเราได้ไปแลกเปลี่ยนที่มหาลัยในอเมริกาหรือแคนาดา เราสามารถไปได้โดยเสียแค่ค่าเทอมในเรตของเยอรมนีแค่นั้น ไม่ต้องไปเสียเงินค่าเทอมที่แพงหูฉี่ในเรตของอเมริกาหรือแคนาดา ถือว่าได้กำไรสุดๆ

20191026_140213.jpg

โครงการแลกเปลี่ยน Erasmus+

หนึ่งในโครงการแลกเปลี่ยนที่เป็นที่นิยมที่สุดของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยในสหภาพยุโรปหรือ EU ก็คือโครงการ Erasmus+ ซึ่งเป็นโครงการแลกเปลี่ยนระหว่างมหาวิทยาลัยภายใน EU เราสามารถสมัครเข้าโครงการนี้ได้ผ่านทาง International office ของคณะ ซึ่งแต่ละคณะก็จะมีรายชื่อมหาลัยที่เป็นพาร์ทเนอร์ต่างๆกันไป ในบางกรณีเราสามารถสมัครผ่านคณะอื่นที่ไม่ใช่คณะที่เราเรียนได้ (ถ้าเราสมัครผ่านคณะไหน เราก็จะสามารถเลือกมหาลัยได้แค่จากในรายชื่อมหาลัยที่เป็นพาร์ทเนอร์กับคณะนั้นเท่านั้น และตอนเราไปแลกเปลี่ยนก็จะต้องลงเรียนวิชาที่เกี่ยวกับคณะนั้นเป็นส่วนใหญ่ด้วย) แต่ว่าส่วนใหญ่แล้วก็จะสมัครได้แค่ผ่านคณะของเรา นั่นก็หมายความว่าเราต้องแข่งขันกับผู้สมัครคนอื่นๆจากในคณะของเราแค่นั้น และปกติแล้วมหาวิทยาลัยที่เป็นพาร์ทเนอร์ในโครงการ Erasmus+ จะมีโควตาสำหรับนักเรียนแลกเปลี่ยนเยอะกว่ามหาวิทยาลัยที่เป็นพาร์ทเนอร์ของ International office ของมหาลัย หมายความว่าถ้าเราสมัครไปแลกเปลี่ยนกับโครงการ Erasmus+ เราจะมีโอกาสจะสูงกว่าที่จะได้ไป เมื่อเทียบกับการสมัครไปแลกเปลี่ยนผ่าน International office ของมหาลัย

การสมัครโครงการ Erasmus+ ก็สามารถทำได้ผ่านทางเว็บของ International office ของคณะ ต้องเข้าไปกรอกรายละเอียด แนบไฟล์เอกสารต่างๆ และแนบไฟล์ Motivation letter เหมือนกับการสมัครผ่าน International office ของมหาลัยเลย นอกจากนี้ยังมีการรับสมัครสองครั้งต่อปี แบ่งเป็นรอบหลักกับรอบรองเหมือนกันด้วย ซึ่งรอบรองก็จะเหลือแต่มหาลัยที่ยังมีโควตาเหลือจากรอบแรกเช่นกัน แต่ว่าการสมัครโครงการ Erasmus+ รอบหลักจะหมดเขตส่งเอกสารวันที่ 15 มกราคม และรอบรองวันที่ 15 เมษายน และเราจะสามารถเลือกมหาลัยได้แค่สามอันดับเท่านั้น หลังจากปิดรับสมัครแล้วก็รอประมาณไม่เกินสองเดือนแล้วก็จะได้ผลการสมัครทางอีเมลล์

การสมัครโครงการแลกเปลี่ยนที่ไม่ใช่แบบ Free mover เราจะไม่เสียค่าใช้จ่ายอะไรเลย ในส่วนของโครงการ Erasmus+ จะมีทุนการศึกษาให้ใช้ระหว่างที่ไปแลกเปลี่ยนอีกด้วย ซึ่งจำนวนเงินที่ได้ก็จะประมาณ 300 – 420 ยูโรต่อเดือน ขึ้นอยู่กับประเทศที่เราไป ถ้าไปประเทศที่ค่าครองชีพต่ำเช่นประเทศแถบยุโรปตะวันออกก็จะได้ 300 ยูโรต่อเดือน ถ้าไปประเทศที่ค่าครองชีพสูงเช่นประเทศแถบยุโรปเหนือหรือสหราชอาณาจักรก็จะได้ 420 ยูโรต่อเดือน ส่วนโครงการที่สมัครทาง International office ของมหาลัยจะไม่ได้มีทุนการศึกษาให้ แต่ว่าตอนที่กรอกใบสมัคร มันจะมีช่องให้กรอกใบสมัครทุนการศึกษาที่มีชื่อว่าทุน PROMOS อยู่ สามารถสมัครไปพร้อมๆกันเลยได้ ซึ่งจำนวนเงินที่ได้จะขึ้นอยู่กับค่าครองชีพของประเทศที่เราไปเช่นกันแต่จะไม่เกิน 500 ยูโรต่อเดือน และจะมีทุนเป็นค่าเครื่องบินให้ด้วย แต่ว่าจำนวนทุน PROMOS นี้จะมีน้อยกว่าจำนวนนักเรียนแลกเปลี่ยน แปลว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะได้ทุนนี้ เค้าจะพิจารณาว่าใครจะได้ทุนจากเอกสารสำหรับการสมัครโครงการแลกเปลี่ยนที่เราแนบไปเช่นกัน

erasmusplus-logo-all-en-300dpi.jpg

ประสบการณ์ส่วนตัว

ในส่วนของประสบการณ์ส่วนตัวของเรา เราเริ่มเข้าเว็บของ International office ของมหาลัยและของคณะเพื่อหาข้อมูลตั้งแต่ก่อนเปิดเทอมแล้วเพราะว่าตั้งใจมากๆว่าในช่วงที่เรียนป.โทนี้แหละจะต้องไปแลกเปลี่ยนให้ได้ ก่อนหน้านี้เราเคยได้ยินแต่โครงการ Erasmus+ ก็เลยลองอ่านในเว็บดูว่ามีโครงการอื่นๆที่น่าสนใจรึเปล่า แต่หาข้อมูลไปหาข้อมูลมาก็ตัดสินใจว่าจะสมัครแค่ Erasmus+ นี่แหละเพราะว่าจริงๆในใจลึกๆอยากไปประเทศในยุโรปมากกว่า แล้วมันก็ยุ่งยากน้อยกว่า ไม่ต้องทำวีซ่า ไม่ต้องซื้อตั๋วเครื่องบินแพงด้วย

นอกจากข้อมูลที่มีบนเว็บแล้ว เรายังสามารถไปปรึกษากับเจ้าหน้าที่ของ International office โดยตรงได้เลยด้วย และนอกจากนี้เค้าก็มีการจัดบรรยายข้อมูลเกี่ยวกับโครงการแลกเปลี่ยนต่างๆเป็นระยะๆอยู่แล้วซึ่งในเว็บของ International office ก็จะมีบอกว่าวันไหนมีการบรรยายข้อมูลเกี่ยวกับโครงการไหน และหนึ่งในอีเวนต์ที่เราว่ามีประโยชน์มากๆเลยคือ Speed dating ซึ่งในอีเวนต์นี้จะมีนักเรียนแลกเปลี่ยนเก่าๆที่เคยไปแลกเปลี่ยนที่ประเทศต่างๆมามานั่งอยู่ตามโต๊ะที่จัดแบ่งตามประเทศ แล้วใครที่สนใจอยากไปแลกเปลี่ยนที่ประเทศไหนหรือมหาลัยไหนเป็นพิเศษก็สามารถไปพูดคุยสอบถามกับนักเรียนแลกเปลี่ยนเก่าที่เคยไปแลกเปลี่ยนที่ประเทศหรือมหาลัยนั้นมาได้เลยตรงๆ และนอกจากนี้ก็ยังมีเว็บ https://rwthaachen.moveon4.de/publisher/1/deu ที่เป็นเว็บรวบรวมรีวิวมหาลัยที่นักเรียนแลกเปลี่ยนคนเก่าๆเคยเขียนลงไว้ให้เราเข้าไปอ่านเก็บข้อมูลได้อีกด้วย

หลังจากที่ตัดสินใจว่าจะสมัครโครงการ Erasmus+ แล้ว เราก็มาดูรายชื่อของมหาลัยที่เป็นพาร์ทเนอร์กับคณะของเราและเข้าไปหาข้อมูลต่างๆในเว็บของมหาลัยเหล่านั้น ข้อมูลที่สำคัญที่เราควรรู้ก็เช่น มหาลัยนี้เปิดเทอมปิดเทอมเมื่อไหร่ ต้องส่งหลักฐานทักษะทางภาษาของภาษาประเทศนั้นมั้ย เค้าจัดการเรื่องที่พักให้เรามั้ย ในแต่ละเทอมมีวิชาอะไรเปิดสอนบ้าง สอนเป็นภาษาอะไร และมีเนื้อหาสอดคล้องกันกับคณะที่เราเรียนอยู่รึเปล่า และแต่ละวิชามีหน่วยกิตเท่าไหร่ ฯลฯ ข้อมูลเกี่ยวกับวิชาเป็นอะไรที่สำคัญมากเพราะเราต้องเขียนใน Motivation letter ด้วยว่าเราวางแผนว่าจะไปเรียนวิชาอะไรบ้างและต้องการจะเอาหน่วยกิตจากต่างประเทศมารวมกับหน่วยกิตของมหาลัยหลักของเรามากแค่ไหน (ซึ่งในความเป็นจริงตอนที่ไปแลกเปลี่ยนจริงๆอาจจะไม่ต้องลงเรียนตามนี้ก็ได้ แต่ว่าตอนสมัครต้องเขียนไปเพื่อแสดงให้เค้ารู้ว่าเราเตรียมการหาข้อมูลมานะ ไม่ได้สมัครแบบสุ่มสี่สุ่มห้า)

การเอาหน่วยกิตของวิชาที่เรียนในต่างประเทศมารวมในหน่วยกิตของมหาลัยหลักเป็นขั้นตอนที่ซับซ้อน เรามีหน้าที่เปรียบเทียบหลักสูตรเองว่าวิชาที่เราเรียนในต่างประเทศมันคล้ายกับวิชาไหนวิชาหนึ่งในมหาลัยหลักรึเปล่า หรือว่ามันมีเนื้อหาเข้ากันได้กับคณะของเรารึเปล่า ส่วนการตัดสินใจสุดท้ายว่าหน่วยกิตของวิชาในต่างประเทศวิชานี้สามารถเอามารวมกับหน่วยกิตของมหาลัยหลักได้รึเปล่าเป็นหน้าที่ของหน่วยงานของมหาลัยหลัก แต่ว่าโดยปกติแล้วเค้าจะไม่เคร่งครัดกับวิชาที่ไม่ได้เป็นวิชาบังคับ นั่นก็หมายความว่า เพื่อหลีกเลี่ยงความปวดหัว เราควรเรียนวิชาที่เป็นวิชาบังคับทั้งหมดของคณะเราที่มหาลัยหลักดีกว่า แล้วตอนไปแลกเปลี่ยนก็ไปเรียนวิชาที่เป็นวิชาเลือกเอา จะมีความเป็นไปได้ที่เราจะสามารถเอาหน่วยกิตที่เก็บมาจากต่างประเทศมารวมกับหน่วยกิตของมหาลัยหลักได้หมดเลยมากกว่า… งงมั้ยอะ 55 ถ้างงถามในคอมเมนต์ได้นะ

ส่วนข้อมูลเรื่องวันเปิดปิดเทอมก็สำคัญเพราะว่ามหาลัยส่วนใหญ่ในประเทศอื่นๆจะเปิดปิดไม่ตรงกับมหาลัยในเยอรมัน ส่วนใหญ่มหาลัยในต่างประเทศจะเปิดปิดเทอมเร็วกว่า แปลว่าสมมติว่าถ้าเทอมถัดไปเราจะไปแลกเปลี่ยน เราอาจจะไม่มีโอกาสสอบปลายภาคของเทอมปัจจุบันเพราะว่าวันสอบอาจจะอยู่หลังวันเปิดเทอมของมหาลัยในต่างประเทศ เพราะฉะนั้นเราต้องวางแผนว่าเราจะจัดการกับเวลาเปิดปิดเทอมที่ทับซ้อนกันนี้ยังไง และเขียนอธิบายไปใน Motivation letter ด้วย

20190930_141147.jpg

คณะที่เราเรียนคือคณะ Automation Engineering ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคณะวิศวะเครื่องกล เพราะฉะนั้นคณะที่เราสามารถสมัครโครงการแลกเปลี่ยนได้ก็เลยเป็นคณะวิศวะเครื่องกล แต่ด้วยความที่วิชาที่เราเรียนในสาขา Automation Engineering นี้เป็นวิชาจากหลากหลายแขนงทั้งวิศวะไฟฟ้า วิศวะคอม และวิศวะเครื่องกล และด้วยความที่ตัวเรามีความชอบวิชาทางวิศวะเครื่องกลน้อยสุดเลย เราเลยพยายามหามหาลัยที่มีวิชาที่ไปทางวิศวะไฟฟ้าหรือวิศวะคอมเยอะหน่อย ซึ่งเป็นเรื่องยากมาก! เพราะว่าด้วยความที่เราสมัครไปแลกเปลี่ยนกับคณะวิศวะเครื่องกล มหาลัยพาร์ทเนอร์ส่วนใหญ่เค้าเลยจะกำหนดว่าวิชาที่เราสามารถลงเรียนได้ต้องเป็นวิชาของคณะวิศวะเครื่องกลของมหาลัยเค้าเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นวิชาที่มันเครื่องกลจ๋าาาาเลย แต่ว่าสุดท้ายก็มาลงตัวที่มหาวิทยาลัยสามแห่งในเมืองโรม ประเทศอิตาลี เมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน และเมือง Aveiro ประเทศโปรตุเกส

พอเลือกมหาลัยได้แล้วก็เริ่มเขียน Motivation letter ซึ่งก็อย่างที่เราบอกไปว่าควรเขียนว่าวางแผนจะไปเรียนวิชาอะไรบ้าง และจะจัดการกับเวลาเปิดปิดเทอมที่ทับซ้อนกันยังไง นอกจากนี้ก็ควรเขียนแรงบันดาลใจทั่วไป ทำไมถึงอยากไปแลกเปลี่ยน ทำไมถึงอยากไปมหาลัยนี้ ฯลฯ ไปด้วย ในเว็บของ International office ของคณะเราจะมีบอกว่าควรบอกอะไรใน Motivation letter บ้าง นอกจากนี้ก็ยังมีการจัดบรรยายแนะแนวการเขียนให้ด้วย นอกจากนี้ เอกสารอันหนึ่งที่สำคัญมากสำหรับการสมัครก็คือหลักฐานทางภาษา ซึ่งในรายชื่อของมหาลัยพาร์ทเนอร์ของ International office จะมีบอกว่าสำหรับมหาลัยนี้ๆผู้สมัครควรพูดภาษาอะไรได้ระดับไหน ของเราโชคดีที่ทั้งสามมหาลัยที่เราเล็งไว้เค้าต้องการแค่ภาษาอังกฤษและก็มีคอร์สที่สอนเป็นภาษาอังกฤษเยอะ แต่ว่าหลายๆมหาลัยก็จะต้องการให้ผู้สมัครพูดภาษาของประเทศเค้าได้ด้วย ซึ่งถ้าพูดไม่ได้หรือไม่มีหลักฐานทางภาษาที่เพียงพอก็จะสมัครไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าใครพูดภาษาต่างประเทศซักภาษาได้แล้วไปสมัครมหาลัยที่เค้าต้องการให้ผู้สมัครพูดภาษานั้นได้ เราจะมีคู่แข่งน้อยมากหรืออาจจะไม่มีเลย เพราะว่าแม้แต่สำหรับคนเยอรมันก็มีน้อยคนที่จะพูดภาษาที่สามได้

หลังจากที่ส่งเอกสารไปแล้วก็รอๆๆ เราสมัครไปสองมหาลัย อันดับหนึ่งคือมหาวิทยาลัย Sapienza University of Rome ในกรุงโรม ประเทศอิตาลี อันดับสองคือมหาวิทยาลัย Polytechnic University of Catalonia ในเมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน ส่วนมหาลัยอีกอันที่เล็งไว้เรากะว่าถ้ารอบหลักเราไม่ได้ซักที่เลย ค่อยเอาไว้สมัครมหาลัยนี้ตอนรอบรอง เพราะว่าจากสถิติ (ในเว็บของ International office ของคณะมีไฟล์สถิติให้โหลดมาดูว่าเทอมที่ผ่านมาแต่ละมหาลัยมีคนสมัครกี่คนบ้าง) มหาลัยนี้คนสมัครน้อยมากเพราะว่ามีแต่วิชาที่ไปทางวิศวะคอม และตัวเมืองก็เป็นเมืองเล็กๆมากๆไม่หวือหวา (เหตุผลเหล่านี้เราคาดเดาไปเองนะ จริงรึเปล่าไม่รู้ 555) และอีกอย่าง เราตั้งใจว่าจะไปแลกเปลี่ยนตอนเทอมที่สี่อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นถึงสมัครตอนรอบรองก็ยังไม่สาย จากวันปิดรับสมัครเราก็รอมาประมาณหนึ่งเดือนครึ่ง แล้วก็ได้อีเมลล์จาก International office ของคณะมาแจ้งว่าเราได้รับเลือกให้ไปแลกเปลี่ยนที่มหาลัยอันดับหนึ่งที่เราเลือกไว้!! ดีใจมากๆ เหมือนฝันเป็นจริง หลังจากนี้ก็ยังไม่ต้องทำอะไรมาก เพราะว่าเราสมัครไว้สำหรับไปแลกเปลี่ยนตอนเทอมฤดูร้อน ซึ่งก็คืออีกสามเทอมหลังจากเทอมที่สมัครโน่นแน่ะ แต่ถ้ามีเวลาเดี๋ยวเราจะกลับมาอัพเดตเรื่อยๆว่ากระบวนการเตรียมตัวไปแลกเปลี่ยนนั้นไปถึงไหนแล้วโนะ

20180410_095936.jpg

การเรียนปริญญาโทเทอมแรกในเยอรมนี

เดี๋ยวโพสต์นี้จะเล่าเรื่องการเรียนปริญญาโทเทอมแรกในเยอรมนีของเราที่มหาวิทยาลัย Rheinisch-Westfälische Technische Hochschule Aachen หรือตัวย่อก็คือ RWTH Aachen ให้ฟังโนะ สำหรับการเรียนปริญญาโทนี้ ตอนที่จบตรีแรกๆไม่อยากเรียนเลย ขี้เกียจ หมดไฟและเอือมกับการเรียน แต่ไปๆมาๆสุดท้ายก็กลายเป็นว่ามีไฟขึ้นมา (ทำไมถึงมีไฟ อ่านเพิ่มเติมในโพสต์นี้ได้ ชีวิตใหม่ใน Aachen ) แล้วก็กลายเป็นว่าเป็นเทอมที่เราขยันและโฟกัสกับการเรียนที่สุดเลย ไม่ได้ไปเที่ยวไหน แทบไม่ได้ไปเข้าสังคมอะไรเลย ไปเรียนกับอยู่บ้านอย่างเดียว สำหรับเรื่องของระบบการเรียนมหาลัยในเยอรมนีโดยทั่วๆไปแล้ว ลองอ่านในโพสต์นี้ก่อนได้ การเรียนเทอมแรกในมหาลัยในเยอรมนี ในโพสต์นี้เราเคยเขียนเล่าเรื่องการเรียนมหาลัยระดับป.ตรีที่มหาลัย Karlsruhe Institute of Technology (KIT Karlsruhe) เอาไว้ ซึ่งหลายอย่างมันก็จะคล้ายๆกันกับระบบของมหาลัย RWTH Aachen แต่จะเป็นการเขียนจากมุมมองของคนที่ไม่เคยเรียนมหาลัยในเยอรมนีมาก่อนเลย แนะนำให้อ่านโพสต์นั้นก่อนแล้วค่อยมาอ่านโพสต์ใหม่นี้เพื่อข้อมูลที่มากขึ้นโนะ

20191014_111956
ตึกอำนวยการของมหาวิทยาลัย RWTH Aachen

เราเคยเล่าไปว่าที่มหาลัย KIT Karlsruhe จะมีเว็บๆหนึ่งที่จะมีเพจของวิชาต่างๆที่เราสามารถไปกด subscribe เพจของวิชาที่เราลงเรียนได้ ซึ่งในเพจของแต่ละวิชาก็จะมีไฟล์ชีทต่างๆ รวมไปถึงแบบฝึกหัด ข้อสอบเก่า และเอกสารที่เกี่ยวข้องต่างๆอัพโหลดไว้ นอกจากนี้เรายังสามารถส่งงานของวิชานั้นโดยการอัพโหลดไฟล์เข้าไปในเพจนั้นได้ และข่าวสารต่างๆเกี่ยวกับวิชานั้นก็จะถูกอัพเดตในเพจนั้นเรื่อยๆให้เราสามารถเข้าไปตามอ่านได้อีกด้วย ระบบแบบนี้ที่มหาลัย RWTH Aachen ก็มีเหมือนกัน ชื่อว่า Moodle และนอกจาก Moodle แล้ว ที่มหาลัย RWTH Aachen ก็ยังมีเว็บอีกเว็บชื่อว่า RWTH online ที่เราสามารถใช้ลงทะเบียนเรียน หาข้อมูลทั่วๆไปของคอร์สต่างๆ จัดการแผนการเรียนกับแผนการเลือกวิชาของเรา เช็คคะแนนสอบ ปรินท์ใบรับรองความเป็นนักเรียนและใบรับรองต่างๆ และอีกมากมายหลายฟังก์ชันได้ เป็นอะไรที่สะดวกมากและออกแบบเว็บมาได้แบบใช้ง่ายด้วย

ในส่วนของการเรียน แต่ละวิชาก็จะมีคาบที่เป็นเลคเชอร์ และส่วนใหญ่ก็จะมีคาบที่เป็นการฝึกทำแบบฝึกหัดด้วยซึ่งก็จะเป็นการนั่งเรียนรวมในห้องเรียนใหญ่และจะมีอาจารย์คนเดียวยืนสอนตรงหน้าห้องเหมือนคาบเลคเชอร์ ตอนเราเรียนป.ตรีที่ KIT Karlsruhe หลายๆวิชาจะมีคาบ Tutorial ด้วยซึ่งเป็นคาบที่นักเรียนจะถูกแบ่งเป็นกรุ๊ปเล็กๆไปเรียนตามห้องเรียนเล็กๆและจะมีนักเรียนรุ่นพี่เป็นติวเตอร์ประจำกรุ๊ปมาสอนทำโจทย์ให้ แต่ว่าที่ RWTH Aachen ไม่มีคาบ Tutorial แฮะ หรือว่าวิชาอื่นที่เราไม่ได้ลงเรียนอาจจะมีก็ได้มั้ง ไม่แน่ใจเหมือนกัน

20200115_111643
อาหารหลักของมหาวิทยาลัย RWTH Aachen

สิ่งหนึ่งที่แตกต่างกันระหว่างการเรียนป.ตรีกับป.โทก็คือ ตอนป.ตรี นักเรียนที่เข้าใหม่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเด็กน้อยตาใส หลายๆคนก็เพิ่งจบม.ปลายมาหมาดๆ ตอนเปิดเทอมปีหนึ่งใหม่ๆนักเรียนก็จะเยอะมาก บางวิชาแทบจะขี่คอกันเรียน แต่พอผ่านไปเรื่อยๆแต่ละเทอมๆก็จะมีนักเรียนลาออกไปเรื่อยๆด้วยเหตุผลต่างๆนานา จนสุดท้าย ทั้งคณะที่เข้าเรียนมาพร้อมๆกันอาจจะมีคนเรียนจนจบจริงๆแค่ครึ่งเดียว แต่สำหรับป.โท นักเรียนส่วนใหญ่ก็จะผ่านการคัดกรองมาจากป.ตรีมาแล้ว ความรู้ความสามารถก็จะไม่ต่างกันมาก ส่วนใหญ่ก็จะเรียนจบกันหมด และอีกอย่าง หลายๆวิชาที่เรียนตอนป.ตรีก็จะเป็นพวกวิชาพื้นฐานที่ส่วนใหญ่จะเยอะและยาก การจะได้เกรดดีๆนั้นก็ยากตาม แต่ตอนป.โทจะมีวิชาบังคับแค่ไม่กี่วิชา วิชาอื่นๆเราสามารถเลือกเรียนตามความสนใจได้เอง วิชาส่วนใหญ่ก็ไม่ยากเท่าวิชาตอนป.ตรี และยิ่งถ้าได้เรียนวิชาที่เราสนใจก็จะทำให้การเรียนสนุกขึ้นด้วย ทำให้ปกติแล้วเกรดตอนป.โทจะดีกว่าเกรดป.ตรี คนที่นี่เค้าจะพูดกันว่าตอนเรียนป.ตรีแค่พยายามเรียนให้ผ่านๆให้จบๆก็ได้ แต่ตอนเรียนป.โทควรพยายามเรียนให้ได้เกรดดีๆ

20191014_112243.jpg
Kármán-Tor ซุ้มประตูขนาดใหญ่ในแคมปัสของมหาลัยที่มีตำนานเล่าว่าถ้าใครเดินลอดซุ้มประตูนี้จะสอบตก

ในส่วนของการเรียนปริญญาโทของเรา เราเลือกเรียนคณะ Automation Engineering ซึ่งเป็นหลักสูตรระยะเวลาสองปี ช่วงก่อนที่จะเปิดเทอมเราก็มานั่งศึกษาหลักสูตรแล้วก็ลองวางแผนการเรียนตลอดทั้งสองปีดูว่าแต่ละเทอมน่าจะเรียนวิชาอะไรบ้าง ควรลงเรียนอะไรก่อนหลังเพื่อให้เนื้อหาในแต่ละเทอมมันสอดคล้องกัน (เราเคยเขียนแนะนำการวางแผนการเรียนไว้ในโพสต์นี้ แนะนำการจัดตารางเรียนปริญญาตรีในเยอรมนี เป็นประสบการณ์จากการเรียนป.ตรี แต่ว่าก็เอามาใช้กับป.โทได้เหมือนกัน) ปกติแล้วคนที่นี่เค้าไม่ได้ซีเรียสว่าต้องเรียนจบภายในระยะเวลาที่กำหนดเป๊ะๆหรอก ยิ่งบางคนที่เรียนไปด้วยทำงานไปด้วยก็จะต้องแบ่งเวลาจากการเรียนมาทำงาน แต่สำหรับเราคืออยากรีบๆเรียนให้จบเร็วๆ ก็เลยเลือกที่จะไม่ทำงานพิเศษเลย เรียนอย่างเดียว เก็บหน่วยกิตจุกๆ และอีกอย่างหนึ่งคือเราอยากจะไปแลกเปลี่ยนที่ต่างประเทศเทอมนึงด้วย ซึ่งหน่วยกิตที่เราจะเก็บมาจากมหาลัยในต่างประเทศเนี่ย เราก็ไม่รู้ว่าจะสามารถเอามารวมกับหน่วยกิตของที่นี่ได้มากแค่ไหน และเราก็ไม่อยากจะเรียนเยอะๆตอนไปแลกเปลี่ยนด้วย เลยตั้งใจจะเก็บหน่วยกิตในสองเทอมแรกให้ได้มากที่สุด จะได้เหลือหน่วยกิตที่ต้องเก็บตอนไปแลกเปลี่ยนน้อยๆ

20191014_110938.jpg
ห้องสมุดหลักของมหาลัย

การเรียนมหาลัยในเยอรมนีเกือบทุกวิชาจะไม่มีการเช็คชื่อ ไม่ต้องลงทะเบียนเรียนเพื่อเข้าฟังเลคเชอร์ อยากเรียนวิชาไหนก็เดินเข้าห้องเลคเชอร์ไปนั่งฟังได้เลย ที่ต้องลงทะเบียนก็มีแค่งานที่ต้องทำส่ง โปรเจคต์ หรือแล็บ แล้วก็การสอบ ถ้าวิชาไหนไม่ต้องทำงานส่ง จะไม่ไปเข้าเรียนเลย อ่านเองอย่างเดียว แล้วค่อยลงทะเบียนสอบ ไปเข้าสอบอย่างเดียวเลยก็ทำได้ หลายๆวิชาก็มีการอัดวิดีโอเลคเชอร์ให้เราดูย้อนหลังได้ด้วย ตอนที่เราเรียนป.ตรีเราก็แทบไม่เคยเข้าเรียนเลย ส่วนใหญ่จะเริ่มอ่านเตรียมสอบเอาช่วงใกล้ๆสอบด้วยซ้ำ (แต่ไม่แนะนำนะ 55) แต่ตอนป.โท เรามีไฟ มีความขยันมีความตั้งใจมากขึ้น ตั้งใจว่าจะพยายามเข้าเรียนให้ครบทุกคาบ เลยจัดตารางสอนเลือกวิชาที่เวลาเรียนไม่ทับซ้อนกัน ซึ่งสำหรับการเลือกวิชาเรียนนั้น ในหนังสือหลักสูตรและในเว็บไซต์ของคณะที่เราเรียนมันจะมีรายชื่อวิชาต่างๆทั้งวิชาบังคับและวิชาเลือกที่เราสามารถลงเรียนได้ลงเอาไว้อยู่ ในหนังสือหลักสูตรจะมีคำบรรยายเกี่ยวกับแต่ละวิชาให้อ่านนิดหน่อย ถ้าเราอยากอ่านรายละเอียดมากขึ้นก็สามารถตามไปอ่านต่อในเว็บไซต์ของสถาบันที่สอนวิชานั้นๆได้ มันจะมีบรรยายว่าวิชานี้เรียนอะไรบ้าง เปิดสอนในเทอมไหน ฤดูร้อนหรือฤดูหนาว มีเรียนวันไหนกี่โมง และควรเรียนวิชาอะไรมาก่อนก่อนที่จะมาเรียนวิชานี้ ฯลฯ

20190925_132422.jpg
ห้องอ่านหนังสือแห่งหนึ่งในบริเวณมหาลัย

วิชาที่เราเรียนในเทอมแรก ส่วนใหญ่เป็นวิชาบังคับ ซึ่งบางวิชาก็เป็นวิชาที่มีแต่นักเรียนป.โท บางวิชาก็มีนักเรียนส่วนใหญ่เป็นนักเรียนป.ตรี บางวิชานักเรียนเยอะมากเรียนกันในห้องบรรยายใหญ่ๆ บางวิชาก็เรียนกันในห้องเรียนเล็กๆมีนักเรียนแค่ประมาณยี่สิบคน หลายๆวิชาเรียนเป็นภาษาเยอรมันล้วน บางวิชาเรียนเป็นภาษาอังกฤษ บางวิชาก็เปิดสอนทั้งสองภาษา ในเทอมแรกของเรา มีวิชานึงที่เป็นวิชาที่เค้าเรียกว่า Auflagefach ซึ่งการที่จะอธิบายว่ามันคืออะไร เราต้องเท้าความไปก่อนว่าเวลาเราสมัครเรียนป.โท มหาลัยที่เราสมัครก็จะตรวจในใบจบดูว่าตอนป.ตรีเราเรียนวิชาอะไรมาบ้างและแต่ละวิชามีกี่หน่วยกิต แล้วตัวมหาลัยก็จะพิจารณาว่าสิ่งที่เราเรียนมามันเพียงพอที่จะรับเข้าคณะที่เราสมัครได้มั้ย ถ้าเค้าคิดว่าเราควรจะเรียนวิชาบางอย่างเพิ่มเติม ในใบตอบรับเข้ามหาลัยเค้าก็จะบอกว่าเค้ารับเราเข้าเรียนป.โทด้วยเงื่อนไขที่ว่านอกจากวิชาที่เรียนในป.โทแล้ว เราต้องสอบวิชานี้ๆๆให้ผ่านด้วย ถึงจะสามารถจบป.โทได้ ซึ่งวิชาเหล่านี้ก็คือวิชาที่เค้าเรียกว่า Auflagefach นั่นเอง ซึ่งปกติแล้วก็จะเป็นวิชาของป.ตรี ซึ่งสำหรับ Auflagefach นี้ แค่เราสอบผ่านก็พอแล้ว ตัวเกรดจะไม่ได้ถูกนำไปคำนวณรวมกับเกรดจบของป.โท

20200117_143856.jpg
ห้องอ่านหนังสือสำหรับนักศึกษาที่มีลูก แต่ถ้าห้องว่างคนอื่นๆก็เข้ามาใช้ได้

วิชาที่เราเรียนไปในเทอมที่ผ่านมาจะมีทั้งคาบที่เป็นเลคเชอร์หรือเรียนทฤษฎี กับคาบที่เป็นการทำแบบฝึกหัด บางวิชาก็จะมีการบ้านให้เราส่งซึ่งเราสามารถทำส่งหรือไม่ส่งก็ได้ แต่ว่าถ้าทำส่ง คะแนนที่เราได้จากการส่งการบ้านก็จะเป็นคะแนนโบนัสที่จะถูกเอาไปบวกกับคะแนนสอบปลายภาคของเราเพื่อให้ได้เกรดดีขึ้น การบ้านที่ว่านี้บางวิชาก็จะเป็นการบ้านแบบกลุ่ม คืออาจจะเป็นการช่วยกันทำแบบฝึกหัดส่งรายสัปดาห์ หรืออาจจะเป็นชิ้นงานที่ต้องช่วยกันทำส่งแค่ชิ้นเดียวต่อเทอม บางวิชาก็เป็นการบ้านแบบเดี่ยว ซึ่งในกรณีนี้ส่วนใหญ่ก็จะเป็นการทำแบบฝึกหัดออนไลน์ที่ระบบจะสามารถตรวจคำตอบให้ได้เอง ไม่ต้องใช้คนตรวจ นอกจากการบ้านแล้ว บางวิชาก็ยังมีงานพรีเซนต์ด้วย หนึ่งในวิชาที่เราต้องพรีเซนต์ เราต้องหาเปเปอร์ที่มีหัวข้อเกี่ยวกับวิชาที่เรียนแล้วก็จับคู่กับเพื่อนอีกคนพรีเซนต์เปเปอร์นี้ออกมา ส่วนในอีกวิชาที่มีการพรีเซนต์ โปรเฟสเซอร์จะเป็นคนหาเปเปอร์มาให้แล้วก็เป็นการพรีเซนต์เดี่ยว พอพรีเซนต์เสร็จก็ต้องตอบคำถามของคนฟังกับของคนสอนนิดหน่อย สำหรับทั้งสองวิชานี้ คะแนนจากการพรีเซนต์จะถูกนำไปรวมกับคะแนนสอบปลายภาคเพื่อตัดเกรด

20191014_112330.jpg
อาคารต่างๆที่เป็นหน่วยงานย่อยๆของมหาวิทยาลัย RWTH จะตั้งกระจัดกระจายไปในตัวเมือง บางตึกก็เป็นตึกทั่วๆไป ถ้าไม่บอกหรือไม่เห็นป้ายชื่อมหาลัยสีน้ำเงินตรงข้างประตูก็ไม่รู้ว่าตึกนี้เป็นตึกของมหาลัย

ในส่วนของการสอบ วิชาส่วนใหญ่ก็จะเป็นข้อสอบแบบเขียน ซึ่งระยะเวลาของการสอบกับความยากง่ายของตัวข้อสอบก็จะแตกต่างกันไปตามหน่วยกิตของแต่ละวิชา ถ้าเป็นวิชาไหนที่มีนักเรียนน้อยๆเค้าอาจจะจัดสอบแบบเป็นสอบพูดถามตอบแทน ซึ่งการสอบแบบสอบพูดปากเปล่านี้คนสอบมักจะได้เกรดดีกว่าการสอบแบบเขียน ถ้าเราอยากจะสอบวิชาไหนเราต้องลงทะเบียนเพื่อสอบวิชานั้นๆก่อนผ่านทางเว็บ RWTH online แล้วถ้าเกิดว่าเราเปลี่ยนใจทีหลัง ไม่อยากสอบละ ก็สามารถไปยกเลิกที่ลงทะเบียนไว้ได้ในเว็บนี้เหมือนกัน แต่เราสามารถยกเลิกได้อย่างช้าไม่เกินสามวันก่อนวันสอบ ถ้าจะยกเลิกหลังจากนั้นสามารถทำได้แค่ในกรณีที่เราป่วยและมีใบรับรองแพทย์มายืนยัน อีกอย่าง มหาลัยหลายๆแห่งในเยอรมนีจะจัดสอบตอนช่วงปิดเทอม ซึ่ง RWTH ก็เป็นหนึ่งในนั้น หมายความว่าพอปิดเทอมแล้ว ไม่มีการเรียนเลคเชอร์แล้ว เราจะมีเวลาว่างช่วงปิดเทอมให้อ่านหนังสือเตรียมสอบได้ ถ้าเราอยากมีเวลาอ่านหนังสือเตรียมสอบตอนปิดเทอมเยอะๆ เราก็พยายามเลือกวิชาที่สอบให้วันสอบห่างๆกันเข้าไว้ แต่สำหรับเราที่อยากสอบให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ก็เลือกวิชาสอบแบบไม่สนวันสอบเลย บางวิชาก็สอบติดๆกันมาก อย่างตอนเทอมที่ผ่านมา เรามีสี่วิชาที่ต้องสอบภายในช่วงเวลาแค่อาทิตย์เดียว =.=” ซึ่งในสี่วิชานั้น สองวิชาแรกวันสอบติดกันเลย และสองวิชาหลังวันสอบก็ติดกันเลยเช่นกัน หมายความว่าเราต้องเตรียมสอบมาให้พร้อมตั้งแต่ก่อนปิดเทอมแล้ว ถ้ามาเริ่มอ่านหนังสือเอาตอนปิดเทอมไม่ทันแน่ ซึ่งจริงๆก็เกือบเอาตัวไม่รอดเหมือนกัน มีวิชานึงที่สอบผ่านมาได้แบบฉิวเฉียดแบบถ้าขาดไปอีกแค่หนึ่งคะแนนก็จะตกแล้ว แต่วิชาอื่นๆก็ได้เกรดดีแบบน่าพอใจเลยทีเดียวนะ อุอิ แถมยังมีตั้งสองวิชาที่ได้เกรด 1.00 (ที่เทียบเท่ากับเกรด 4.00 ของไทย) ซึ่งช่วยฉุดเกรดเฉลี่ยรวมจากเกรดของวิชาที่เกือบตกขึ้นมาเยอะเลย ตอนนี้เหลืออีกสองวิชาที่คะแนนยังไม่ออก ถ้าผ่านทั้งสองวิชานี้ก็ถือว่าแผนการเรียนที่เราวางไว้ในเทอมแรกสำเร็จลุล่วงไปอย่างที่วางแผนไว้

20200227_174101.jpg
ตึกหนึ่งของมหาลัยท่ามกลางหิมะ

จากการเรียนเทอมที่ผ่านมาทำให้เราค้นพบว่าการวางแผนเรียนอย่างละเอียดตั้งแต่ก่อนเปิดเทอมมันได้อารมณ์เหมือนกับการวางแผนเที่ยวเลย คือเวลาเราไปเที่ยว บางทีเราไม่เคยรู้เรื่องเกี่ยวกับประเทศนั้นๆเลย แต่พอเราได้ลองหาข้อมูล ลองวางแผนแบบจริงๆจังๆแล้ว ไปๆมาๆมันจะทำให้เราเกิดความรู้สึกอินขึ้นมาเอง และอยากทำตามแผนนั้นให้สำเร็จตามเป้าขึ้นมาเอง ถ้าเทียบกับเทอมที่ผ่านมา ขั้นแรกคือการวางแผนหางาน พอหาไปเรื่อยๆแล้วก็อิน อยากมีทักษะนู่นนี่นั่นให้ตรงกับเป้าหมายของงานที่เราสนใจ ขั้นต่อไปคือการวางแผนการเรียนและการเลือกวิชา พอได้ทำความเข้าใจกับวิชาต่างๆ ได้ลองจัดตารางเรียนแล้วก็มีความรู้สึกว่าอยากจะเรียนอยากจะสอบให้ผ่านได้ตามที่วางแผนไว้ ไม่รู้คนอื่นเป็นเหมือนเรารึเปล่านะ แต่จากที่เคยเป็นคนค่อนข้างขี้เกียจตอนช่วงเรียนป.ตรี พอผ่านจุดที่วางแผนการเรียนเยอะๆตอนช่วงเข้าป.โทมา มันเหมือนจุดไฟติด แล้วมันก็กลายเป็นไฟลุกยาวมาเลย กลายเป็นคนค่อนข้างขยัน เข้าเรียน(เกือบ)ทุกวิชาและทุกคาบ และตั้งใจทบทวนบทเรียน ตั้งใจอ่านหนังสือสอบไปเลย พอชีวิตดำเนินแบบนี้ไปเรื่อยๆ ความรู้สึกว่าเรากลายเป็นคนขยันมันก็จะเพิ่มมากขึ้น จนพอมันเพิ่มไปจนถึงระดับหนึ่ง มันเหมือนกับว่าเราก็จะเชื่อว่าเราเป็นคนขยัน แล้วเราก็จะกลายเป็นคนขยันจริงๆ ใครมีปัญหาหมดไฟหรือขี้เกียจเรียนก็จะลองทำแบบเราดูก็ได้ อาจจะจุดไฟติดแบบเราก็ได้นะ 555 แต่เราคิดว่ายังไงสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการทำสิ่งที่เราชอบนะ ถ้าเราทำสิ่งที่เราชอบ เราว่าการจะจุดไฟให้ติดน่าจะไม่ใช่เรื่องยากแน่นอน

20200227_174442.jpg

เอาล่ะตอนนี้ก็หมดเรื่องเกี่ยวกับการเรียนในเทอมแรกที่เราอยากจะเล่าละ จริงๆอยากเล่าเรื่องชีวิตนอกมหาลัยด้วยแต่ว่าไม่มีอะไรให้เล่า 555 ไม่ได้ทำกิจกรรมของมหาลัยหรือพบปะสังสรรค์กะใครเลยนอกจากกับกรุ๊ปนักเรียนไทยคนอื่นๆ เพราะฉะนั้นก่อนที่จะจบโพสต์นี้ลง มีอีกเรื่องนึงที่เราอยากจะเล่า คือที่เราบอกไว้ตอนต้นๆโพสต์ว่าอยากจะไปแลกเปลี่ยน จริงๆแล้วสิ่งนี้เป็นเหตุผลใหญ่ที่สุดที่ทำให้เรามาเรียนป.โทเลย คือจริงๆเราอยากไปแลกเปลี่ยนตั้งแต่ตอนเรียนป.ตรีแล้วแต่ว่าตอนนั้นอยากรีบเรียนให้จบมากกว่า เพราะว่าด้วยความที่เป็นการเรียนมหาลัยในเยอรมันครั้งแรก และด้วยความที่ไม่เคยมีปริญญามาก่อน ทำให้เรากลัวมากว่าจะเรียนไม่จบและจะไม่มีปริญญาซักใบเลยในชีวิต เลยคิดว่ายังไม่ไปแลกเปลี่ยนละกัน ขอรีบๆเรียนให้จบก่อน แล้วถ้าได้เรียนต่อป.โท ไว้ค่อยไปแลกเปลี่ยนตอนนั้นเอา ซึ่งพอจบป.ตรีมาได้แล้วมันทำให้เรามีความรู้สึกว่า จริงๆเราก็ทำได้ เรียนจบมหาลัยเยอรมันได้! พอมาเรียนป.โทเลยผ่อนคลายมากขึ้น ไม่เครียดว่าจะเรียนไม่จบเท่าตอนเรียนป.ตรี คือตอนนี้เรารู้สึกว่าน่าจะเรียนจบแน่แหละ แค่ว่าจะได้เกรดเท่าไหร่ แล้วตอนนี้ในเมื่อเราได้มาเรียนต่อป.โทจริงๆแล้ว ความตั้งใจอยากจะไปแลกเปลี่ยนก็เลยกลับมาอีกครั้ง ซึ่งการที่จะไปแลกเปลี่ยนเนี่ย มันก็มีโครงการต่างๆของมหาลัยเยอะแยะมากมายที่เราสามารถจะสมัครไปได้ หนึ่งในโครงการที่เป็นที่นิยมมากที่สุดก็คือโครงการ ERASMUS+ ซึ่งเป็นโครงการสำหรับนักเรียนในมหาวิทยาลัยต่างๆในประเทศ EU เพื่อไปแลกเปลี่ยนที่มหาวิทยาลัยในประเทศอื่นใน EU เดี๋ยวไว้เราจะมาเล่าเรื่องโครงการแลกเปลี่ยนต่างๆนี้เพิ่มเติมในโพสต์หน้าละกัน สำหรับตอนนี้ มีเรื่องสุดท้ายอีกเรื่องเดียวที่อยากจะบอกคือ… เราจะได้ไปแลกเปลี่ยนเป็นเวลาหนึ่งเทอมที่มหาวิทยาลัย Sapienza University of Rome ในกรุงโรม ประเทศอิตาลี!!! เพิ่งรู้ผลเมื่ออาทิตย์ที่แล้วนี่เอง ดีใจมากๆ เหมือนฝันเป็นจริง T.T ก็คือเป็นฝัน ที่เคยฝัน ที่ไม่กล้าฝัน ที่คนธรรมดาคนนึงไม่กล้าฝัน โอเคแค่นี้ก่อน 55555 เริ่มเพ้อเจ้อ เดี๋ยวโพสต์หน้าจะกลับมาเล่าเรื่อง ERASMUS+ ให้ฟังต่อ

20200227_174526.jpg

กิจกรรมรับน้องที่ RWTH Aachen

เมื่อโพสต์ที่แล้วเราเล่าเรื่องตัวเมือง Aachen ที่เราย้ายมาเรียนต่อปริญญาโทไปนิดหน่อยละ เดี๋ยวโพสต์นี้จะเริ่มเล่าในส่วนของมหาลัยกัน ซึ่งก็คือมหาวิทยาลัย Rheinisch-Westfälische Technische Hochschule Aachen หรือตัวย่อก็คือ RWTH Aachen เริ่มที่เรื่องการรับน้อง หลักจากที่มหาลัยตอบรับเรามา มหาลัยก็จะส่งอีเมลล์ชวนไปงานรับน้องมาเป็นระยะๆ งานรับน้องที่ว่านี้จะมีสองงาน งานแรกที่จัดก่อนจะเป็นงานรับน้องสำหรับนักเรียนที่มาจากต่างชาติทุกคนไม่ว่าจะมาแลกเปลี่ยนหรือว่ามาเรียนแบบเต็มหลักสูตร ส่วนงานที่สองที่จัดในสัปดาห์ถัดไปจะเป็นสำหรับนักเรียนทุกคน ทั้งเยอรมัน ต่างชาติ ป.ตรี ป.โท แต่จะแบ่งกันจัดไปตามคณะต่างๆ ซึ่งงานทั้งสองงานนี้ใครจะมาหรือไม่มาเข้าร่วมก็ได้ไม่บังคับ แต่สำหรับงานรับน้องของนักเรียนต่างชาติ เค้าเขียนมาในอีเมลล์ชวนเลยว่าเค้าคาดหวังว่าทุกคนจะมา

thumbnail_image002

งานรับน้องสำหรับนักเรียนต่างชาติมีชื่อว่า RWTH Welcome Week for new international students ซึ่งจะจัดยาวๆไปห้าวัน หน่วยงานที่จัดงานนี้จะเป็นสมาคมนักเรียนชาวต่างประเทศของมหาลัย ในหนึ่งอาทิตย์นี้ก็จะมีกิจกรรมต่างๆในแต่ละวันให้เข้าร่วม วันจันทร์จะเป็นพิธีเปิดงาน ซึ่งก็จะมีอธิการบดีของมหาลัยกับตัวแทนสมาคมนักเรียนต่างชาติมาพูดต้อนรับ แนะนำหน่วยงานต่างๆและบรรยายการใช้ชีวิตในมหาลัยให้ฟัง เสร็จแล้วก็จะมีพาทัวร์แคมปัสกับห้องสมุดของมหาลัย ซึ่งต้องลงทะเบียนล่วงหน้าก่อนถึงเข้าร่วมได้ แต่ทัวร์นี้จะมีจัดทุกวัน ลงทะเบียนเข้าร่วมทัวร์ของวันไหนก็ได้ และในตอนกลางคืนก็จะมี Movie Night ให้ทุกคนไปร่วมดูหนังกัน

ช่วงเช้าวันอังคารจะเป็นการฟังบรรยายเรื่องการเรียนที่มหาลัย ส่วนช่วงค่ำจะเป็นกิจกรรม German country evening ที่อารมณ์เหมือนฟังบรรยายเรื่องราวต่างๆของความเป็นอยู่และวัฒธรรมประเพณีต่างๆของประเทศเยอรมนีและปิดท้ายด้วยบุฟเฟต์อาหารเยอรมันกินฟรี

ช่วงเช้าวันพุธจะมีบูธของหน่วยงานต่างๆของมหาลัยและคณะต่างๆมาตั้ง ซึ่งเราสามารถไปสอบถามเรื่องต่างๆจากตัวแทนของแต่ละบูธได้

วันพฤหัสจะเป็นวันกิจกรรมแข่งกีฬา และคืนวันพฤหัสจะเป็น Karaoke evening ที่เค้าจะปิดร้านอาหารกินเลี้ยงกันและมีจอคาราโอเกะใหญ่ๆให้ไปร้องเพลงกันได้

วันศุกร์กิจกรรมเป็นยังไงไม่แน่ใจเพราะไม่ได้ไป อิอิ

สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมของ RWTH Welcome Week for new international students ได้ที่เว็บนี้ https://www.rwth-aachen.de/cms/root/Studium/Vor-dem-Studium/Internationale-Studierende/~bpqj/Welcome-Week-fuer-internationale-Studier/?lidx=1 

20190923_100031.jpg

สำหรับกิจกรรมรับน้องรวมแบบแยกคณะนั้นจะมีชื่อว่า Erstiwoche ซึ่งจะมีระยะเวลาสี่วันและจัดโดยสมาคมนักเรียนของคณะนั้นๆ เช้าวันแรกก็จะเป็นการกล่าวต้อนรับจากอธิการบดีของมหาลัยและคณบดีของคณะในห้องมืดๆเหมือนเวทีคอนเสิร์ต เสร็จแล้วก็จะมีเด็กรุ่นพี่วิ่งกรูกันเข้ามาในห้องประชุมพร้อมกับตะโกนโห่ร้องสลับกับบูมไปเรื่อยๆ ก็เป็นบรรยากาศที่ฮึกเหิมมาก แต่ว่าเราผ่านบรรยากาศแบบนี้มาหลายรอบตั้งแต่ตอนรับน้องเข้าม.สี่แล้ว เลยไม่ค่อยตื่นเต้นเท่าไหร่ละ 555 หลังจากจุดนี้ไปก็จะเป็นกิจกรรมของนักเรียนละ ก็จะมีพิธีการชายหญิงคอยเอนเตอร์เทนและดำเนินรายการ แล้วบนเวทีหน้าห้องประชุมเค้าก็จะจัดเหมือนเป็นเกมโชว์ มีการขออาสาสมัครนักเรียนใหม่มาร่วมเล่นเกม หมุนกงจักรเพื่อเลือกเกม มีอาจารย์มหาลัยมาเล่นแข่ง อะไรประมาณนี้ ก็สนุกสนานเฮฮากันไป พอเสร็จกิจกรรมตรงนี้แล้วเค้าก็จะแบ่งนักเรียนเป็นกลุ่มๆไปเจอกับรุ่นพี่ประจำกลุ่ม ซึ่งตรงจุดนี้เค้าจะแบ่งเป็นกลุ่มนักเรียนป.โทกับป.ตรี พอเข้ากลุ่มแล้วเค้าก็จะมีเบียร์แจกให้คนละขวด แล้วก็มีการแนะนำตัวนิดนึง แล้วรุ่นพี่ประจำกลุ่มก็จะพาเราเดินไปยังร้านที่จองไว้แล้วก็จะกินข้าวกัน ระหว่างนั้นก็สามารถพูดคุย ทำความรู้จัก หรือถามนู่นถามนี่กันได้ เราโชคดีที่รุ่นพี่ประจำกลุ่มเราเรียนคณะเดียวกันซึ่งก็คือคณะ Automation Engineering พอดี เลยถามเรื่องเรียนได้เยอะเลย พอกินข้าวเสร็จก็แยกย้าย ใครจะไปไหนกับใครต่อก็แล้วแต่อัธยาศัย

วันที่สองจะเป็นกิจกรรมทัวร์สถาบันของมหาลัย ซึ่งพี่กลุ่มจะเป็นคนพาเดินไปและนักวิจัยที่ทำงานอยู่ที่สถาบันนั้นก็จะพาเราเดินทัวร์และบรรยายไปเรื่อยๆ ถ้าใครสนใจหัวข้องานวิจัยไหนก็สามารถสมัครมาทำงานพิเศษหรือทำธีสิสที่สถาบันที่เราสนใจได้ เย็นวันที่สองจะเป็นการปิคนิคในสวนรวมกับกลุ่มรับน้องกลุ่มอื่นๆ แต่อันนี้เราไม่ได้ไป

วันที่สามจะเป็นการฟังบรรยายเกี่ยวกับการเรียนในมหาลัย โดยที่คนบรรยายก็จะเป็นรุ่นพี่ในคณะ ปิดท้ายด้วยบาร์บีคิวกลางแจ้ง

วันที่สี่ซึ่งเป็นวันสุดท้ายเป็นวันกิจกรรมเข้าฐาน คล้ายๆเข้าฐานแบบรับน้องที่ไทยแต่ว่าที่นี่ลงทุนกับเครื่องเล่นต่างๆมากกว่ามาก มีแบบบ้านเป่าลม เครื่องวัวกระทิงที่ขึ้นไปขี่แล้วมันจะดิ้นๆให้เราหลุด อะไรอย่างงี้ด้วย แล้วแต่ละฐานก็จะกระจัดกระจายไปตามจุดต่างๆทั่วมหาลัย เสร็จจากฐานนึงก็เดินไปกับกลุ่มรับน้องไปเล่นฐานต่อไปต่ออะไรอย่างงี้ วันนั้นเราก็ไปร่วมกิจกรรมตอนเริ่ม แต่ผ่านไปซักพักก็รู้สึกเบื่อ รู้สึกว่าเราเลยวัยที่จะสนุกกับอะไรพวกนี้มาแล้ว 555 อีกอย่างคือไม่สนิทกับคนอื่นๆในกลุ่มเท่าไหร่ด้วย คุยไม่ถูกคอ เลยไม่สนุก ก็เลยกลับมาก่อน

สำหรับความประทับใจส่วนตัวของเราต่องานรับน้องทั้งสองของมหาลัยนี้ บอกตรงๆว่าไม่ค่อยอินเท่าไหร่เพราะเคยผ่านกิจกรรมรับน้องมาหลายครั้งแล้วและน่าจะเพราะแก่แล้วด้วย 555 กิจกรรมรับน้องที่เยอรมันก็เคยผ่านมาแล้วครั้งนึงตอนป.ตรี ซึ่งเราได้เขียนเล่าไว้ในโพสต์นี้ กิจกรรมรับน้องในเยอรมนี (ตอนนั้นคือยังอินและตื่นเต้นอยู่เพราะฉะนั้นแนะนำให้อ่านโพสต์นั้นด้วย น่าจะมีสาระเยอะกว่า 55) แล้วอีกอย่างตอนช่วงรับน้องของนักเรียนต่างชาติ เรายังสองจิตสองใจอยู่เลยว่าจะเรียนต่อโทหรือจะทำงานดี เลยไม่ได้ไปร่วมกิจกรรมอะไรเท่าไหร่ ไปแค่สองวันแรก แถมไม่ได้ทำความรู้จักใครเลย 5555 ตอนรับน้องรวมมันดีตรงที่มีการแบ่งเป็นกลุ่มย่อย ทำให้ทำความรู้จักกันได้ง่ายขึ้น แต่ก็อย่างที่บอกว่าคุยกับคนอื่นในกลุ่มไม่ถูกคอ สุดท้ายก็ไม่ได้รู้จักใครจริงๆจังๆอยู่ดี 555 นอกจากพี่กลุ่มคนนึงที่เป็นคนเฟรนด์ลี่และเฮฮาสุดๆ เป็นคนที่น่าคบเป็นเพื่อนมากๆ

20191001_192231

ในช่วงก่อนเปิดเทอม นอกจากการรับน้องแล้ว ก็ยังมีงานเอกสารอื่นๆที่ต้องจัดการอีก เช่นการลงทะเบียนเรียน การสมัครหรือต่ออายุประกันสุขภาพ และการโอนเงินค่าเรียน ในส่วนของการลงทะเบียนเรียน เราจะได้รับอีเมลล์จากมหาลัยที่จะบอกขั้นตอนต่างๆในการลงทะเบียนเรียนและการโอนเงินค่าเรียนมาให้ซึ่งสามารถทำตามได้อย่างไม่ยุ่งยาก ส่วนในส่วนของประกันสุขภาพเราก็เลือกมาซักบริษัทแล้วก็เดินไปสมัครแบบตัวต่อตัวที่สาขาของบริษัทนั้นในเมืองที่เราอาศัยอยู่ได้เลย หลังจากลงทะเบียนเรียนเสร็จ โอนเงินค่าเทอมอะไรเสร็จแล้ว เราก็จะได้อีเมลล์แจ้งขั้นตอนต่างๆต่อไป แล้วสุดท้ายเราก็จะได้บัตรนักเรียนมาหนึ่งใบ และบัตรโดยสารขนส่งมวลชนมาอีกหนึ่งใบ ซึ่งบัตรนี้เราสามารถใช้ขึ้นรถบัสท้องถิ่น รถไฟใต้ดิน และรถไฟท้องถิ่นในรัฐ North Rhine-Westphalia ได้ฟรีทั้งรัฐได้ตลอดทั้งเทอมเลย

จบเรื่องของกิจกรรมต่างๆช่วงก่อนเปิดเทอม เดี๋ยวโพสต์ต่อไปจะเป็นเรื่องของการเรียนจริงๆละ ไปติดตามต่อกัน

20200115_111643.jpg
อาหารหลักของมหาวิทยาลัย RWTH Aachen