รีวิวการเขียนธีสิสจบป.ตรีที่เยอรมนี

สวัสดีคุณผู้อ่านอีกครั้งหลังจากหายไปนานร่วมสองเดือน มีหลายสิ่งเกิดขึ้นมากมาย เดี๋ยวไว้มาตามเล่าทีหลังถ้ามีเวลา สำหรับโพสต์นี้ไว้เล่าเรื่องประสบการณ์การเขียนวิทยานิพนธ์หรือธีสิสจบป.ตรีที่มหาวิทยาลัย Karlsruhe Institute of Technology (KIT) ของเรากันก่อนโนะ เดี๋ยวจะเล่าเป็น Timeline ตั้งแต่ต้นจนจบเท่าที่จำได้มาเลยละกัน ประสบการณ์ที่เราเล่าก็จะเป็นประสบการณ์จากมหาวิทยาลัยของเรา มหาวิทยาลัยอื่นจะเป็นเหมือนกันรึเปล่าก็ไม่แน่ใจเหมือนกันนะ ถ้านักเรียนไทยในเยอรมนีคนอื่นแวะมาอ่านเจอก็มาเล่าในคอมเมนต์ได้โนะ

การเตรียมตัว

เริ่มต้นก็จะเป็นเรื่องของการวางแผนช่วงเวลาการเขียนธีสิสเนอะ คือสำหรับป.ตรีคณะ Mechatronics ของมหาวิทยาลัย KIT ที่เราเรียนอยู่เนี่ย ถ้าเราสอบผ่านวิชาบังคับทุกวิชายกเว้นวิชาเดียว (วิชาไหนก็ได้) เราก็สามารถทำธีสิสได้แล้ว แต่ส่วนตัวเรารอสอบให้เกือบครบทุกวิชาก่อนค่อยทำ ตอนเทอมก่อนสุดท้ายของเรา เราเหลือวิชาที่ต้องสอบอีกสามวิชา เป็นวิชาเลือกหมด ตอนแรกลังเลว่าจะรอสอบสามวิชานี้ให้ผ่านก่อนแล้วค่อยเริ่มทำธีสิสดีมั้ย แต่ว่าหลังจากปรึกษากับเพื่อนๆคนที่ทำธีสิสเสร็จแล้วก็ได้ความว่าเริ่มทำไปเลยดีกว่าไม่ต้องรอสอบเสร็จหมดก่อนหรอก เพราะว่าที่ปรึกษาเค้าไม่ซีเรียสว่าจะเสร็จเมื่อไหร่ ช่วงที่มีสอบเราจะหยุดไปอ่านหนังสือก่อนค่อยกลับมาทำต่อหลังสอบเสร็จก็ได้ อะไรอย่างนี้ ก็เลยตามนั้น เริ่มหาหัวข้อทำธีสิสตั้งแต่เทอมนั้นเลย ส่วนในส่วนของระยะเวลาสำหรับการทำธีสิส คณะเราเค้ากำหนดว่าหกเดือนสำหรับคนที่ทำไปด้วยเรียนไปด้วย แล้วก็สามเดือนสำหรับคนที่ไม่มีเรียนไม่มีสอบแล้ว ทำธีสิสอย่างเดียว แต่อันนี้ก็ต้องไปตกลงกับที่ปรึกษาอีกทีว่าจะอะไรยังไง บางคนก็ไม่ได้ซีเรียสมาก ทำเกินกำหนดยาวๆก็ได้ อันนี้ต้องไปหาถามจากเพื่อนๆกับพี่ๆในคณะหรือในมหาลัยเอาเองว่าคนไหนเข้มงวด คนไหนสบายๆ และมีคำแนะนำอะไรบ้าง

ที่เยอรมนีนี้จะมีมหาวิทยาลัยสองแบบ คือแบบ Universität (Uni) ที่จะไปทางแนววิจัย เรียนทฤษฎีเยอะ กับแบบ Fachhochschule (FH) ที่จะไปทางแนวปฏิบัติ เรียนทฤษฎีน้อย ปกติที่มหาวิทยาลัยแบบ FH นักเรียนต้องหาหัวข้อทำธีสิสเอง อาจจะคิดเองหรือว่าไปหาทำกับบริษัทต่างๆก็ได้ แล้วก็เอาหัวข้อนั้นมาหาที่ปรึกษาที่มหาวิทยาลัยเอง ถ้าใครทำธีสิสกับบริษัทก็จะมีที่ปรึกษาสองคน คือที่ปรึกษาที่บริษัทคนนึง กับที่ปรึกษาที่มหาวิทยาลัยอีกคนนึง ส่วนที่มหาวิทยาลัยแบบ Uni จะมีสถาบันวิจัยต่างๆของตัวเองซึ่งแต่ละสถาบันก็จะมีหัวข้อวิจัยต่างๆลงประกาศไว้ในเว็บให้เราเลือกไปทำธีสิสได้อยู่แล้ว ถ้าเราสนใจหัวข้อไหนเราก็สามารถติดต่อกับนักวิจัยที่ลงประกาศหัวข้อนั้นไว้ได้ ซึ่งนักวิจัยเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็จะเป็นนักเรียนป.เอกที่กำลังทำงานป.เอกแล้วหานักเรียนป.ตรีกับป.โทมาช่วยทำงานวิจัยของตัวเองนั่นเอง เค้าจะเอาบางส่วนของงานวิจัยของเค้ามาประกาศหานักเรียนป.ตรีกับป.โทมาช่วยทำ การทำอย่างนี้ ตัวเค้าก็ได้ผลประโยชน์คือมีคนมาช่วยทำงาน แล้วก็มีประวัติว่าเคยเป็นที่ปรึกษาให้คนอื่น ส่วนนักเรียนป.ตรีกับป.โทที่มาช่วยทำก็ได้ผลประโยชน์คือได้หัวข้อและได้ที่ปรึกษาสำหรับทำงานธีสิสจบ แต่ว่าถ้าเราเรียนมหาวิทยาลัยแบบ Uni แล้วอยากจะคิดหัวข้อธีสิสเองหรืออยากจะไปทำธีสิสกับบริษัทข้างนอกก็ทำได้ แต่ว่าต้องเอาหัวข้อนั้นไปติดต่อหานักวิจัยในมหาวิทยาลัยมาเป็นที่ปรึกษาเอาเอง

kitjpg

มหาวิทยาลัย KIT ที่เราเรียนอยู่เป็นมหาวิทยาลัยแบบ Universität เพราะฉะนั้นเราจะเล่าประสบการณ์ของมหาวิทยาลัยแบบนี้โนะ หลังจากที่เราไปดูประกาศตามสถาบันวิจัยต่างๆในมหาลัยของเราจนเจอหัวข้อที่สนใจแล้วเราก็ต้องเขียนอีเมลล์ไปหานักวิจัยคนที่ลงประกาศนั้นไว้ว่าฉันสนใจและอยากทำธีสิสหัวข้อนี้ที่คุณลงประกาศไว้นะ อะไรอย่างนี้ ส่วนใหญ่ก็จะต้องแนบใบเกรดกับ CV ไปด้วย ซึ่งนักวิจัยบางคนก็ตอบกลับมาเร็ว บางคนตอบช้า บางคนก็ไม่ตอบมาเลย ก็ต้องเขียนอีเมลล์ไปหาหลายๆคนหน่อยหรือไม่ถ้าใจร้อนหรือมีแพชชั่นสูงก็ไปคุยกับนักวิจัยคนนั้นที่ห้องทำงานเลยก็ได้ ถ้าเกิดว่านักวิจัยคนที่เราติดต่อไปเค้าสนใจ เค้าก็จะเรียกเรามาสัมภาษณ์นิดหน่อย อารมณ์แบบสัมภาษณ์งาน เคยทำอะไรมาบ้าง เรียนอะไรมาบ้าง ชอบอะไร ทำไมสนใจหัวข้อนี้ ฯลฯ จะโดนสัมภาษณ์ละเอียดแค่ไหนก็แล้วแต่นักวิจัยแต่ละคนเลย แล้วก็ถ้ามีคนสนใจหัวข้อนี้หลายคน เค้าก็จะกลับไปคิดก่อนแล้วก็จะบอกเราอีกทีว่าเค้าเลือกเรารึเปล่า จากประสบการณ์ของเรา เราเขียนเมลล์ไปหลายคนมาก แต่ละคนรอเป็นอาทิตย์กว่าจะตอบเมลล์มา บางคนก็ไม่ตอบ เราไปสัมภาษณ์กับนักวิจัยมาสี่คน คนแรกคือดูชิวมาก ถามแค่ประมาณว่าเรียนคณะอะไร ใช้โปรแกรมนี้เป็นมั้ยอะไรอย่างนี้ แล้วก็เล่างานวิจัยของเค้าให้ฟังคร่าวๆแล้วก็เล่าว่าส่วนที่เค้าจะให้เรามาช่วยทำคืออะไร อะไรประมาณนี้ ซึ่งงานนี้ก็น่าสนใจ เป็นแนวใช้โปรแกรม Simulation ที่เราชอบ แต่แอบไม่ค่อยตรงกับที่เรียนมาเท่าไหร่ เราบอกเค้าว่ายังมีสัมภาษณ์กับอีกสามคน ขอเวลาถึงวันนี้แล้วจะบอกอีกที

งานที่สอง เป็นหัวข้อที่น่าสนใจมาก เป็นแนวทดลองและทำ Simulation เช่นกัน ทำแบบจำลองจากข้อมูลที่ได้จากการทดลองอะไรอย่างนี้ ซึ่งต้องใช้โปรแกรมและการคำนวณหลายอย่างเลย เอาจริงๆแอบฟังดูยากและซับซ้อนแต่ก็น่าสนใจ และคิดว่าน่าจะได้เรียนรู้อะไรเยอะ ในส่วนของนักวิจัยเจ้าของหัวข้อนี้ก็เป็นคนที่เป็นงานเป็นการมากที่สุดในทั้งสี่คนที่เราไปสัมภาษณ์มาเลย เค้าถามละเอียดมากยังกับสัมภาษณ์งานเลย ดู CV ดูใบเกรดแล้วก็ถามว่าวิชานี้เป็นยังไงๆเรียนอะไร เคยทำอะไรมาบ้าง ใช้โปรแกรมนี้เป็นมั้ย อะไรอย่างนี้ แล้วก็เล่ารายละเอียดงานวิจัยของเค้าให้ฟังคร่าวๆแล้วก็เล่าว่าจะให้เราทำอะไร แล้วก็พาไปดูตัวโมเดลและเครื่องมือต่างๆที่เราจะได้ใช้ในการทำธีสิส แล้วก็ปิดท้ายด้วยการบอกว่าถ้าเราตัดสินใจว่าอยากทำงานชิ้นนี้ก็ให้ไปเขียน Research Proposal แบบง่ายๆมา คือให้ไปเขียนว่าเราเข้าใจที่เค้าบอกว่ายังไงบ้าง งานวิจัยนี้คืออะไรยังไงและงานที่เราต้องทำคืออะไร และเราจะวางแผนการทำงานของเรายังไง จะจัดเวลายังไง จะทำอะไรช่วงไหน เขียนส่งมาให้เค้า แล้วเค้าจะอ่านแล้วเลือกอีกทีว่าใครจะได้ทำธีสิสหัวข้อนี้ จริงจังไปอีก

งานที่สาม เป็นหัวข้อที่น่าสนใจมากอีกอัน เป็นหัวข้อเกี่ยวกับการหา Algorithm สำหรับใช้ควบคุมหุ่นยนต์หลายๆตัวให้ทำงานร่วมกัน ออกแนวเขียนโปรแกรม นักวิจัยเจ้าของหัวข้อนี้เป็นผู้หญิง ดูใจดีและอ่อนโยนน่าให้เป็นที่ปรึกษามากที่สุดจากในทั้งสี่คนเลย แถมยังพูดภาษาเยอรมันแบบชัดถ้อยชัดคำ ฟังง่ายมาก คนนี้ถามคำถามสัมภาษณ์แอบละเอียดอยู่แต่ละเอียดน้อยกว่าคนที่แล้ว จริงๆอยากจะเลือกทำธีสิสกับคนนี้แล้วแต่ว่าพอเค้าอธิบายงานที่เราต้องทำให้ฟัง กลายเป็นว่ามันจะเน้นไปทางการค้นคว้าข้อมูลครึ่งหนึ่ง แล้วก็เอาข้อมูลที่ค้นคว้ามามาลองเขียนโปรแกรมใช้ดูอีกครึ่งหนึ่ง ซึ่งการค้นคว้าข้อมูลนี่เป็นอะไรที่เราแอบไม่ชอบ ขี้เกียจค้นง่ะ จะให้ไปค้นที่ไหน 5555 อะไรประมาณนั้น ก็เลยตัดสินใจไม่ทำหัวข้อนี้

งานที่สี่ จริงๆแล้วเราเขียนไปว่าอยากทำงานชิ้นอื่น แต่เค้าตอบกลับมาว่าหัวข้อนั้นมีคนทำแล้ว แต่เค้าเสนออีกหัวข้อหนึ่งที่เค้าบอกว่าเป็นแนว Mechatronics เหมือนกันมาให้ นักวิจัยคนนี้ตอนเราไปเจอเค้านี่เค้าไม่ถามอะไรเราเลย เล่าๆๆให้ฟังอย่างเดียวว่างานเค้าเป็นยังไงแล้วงานส่วนที่เราต้องทำคืออะไรแล้วถามว่าสนใจมั้ย เราก็บอกว่าขอเวลาคิดก่อนแล้วจะตอบตอนวันที่เท่านี้ ในส่วนของหัวข้อของงานชิ้นนี้เป็นแนวทดลองเพื่อทดสอบผลและหาความคลาดเคลื่อนต่างๆอะไรประมาณนี้ ซึ่งตัวของสิ่งที่เราต้องทดลองแอบมีความน่าสนใจน้อยหน่อย แต่ว่าในตัวงานมีความน่าสนใจตรงที่มีทั้งส่วนที่เป็นความรู้ของไฟฟ้าและส่วนที่เป็นความรู้ของเครื่องกล

ในตอนสุดท้ายเราตัดตัวเลือกออกจนมาเหลือสองตัวเลือกสุดท้ายคืองานที่สองกับงานที่สี่ ซึ่งทั้งสองงานเป็นงานที่เป็นทั้งเครื่องกลและไฟฟ้า ส่วนตัวเราว่างานชิ้นที่สองน่าสนใจกว่าและดูท้าทายกว่า แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจเลือกงานชิ้นที่สี่… เพราะว่าดูง่ายกว่า 5555555 และที่สำคัญคือเพราะที่ปรึกษาดูชิวกว่าอีกคนนึงมาก ชิวแค่ไหน คือไม่ถามอะไรเราเลยว่าทำอะไรได้บ้าง ถามอย่างเดียวว่าจะทำมั้ย 555 ในขณะที่อีกคนนึงถามละเอียดมากแถมให้ไปเขียน Research Proposal มาอีก ณ ตอนนั้นคือเราคิดว่าต่อไปที่ปรึกษาของงานชิ้นที่สองคงจะจู้จี้จุกจิกมาก และที่ปรึกษาของงานชิ้นที่สี่อาจจะชิวๆมาก ไม่เรื่องมาก ซึ่งก็ไม่รู้หรอกนะว่าจริงๆแล้วที่ปรึกษาแบบไหนจะดีกว่ากัน แต่ในความคิดของเราคือคนที่ชิวๆอาจจะดีกว่า เลยตัดสินใจเลือกหัวข้อที่สี่ไป

หลังจากที่เขียนอีเมลล์ไปแจ้งให้นักวิจัยทุกคนทราบผลการตัดสินใจแล้ว เราก็นัดเริ่มงานกับที่ปรึกษาของเรา ตอนวันเริ่มงานก็ไปเซ็นเอกสารสำคัญต่างๆ เสร็จแล้วเค้าก็เอางานธีสิสป.โทเล่มหนึ่งมาให้เราเอาไปอ่าน แล้วก็เอาไฟล์ผลการทดลองที่มีคนทำไว้แล้วมาให้เรา เสร็จแล้วก็พาไปดูห้องคอมของสถาบันที่นักเรียนที่ทำงานพาร์ทไทม์กับทำธีสิสที่สถาบันนี้สามารถมาใช้ได้ พอเดินเข้าไปก็จะเห็นนักเรียนแต่ละคนจดจ่อกับงานของตัวเองที่หน้าคอม ซึ่งมองดูแต่ละหน้าจอนี่มีแต่โปรแกรม กราฟ กับอะไรต่างๆนานาที่มันดูเวอร์วังอลังการไปหมด และที่เด็ดสุดคือมีคนนึงใส่แว่น VR แล้วก็ยกมือขึ้นมาทำท่าเหมือนหยิบอะไรอยู่กลางอากาศ ตอนเข้าไปในห้องนี้แล้วเดินดูไปเรื่อยๆนี่อารมณ์ยังกะเราเป็นตัวเอกหนังแอ๊คชั่นไซไฟ เดินเข้าไปในห้องฝึกวิทยายุทธของนักรบโลกอนาคต หรือห้องสมาคมลับของสุดยอดแฮคเกอร์อะไรซักอย่างประมาณนั้นเลย

เสร็จจากห้องคอมแล้วที่ปรึกษาก็พาเราเดินไปดูห้องแล็บและโต๊ะแล็บที่เราต้องใช้ทำงาน ซึ่งจะมีเครื่อง Oscilloscope กับ Signal Generator ให้เราใช้ เค้าถามว่าใช้เป็นมั้ย เราก็ตอบว่าไม่เป็น 555 เค้าเลยส่งลิงค์เรียน Oscilloscope มาให้ดู แล้วก็เป็นอันว่าหมดโปรแกรมของวันนั้น เราต้องกลับไปอ่านงานธีสิสที่เค้าให้มา แล้วก็เรียนการใช้ Oscilloscope มา ก่อนกลับมาเจอเค้าอีกครั้งในอาทิตย์ต่อไป คือเราตกลงกันว่าจะนัดเจอกันแบบเป็นทางการอาทิตย์ละครั้ง แต่ว่าถ้ามีอะไรอยากถามเค้าก็เดินมาถามที่ห้องทำงานเค้าได้ตลอด

20190109_152112.jpg

ส่วนการทดลองของธีสิส

อาทิตย์ต่อมาเรากลับมาพบที่ปรึกษาอีกครั้ง แล้วเค้าก็เอาอุปกรณ์สำหรับการทดลองอื่นๆให้เราแล้วก็ให้เริ่มทำได้เลย ซึ่งเราจะไม่เล่าในรายละเอียดเนอะเพราะว่ามันเป็นความลับด้วย แต่จะบอกว่าช่วงแรกๆคืองงมากกกกกก (เอาจริงๆก็งงมากตลอดทุกช่วง) เพราะว่าหนึ่งคือฟังที่ปรึกษารู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง เค้าพูดเร็วด้วยแถมพูดแอบติดสำเนียงด้วย เลยงงๆว่าสรุปว่าจะให้ทำอะไร ไม่แน่ใจว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่คือสิ่งที่เค้าให้ทำรึเปล่า แต่ก็ไม่กล้าถามเยอะเพราะกลัวโดนหาว่าโง่ T.T เป็นนิสัยเสียที่ติดมาจากไทย ช่วงแรกๆคือเครียดเพราะว่าทำอันนั้นก็ไม่ได้ ทำอันนี้ก็ไม่ได้ ลองใช้โปรแกรมก็ทำไม่ได้อย่างที่คิดซักที ลองทดลองผลลัพธ์ก็ไม่เหมือนกับทฤษฎี ที่ปรึกษาก็ไม่ได้รู้ในรายละเอียดมากเท่าไหร่ ก็ต้องทำๆๆเองหาทางแก้ปัญหาเอง เข้ากูเกิลเยอะมากกกก อุตส่าห์นึกว่าเลือกงานแบบทดลองจะได้ไม่ต้องค้นคว้าข้อมูลเยอะ ปรากฏว่าก็ต้องค้นเยอะอยู่ดี จะได้เข้าใจสิ่งที่เราทดลอง ซึ่งจริงๆก็ไม่ได้เข้าใจมากขึ้นเท่าไหร่ แต่ในขณะที่ยังงงๆกับหลายสิ่งอยู่นั้น ค่าที่ได้จากการทดลองก็ยังคลาดเคลื่อนแบบเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ก็ยิ่งทำให้ปวดหัวขึ้นไปอีก มันไม่รู้จะใช้ค่าไหนมาบันทึกหรือมาคำนวณ กับไม่รู้ว่าทำไมค่าถึงคลาดเคลื่อน ส่วนไหนในระบบที่ทำให้มันคลาดเคลื่อน ปวดหัวมาก เครียดมาก กลัวไม่หมด ไม่รู้จะทำไงดี ไม่รู้ว่าจะทำถูกใจที่ปรึกษามั้ย ถามอะไรที่ปรึกษาหรือเล่าอะไรให้ฟังไปเค้าก็บอกแต่ว่า โอเคๆดีๆ หรือไม่ก็ให้ไปค้นคว้าเอง 5555 จนถึงจุดนึงเราเลยแบบ เลิกถามแล้ว! จะทำการทดลองในแบบที่เราคิดว่ามันดีแล้วเลยละกัน

ช่วงที่ทำการทดลองรู้สึกว่าแต่ละอย่างมันผ่านไปช้ามาก กว่าจะทำเสร็จแต่ละการทดลอง ทำเสร็จแล้วก็ต้องกลับมาทำใหม่เพื่อยืนยันผลอีก เพราะว่าความคลาดเคลื่อนก็ยังเยอะอยู่ การทำงานครั้งนี้ทำให้ขยาดการทำงานประเภททดลองฮาร์ดแวร์อะไรพวกนี้ไปเลยเพราะเราชอบอะไรที่มันเป๊ะๆๆ ไม่ชอบอะไรที่มันมีความคลาดเคลื่อนเยอะในชีวิตจริง ระหว่างที่ทำงานไปเราก็เอาข้อมูลที่ได้ไปเสนอให้ที่ปรึกษาฟังเรื่อยๆ ซึ่ง Feedback ส่วนใหญ่ก็จะอารมณ์ประมาณโอเคๆดีๆ 555 ระหว่างนั้นเราหยุดอ่านหนังสือสอบไปประมาณเดือนนึง แล้วก็กลับมาทำทดลองต่อจนที่ปรึกษาบอกว่าพอแล้วอะไรประมาณนี้ ก็เป็นอันว่าสิ้นสุดในส่วนของการทดลองอันน่าปวดหัว ต่อไปจะเป็นเวลาของการเขียนเล่มแล้ว

20190130_112250

ส่วนการเขียนเล่มธีสิส

หลังจากทำการทดลองเสร็จเราก็พักเคลียร์สมองช่วงสั้นๆโดยการบินไปเที่ยวเมืองเวนิส ประเทศอิตาลีเป็นเวลาสามวันสองคืนด้วยตั๋วเครื่องบินราคาพิเศษจากสายการบิน Ryanair ในราคาไปกลับแค่ 12 ยูโรหรือประมาณสี่ร้อยบาทเท่านั้น 5555 แต่ว่าในส่วนนี้เดี๋ยวไว้ค่อยมาเล่าวันหลัง หลังจากเที่ยวเสร็จเราก็กลับมาเรื่องเขียนเล่ม ซึ่งบางคนเค้าก็เริ่มเขียนตั้งแต่ตอนทำทดลองแล้ว ทำไปด้วยเขียนไปด้วย แต่เราอยากเขียนตอนทำเสร็จแล้วมากกว่า ซึ่งตอนเขียนเล่มนี้ ความรู้สึกคือยังกะเริ่มทำธีสิสใหม่หมดตั้งแต่แรก T.T ต้องกลับไปหาข้อมูลใหม่ บันทึกแหล่งอ้างอิง ต้องโควทข้อมูลมาเขียนใหม่แบบเป็นทางการ ต้องเอาผลลัพธ์ต่างๆมาเสนอแบบสวยๆงามๆ เขียนบรรยายข้อมูลลงในเล่ม ใส่ลิงค์ลงในข้อความ ในหัวข้อ จัดรูปหน้า จัดฟอนต์ จัดขนาดอักษรต่างๆให้เป็นมาตรฐานเดียวกันตามแบบที่สถาบันวิจัยของเรากำหนดไว้ รายละเอียดจุกจิกเยอะแยะมากจนประสาทจะกิน ตอนแรกเราทำสารบัญมาก่อน แล้วก็ไปถามที่ปรึกษาว่าเราแบ่งเนื้อหาเป็นอย่างนี้ๆ ในบทนี้จะเขียนเรื่องนี้ๆ แล้วให้เค้าช่วยแก้หรือแนะนำให้ แล้วก็มาเขียนเนื้อหาต่อเอง ช่วงแรกๆที่เริ่มเขียนคือแบบเขียนไม่ออกเลย ไม่รู้จะเริ่มตรงไหน ไม่รู้จะเขียนอะไร ลองอ่านงานของคนอื่นแล้วมันแบบดูดี นึกไม่ออกเลยว่าเราจะเขียนออกมาอย่างนั้นได้ยังไง อู้ไปอยู่นานมากจนในที่สุดก็ต้องบอกตัวเองอีกครั้งว่าเขียนๆไปในแบบที่ตัวเราคิดว่ามันดีแล้วเลยละกัน เขียนบล็อกก็เขียนมาตั้งเยอะแยะแล้ว ธีสิสก็ต้องเขียนได้แหละ 555 เลยถึงได้เริ่มเขียน แล้วก็ค่อยๆเขียนไปได้อย่างช้าๆ แล้วแต่อารมณ์ บางช่วงก็เขียนได้วันละหลายหน้า บางช่วงก็วันละไม่กี่ประโยค เป็นช่วงที่ชีวิตหดหู่มาก ถามตัวเองว่าจะทำเสร็จจริงเหรอ มันเหมือนไม่มีอะไรให้เขียน แต่พอเริ่มเขียนแล้วมันดูเหมือนมีอะไรเยอะแยะไปหมด ทำอะไรไม่ถูก ต้องเขียนลึกแค่ไหน ทฤษฎีเยอะแค่ไหนก็ยังไม่ชัวร์อีก ไหนจะต้องมางมกับการจัดเล่มอีก โอ๊ยเขียนไปถามตัวเองไปว่าจะเรียนจบจริงเหรอ รู้สึกเหมือนพระมหาชนกว่ายน้ำอยู่ในมหาสมุทร คือไม่มั่นใจในงานธีสิสที่ตัวเองทำเลย มันดูกากมาก แต่ว่ามาถึงจุดนี้แล้วไม่แคร์แล้ว อยากรีบๆทำให้เสร็จก็พอ แล้วค่อยไปขอร้องที่ปรึกษาว่าขอผ่านเถอะเอา ระหว่างนั้นเราไม่ได้ส่งให้ที่ปรึกษาอ่านเลย เพราะว่าเราแก้ตลอด เขียนเสร็จบทนึงแล้วก็กลับมาแก้บทเก่า แก้เสร็จแล้วก็กลับไปแก้บทที่เพิ่งเขียนเสร็จต่อ แก้ไปแก้มา พยายามทำให้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้จะได้ไม่โดนปัดตก สิ่งที่ปวดหัวที่สุดก็คือการจัดรูปเล่ม จัดรูปแบบของอักษร รูป และกราฟต่างๆ ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันหมด กับการใส่อ้างอิงตรงท้ายเล่มให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพราะว่ามันจุกจิกมาก รำคาญ ประสาทกิน พอเขียนเล่มเสร็จแล้วเราก็แบ่งเป็นหลายๆส่วนส่งไปให้เพื่อนคนเยอรมันช่วยเช็คภาษาให้ ต้องขอขอบคุณเพื่อนทุกๆคนมา ณ ที่นี้ จริงๆจะเขียนเป็นภาษาอังกฤษก็ได้แหละ แต่ว่าข้อมูลหลายอย่างมันเป็นภาษาเยอรมัน เราขี้เกียจไปแปลเป็นภาษาอังกฤษอีก เลยตัดสินใจเขียนเป็นภาษาเยอรมันไป

20190711_140531.jpg

ส่วนการพรีเซนต์ธีสิส

แล้วในที่สุด พอค่อนข้างพอใจกับเล่มที่เขียนเสร็จแล้วเราก็แปลงไฟล์เป็น pdf แล้วก็ส่งอีเมลล์ไปให้ที่ปรึกษาตรวจตู้มเดียวเลย คือระหว่างนั้นไม่ได้ส่งอะไรให้อ่านเลย และที่ปรึกษาเราก็ไม่ได้บอกให้ส่งมาให้อ่าน เราเลยเขียนจนเสร็จแล้วส่งไปให้อ่านทีเดียวทั้งเล่ม พอส่งเล่มแล้วต่อไปก็เป็นขั้นตอนของการพรีเซนต์ ซึ่งเป็นตอนที่สบายที่สุดแล้ว เพราะเค้าก็ให้เวลาแค่ประมาณ 20 นาทีสำหรับพรีเซนต์ ซึ่งก็ไม่ได้เยอะมาก ก็ทำๆๆพาวเวอร์พอยต์แล้วก็พิมพ์ๆๆบทพูดเตรียมไว้หน่อย ท่องๆๆฝึกพูดไว้หน่อยเตรียมไปพรีเซนต์ เราเลือกพรีเซนต์เป็นภาษาอังกฤษเพราะคล่องปากมากกว่า เวลาพูดแล้วมั่นใจกว่า และอีกอย่างคือเพราะเรารู้สึกว่าเราพูดอังกฤษเก่งกว่าคนที่นี่ น่าจะเป็นข้อได้เปรียบระหว่างพรีเซนต์ ระหว่างช่วงถามตอบคำถามอะไรงี้ อิอิ

ตอนพรีเซนต์ ในห้องของเรามีคนฟังแค่สามคน คือที่ปรึกษาของเรา กับนักวิจัยคนอื่นอีกสองคน ซึ่งก็เป็นคนที่กำลังทำป.เอกอยู่หมดเลย ไม่มีอาจารย์มาฟังเลย แต่ว่าอันนี้ก็จะแล้วแต่ที่ บางสถาบันเราก็ต้องพรีเซนต์ให้อาจารย์ฟัง แต่ว่าสถาบันที่เราทำธีสิสด้วยเป็นสถาบันใหญ่ พวกอาจารย์จะยุ่งๆ เค้าก็จะให้นักวิจัยที่เป็นที่ปรึกษาจัดการกันเอาเอง แล้วก็ให้คะแนนนักเรียนกันเองเลยด้วย แล้วศาสตราจารย์ในสถาบันนั้นจะค่อยตรวจเช็คผลงานกับคะแนนที่ที่ปรึกษาให้ก่อนจะยืนยันอีกที ช่วงที่พรีเซนต์ก็ตามปกติ คือฉายสไลต์พาวเวอร์พอยต์ขึ้นจอแล้วก็บรรยายๆ เน้นว่าเราทำอะไรและผลการทดลองเป็นยังไงและเราสรุปว่าอะไร บรรยายเสร็จ นักวิจัยที่มาฟังก็จะถามๆๆ ซึ่งบางอย่างที่ปรึกษาเราก็จะช่วยเราตอบให้ด้วย บรรยากาศสบายๆเป็นกันเองมาก ก็เป็นอันว่าจบการพรีเซนต์แล้ว ตอนนี้ก็เหลือแค่รอที่ปรึกษาเราตรวจเล่มให้เสร็จ แล้วรอลุ้นว่าเค้าจะให้แก้อะไรเยอะแค่ไหน หรือจะอ่านแล้วช๊อคตายไปเลยรึเปล่า 555

เวลาผ่านไปเป็นสัปดาห์อยู่กว่าที่ปรึกษาเราจะตรวจเสร็จ อยู่มาวันหนึ่งเราได้อีเมลล์จากที่ปรึกษาส่งมาบอกว่าตรวจเสร็จแล้ว รีบเปิดอ่านด้วยความลุ้นระทึก ปรากฏว่าที่ปรึกษาบอกว่างานของเรามัน extremely good แทบไม่มีอะไรให้ต้องแก้เลย หื้ม!!! ผิดคนป่าว? หรือว่าจ้อจี้ป่าว? 5555 คืองงมาก แต่ก็ดีใจและเซอร์ไพรส์มากด้วย คืออย่างที่บอกว่าตอนแรกเราถึงกับกลัวว่าจะผ่านรึเปล่าเลยด้วยซ้ำ พอได้ Feedback อย่างนี้มาก็แบบตกใจ แต่ก็ดีใจมาก จริงๆแล้วเราก็ไม่ได้กากนี่นา 555 ก็กลับบ้านไปแก้ๆๆตามที่เค้าบอก แล้วก็ไปร้านปรินท์เล่มออกมาแล้วก็เอาไปส่งเลย สิ่งที่ต้องส่งคือเล่มธีสิสที่ปรินท์ออกมาสองเล่ม กับซีดีที่ใส่ไฟล์เล่มธีสิสและไฟล์ผลการทดลองและข้อมูลอ้างอิงต่างๆไว้ พอส่งเสร็จเค้าก็บอกว่าเค้าส่งเกรดไปให้ศาสตราจารย์แล้ว เดี๋ยวต้องดูอีกทีว่าศาสตราจารย์จะว่ายังไง เราก็รอเกรดออกอยู่หลายสัปดาห์เหมือนกัน ระหว่างนั้นก็ว่างละ ก็ไปทำงานพาร์ทไทม์เก็บเงินไว้เที่ยว จริงๆตอนนั้นยังชัวร์ว่าเทอมต่อไปจะทำอะไร เรียนต่อหรือว่าหางานทำ แต่ว่าก็อยากจะเที่ยวยาวๆซักเดือนนึงให้สมกับที่เรียนจบแล้วหน่อย

และในที่สุด วันหนึ่งเราก็ลองเข้าเว็บมหาลัยเพื่อเปิดใบเกรดขึ้นมาดู แล้วก็พบว่างานธีสิสของเรานั้น ได้เกรด 1.0 !!!!! ซึ่งเป็นเกรดที่ดีที่สุดของประเทศเยอรมัน!!!!!! ก็คือเหมือนเกรด 4 ของที่ไทยอะ คือช็อคและดีใจมาก งานของเรามัน extremely good ระดับจะได้เกรดที่ดีสุดเลยเหรอ เกรด 1.0 อันนี้เป็นตัวเดียวที่ได้จากทั้งการเรียนป.ตรีเลย เกรดสูงสุดที่เคยได้ก่อนหน้านี้คือเกรด 1.3 จากวิชาเดียวเท่านั้น ส่วนที่ได้ 3 กว่านี่เยอะ 555 เรียนที่นี่มันยาก แต่ว่าก็ถูไถจนจบมาได้ แถมจบด้วยเกรดตัวสุดท้ายจากธีสิสเป็นเกรด 1.0 อีกนะ เป็นการปิดท้ายที่ดีงาม ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่นจริงๆ ไม่อยากจะเชื่อว่าจากวันที่เริ่มเขียนบล็อกเราเรื่องการเรียนในเยอรมนี ตั้งแต่วันที่เราเดินทางมาถึงเยอรมนี สอบเข้า Studienkolleg ในที่สุดจะมีวันที่เราเขียนลงในบล็อกว่าเราเรียนจบแล้วได้ คือระหว่างที่เรียนเนี่ยมีช่วงที่อดสงสัยและอดกลัวไม่ได้ว่าเราจะเรียนจบได้เหรอบ่อยเลย โดยเฉพาะช่วงที่อ่านหนังสือสอบวิชายากๆ ก็อยากจะเป็นกำลังใจให้ทุกคนที่กำลังอ่านอยู่ละกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียนที่เยอรมนีหรือว่าเรื่องอะไรก็ตาม ถ้าเราเชื่อมันในตัวเองและมุ่งมั่นเดินหน้าพยายามให้เต็มที่ ไม่ว่าเรื่องอะไร เราจะทำสำเร็จแน่นอน สำหรับโพสต์นี้ขอจบลงตรงนี้ แล้วเดี๋ยวโพสต์หน้าเราจะกลับมาอัพเดตชีวิตช่วงนี้ให้ฟังโนะ

P3296625.jpg

Leave a comment