การเรียนใน Studienkolleg (1)

DSCF1698
Studienkolleg Karlsruhe

สองวันแรกของการเรียนเป็นการบอกห้องเรียนให้รู้ พบครูประจำชั้น กับแนะนำนู่นนี่เฉยๆ ในตึก Studienkolleg ที่ Karlsruhe นี้ นอกจากจะมี Studienkolleg แล้ว ยังมีเปิดสอนอย่างอื่นอีกหลายอย่างมาก ทั้งภาษา คอร์สปรับพื้นฐานต่างๆ ทั้งยังมีส่วนของคณะ Informatics ตั้งอยู่ด้วย สำหรับคอร์ส Studienkolleg ของเราก็เป็นคอร์สเตรียมตัวสำหรับสอบ Feststellungsprüfung หรือสอบเข้ามหาวิทยาลัยในเยอรมัน เหตุผลที่เราต้องมาเรียน (และมาสอบข้อสอบเข้า) ก็เพราะว่าใบจบม.6 จากไทยมันไม่เทียบเท่ากับใบจบ high school (หรือภาษาเยอรมันเรียกว่า Gymnasium) จากเยอรมัน หลังจากเราเรียนคอลเลจจบ (ใช้เวลา 2 เทอม) และสอบ Feststellungsprüfung เสร็จเรียบร้อยแล้วก็จะมีเกรดออกมา เราก็เอาเกรดจากคอลเลจไปรวมกับเกรดของโรงเรียนม.ปลายจากไทย แล้วก็ใช้สมัครเข้ามหาลัยอีกรอบ อาจจะเป็นมหาลัยเดิมที่เราจบคอลเลจมา หรือมหาลัยใหม่ก็ได้ และในระหว่างที่เรายังเรียนอยู่ที่คอลเลจนี้ เราก็จะมีสถานะเหมือนกับเป็นนักศึกษาคนหนึ่งของมหาลัย มีบัตรนักศึกษา และสวัสดิการต่างๆเหมือนกับนักศึกษาคนหนึ่ง

DSCF1708
ห้องสมุดของมหาลัย
DSCF1709
โรงอาหารของมหาลัย

การเรียนที่คอลเลจจะมี 2 เทอม แต่จะเอาเกรดจากเทอม 2 มาใช้สำหรับสมัครเข้าเรียนต่อเท่านั้น เทอม 1 ก็มีการคิดเกรดแต่จะไม่เอามาใช้ แต่ถ้าจบเทอม 1 แล้ว คะแนนสอบเฉลี่ยไม่ผ่าน แม้เพียงแค่วิชาเดียวก็ต้องเรียนเทอมนั้นทั้งเทอมซ้ำ (แต่เกณฑ์ผ่านที่นี่แค่ประมาณ 33.33% เอง ยกเว้นวิชาเยอรมัน ต้องได้มากกว่า 60%) และมีโอกาสให้เรียนซ้ำต่อเทอมได้แค่หนึ่งครั้งเท่านั้น ก็คือหมายความว่าเราสามารถเรียนอยู่ที่คอลเลจนี้ได้ไม่เกิน 2 ปี (ซ้ำเทอม 1 ได้แค่หนึ่งครั้ง และซ้ำเทอม 2 ได้แค่หนึ่งครั้ง) ถ้าเรียนซ้ำรอบนึงแล้วยังมีวิชาที่สอบไม่ผ่านอีกก็ต้องเก็บกระเป๋ากลับบ้าน หมดโอกาสเรียนต่อในเยอรมัน ส่วนข้อสอบ Feststellungsprüfung นั้นจะสอบตอนจบเทอม 2 และเอาคะแนนมาเฉลี่ยกับคะแนนสอบครั้งอื่นๆในเทอม 2 แล้วก็คิดออกมาเป็นเกรดเพื่อใช้สำหรับสมัครเข้ามหาลัยต่อไป

IMG_5057ที่ Studienkolleg Karlsruhe จะมีเปิดสอนสำหรับนักเรียนต่างชาติที่ต้องการมาเข้าคณะทางสายวิศวะหรือเทคโนโลยีเท่านั้น และในแต่ละปีก็จะรับนักเรียนสองรอบ รอบนึงคือรอบ Winter Semester ซึ่งจะรับนักเรียนประมาณ 100 คน อีกรอบก็คือรอบ Summer Semester ซึ่งจะรับนักเรียนประมาณ 50 คน ทุกคนจะได้เรียนวิชาเลข ฟิสิกส์กลศาสตร์ ฟิสิกส์ไฟฟ้า และภาษาเยอรมันฟัง, อ่าน, เขียน, แกรมมาร์ (ไม่มีพูดแฮะ) และจะมีวิชาเลือกอีกสองวิชาก็คือ Informatics (หรือคอมพิวเตอร์อะแหละ) กับ เคมี ซึ่งทางคอลเลจจะจัดวิชาเลือกนี้มาให้เอง โดยดูจากคณะที่เราเลือกตอนสมัครมหาลัยว่าน่าจะเกี่ยวกับ Informatics หรือเคมีมากกว่ากัน สำหรับ Winter Semester ก็จะจัดห้องเป็น 4 ห้อง ห้องละประมาณ 25 คน ซึ่งจาก 4 ห้องนี้ 2 ห้องจะเรียน Informatics เป็นวิชาเลือก ส่วนอีกสองห้องจะเรียนเคมีเป็นวิชาเลือก

เราได้ไปอยู่ห้องที่เรียน Informatics เพราะตอนสมัคร เราสมัครคณะ Mechatronics and Information Technics ไว้ ในห้องของเราก็มีนักเรียน 25 คน ส่วนใหญ่ก็จะมาจากจีน รองลงมาก็เป็นรัสเซียและเอกวาดอร์ (ที่มหาลัย KIT มีคอนเนคชั่นกับโรงเรียนมัธยมบางแห่งในประเทศเอกวาดอร์ ทำให้นักเรียนดีเด่นจากโรงเรียนเหล่านั้นสามารถมาเข้าคอลเลจที่นี่ได้โดยไม่ต้องสอบเข้า) นอกจากนั้นก็มีมาจากอินโดนีเซีย อัลบาเนีย บอสเนีย โคโซโว อิรัก แล้วก็เวียดนาม สองวันแรกที่เริ่มเรียนก็ไม่ได้ทำอะไรเลย แนะนำตัวๆทั้งสองวันจนครบทุกคาบ มาเริ่มเรียนจริงๆก็วันที่สามนู่น

ซุ้มขายเบียร์ข้างห้องสมุด
ซุ้มขายเบียร์ข้างห้องสมุด
ตัวแทนจากบริษัทในเยอรมันมาเปิดซุ้มแนะแนวเรื่องการทำงานต่อ
ตัวแทนจากบริษัทในเยอรมันมาเปิดซุ้มแนะแนวเรื่องการทำงานต่อ

ที่คอลเลจก็เรียนทุกวันจันทร์ถึงศุกร์วันละสามคาบ คาบละชั่วโมงครึ่ง แล้วก็มีพัก 15 นาทีระหว่างคาบ เรียนตั้งแต่ 8.00 ถึง 13.00 แล้วก็มีสองวันในสัปดาห์ที่มี Tutorium ตอน 14.00-15.30 สำหรับห้องเรา วันจันทร์เป็น Tutorium วิชาฟิสิกส์เครื่องกล แล้วก็มีวันพฤหัสเป็น Tutorium วิชาเลข คาบ Tutorium นี้ก็มีไว้สำหรับให้รุ่นพี่มาเฉลยแบบฝึกหัดที่ครูผู้สอนให้ไว้ แล้วก็สำหรับให้นักเรียนถามคำถามที่สงสัย แต่จะเข้าหรือไม่เข้าก็ได้

สำหรับวิชาเลข ในข้อสอบครั้งแรกของเรามีเนื้อหาเรื่องเรขาคณิต, Group Theory, ฟังก์ชันค่าสัมบูรณ์และการวาดกราฟ แล้วก็การพิสูจน์แบบอุปนัย สำหรับวิชาเลขนี่ ครูที่สอนห้องเราสอนยากมากเลยเมื่อเทียบกับครูคนอื่น T0T ข้อสอบก็ซับซ้อนกว่า และที่สำคัญคือเยอะมากๆ เมื่อเทียบกับเวลา สอบเสร็จคนบ่นกันระงม ไม่มีใครทำเสร็จทัน หลังจากสอบเสร็จก็เริ่มเรียนเรื่องเซต จำนวนเชิงซ้อน ความสัมพันธ์แบบต่างๆ ฟังก์ชั่นตรีโกณมิติ แล้วก็เพิ่งจะสอบไปอีกครั้งนึง เลขจะสอบ 3 ครั้งต่อเทอม ส่วนวิชาอื่นๆจะสอบแค่ 2 ครั้งต่อเทอม

IMG_4352

สำหรับวิชา Informatics ก็จะออกแนวทฤษฎี ที่ผ่านมาก็เรียนเรื่องเกี่ยวกับการสื่อสาร ข้อมูล การคำนวณหา Redundancy เรื่องการทำงานของอุปกรณ์ที่ใช้บันทึกข้อมูลตั้งแต่อดีตยันสมัยปัจจุบัน ต้องตั้งใจฟังมากๆเพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับทฤษฏี แถมยังเรียนเป็นภาษาเยอรมันอีก จะทำข้อสอบได้ไม่ได้ก็ขึ้นอยู่กับว่าฟังเข้าใจแค่ไหน แล้วก็เก็บรายละเอียดหมดแค่ไหน แต่ว่าหลังจากสอบครั้งแรกเสร็จแล้วก็จะเริ่มเรียนพวกโปรแกรม Microsoft Excel, Microsoft Access ละ เริ่มย้ายไปเรียนในห้องคอมมากขึ้น ส่วนเทอมสองก็จะเรียนเขียนโปรแกรม อะไรพวกนี้

ส่วนวิชาฟิสิกส์กลศาสตร์ เริ่มเรียนตั้งแต่การเคลื่อนที่ กฏของนิวตัน แรง พลังงานมาเลย เหมือนกลับไปเริ่มเรียนม.สี่ใหม่ ง่ายมาก ฟิสิกส์ไฟฟ้าก็เริ่มเรียนตั้งแต่คำนวณหาสนามไฟฟ้า แรงไฟฟ้า อะไรพวกนั้น คาบฟิสิกส์กลศาสตร์จะมี 2 คาบต่อสัปดาห์ ส่วนฟิสิกส์ไฟฟ้ามีแค่ 1 คาบ เลยเรียนไปช้าๆมาก ส่วนเวลาสอบก็สอบพร้อมๆกัน แล้วก็ตัดเกรดรวมกันเป็นเกรดของวิชาฟิสิกส์วิชาเดียว

IMG_4478 IMG_4483

ส่วนภาษาเยอรมันก็เหมือนฝึกทำข้อสอบซะมากกว่า ข้อสอบก็เหมือนข้อสอบมาตราฐาน DSH ทั่วๆไป แต่อาจจะง่ายกว่า แล้วก็ค่อยๆยากขึ้นเรื่อยๆในการสอบครั้งต่อๆไป ส่วนตัวรู้สึกว่าครูที่คอลเลจสอนไม่ค่อยน่าเรียนเท่าไหร่ แล้วการเรียนภาษาระดับนี้มันไม่ค่อยขึ้นอยู่กับการเรียนในห้องเรียนแล้ว มันขึ้นอยู่กับว่าเราจะขวนขวายหาอ่าน หาฟัง หัดใช้ภาษาให้เหมือนเจ้าของภาษา ออกไปใช้ภาษาในชีวิตจริงๆมากแค่ไหนมากกว่า

ยังไม่พอ!! อย่างที่บอกไปว่าที่ตึกของคอลเลจนี้มีสถาบันภาษาของ KIT เปิดสอนอยู่ด้วย ซึ่งสถาบันนี้ก็เปิดสอนภาษาต่างประเทศเยอะแยะมากมาย เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน รัสเซีย อิตาเลียน สวีเดน อารบิก โพลิช ฯลฯ และนักเรียนของ KIT สามารถเรียนคอร์สภาษานี้ได้ฟรีเทอมละหนึ่งคอร์ส!! (หนึ่งครั้งต่อสัปดาห์เป็นเวลาหนึ่งเทอม) แต่เสียดายที่รู้ช้าไปเราเลยสมัครไม่ทัน T-T

IMG_4233 IMG_4459

แล้วก็มาเรื่องวันหยุด ที่นี่จะมีปิดเทอมใหญ่ตอนเดือนกุมภากับสิงหา ปิดเทอมใหญ่จะไม่ค่อยยาว ประมาณแค่ 2 สัปดาห์ แต่ว่าก็จะมีวันหยุดช่วงคริสต์มาสกับปีใหม่อีก 2 สัปดาห์ แล้วก็วันหยุดอีสเตอร์อีกสัปดาห์นึง

ก็ประมาณนี้แหละ การเรียนใน Studienkolleg KIT จากวันที่เริ่มเรียนมาจนตอนนี้ก็ผ่านมาได้สองเดือนแล้ว ผ่านการสอบครั้งแรกไปอย่างสะบักสะบอม แต่อีกไม่กี่วันก็จะเป็นวันหยุดคริสต์มาสกับปีใหม่แล้ววว คริสต์มาสนี้ Johann ที่เราเคยไปเยี่ยมเค้าที่เมือง Nuremberg ชวนเราไปฉลองกับครอบครัวเค้าในเมือง Passau เมืองเล็กๆในแคว้นบาวาเรีย ติดชายแดนประเทศออสเตรีย เดี๋ยวบล็อกหน้าๆจะมาเล่าเรื่องทริปคริสต์มาสนี้ให้ฟัง

รุ่นพี่พาน้องปีหนึ่งเดินดูมหาลัย
รุ่นพี่พาน้องปีหนึ่งเดินดูมหาลัย
ปาร์ตี้รับนองของคณะวิศวะเครื่องกลกับวิศวะเคมี
ปาร์ตี้รับนองของคณะวิศวะเครื่องกลกับวิศวะเคมี

15 thoughts on “การเรียนใน Studienkolleg (1)

  1. Wiyada

    การ apply ผ่านทาง website ของ KIT เพื่อเข้า studienkolleg สำหรับ Winter semester 2016 สามารถเริ่มได้เลยไม๊คะ หรือว่าควรเริ่มเมื่อไหร่ดีคะ แล้วไม่ทราบว่าต้องใช้ recommendation letter และ motivation letter หรือเปล่าคะ นอกจากนั้นเรื่องการสอบเข้าต้องเดินทางไปสอบที่เยอรมันเท่านั้นใช่ไม๊คะ
    ขอบคุณค่ะ วิยะดา

    1. รู้สึกว่าจะเริ่มได้ตั้งแต่เดือนพฤษภานะครับ ก่อนหน้านั้นจะไม่มีให้เลือก แล้วก็ไม่ต้องใช้ทั้งสอง Letter ใช้แค่ CV ถ้าเป็นของ KIT ก็ตามนี้เลยครับ https://petchpetals.wordpress.com/category/%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B9%87%E0%B8%A1/

      การสอบเข้าต้องเดินทางไปสอบที่เยอรมัน ที่เมืองนั้นๆเท่านั้นครับ

  2. Wiyada

    ขอบคุณมาก ๆ ค่ะ ไม่ทราบรู้ผลเข้ามหาวิทยาลัยรึยังคะ ลูกสาวอยากไปเรียน engineering ที่ KIT ค่ะ เผื่อจะขอคำแนะนำเพิ่มเติม จะกลับไทยประมาณเมื่อไหร่คะ

    1. ยังไม่รู้ผลครับเพิ่งจะสมัครไปอาทิตย์นี้ จะกลับไทยเดือนสิงหากันยาครับ

  3. วิยะดาค

    วันที่สอบเข้า studienkolleg แต่ละที่เป็นอย่างไรบ้างคะ ถ้าต้องสอบหลายที่ กลัวจะมีปัญหา มีวันให้เลือกไม๊คะ ขอบคุณค่ะ

    1. แต่ละที่จะมีวันสอบเป็นของตัวเองครับ แต่ไม่แน่ใจเหมือนกันว่ามีคอลเลจไหนที่วันสอบเข้าเป็นวันเดียวกันบ้างรึเปล่าแต่ปีที่ผ่านมา วันสอบเข้าที่ Munich, Karlsruhe, Leipzig, Hanover คนละวันหมดเลย แต่ผมว่าในเว็บของ Studienkolleg แต่ละแห่งน่าจะมีวันสอบเข้าบอกไว้นะครับ

  4. Wiyada

    ไม่ทราบว่าควรต้องไปเรียนเตรียมสอบเข้า Studienkolleg ไม๊คะ ถ้าต้องมีที่ไหนแนะนำไม๊คะ แล้ว entrance test ของ Studienkolleg แต่ละที่ยากง่ายต่างกันยังงัยคะ โดยเฉพาะของ Karlsruhe. ขอบคุณค่ะ

    1. ตอนนั้นผมเรียนเยอรมันสำหรับเตรียมสอบเข้าคอลเลจที่นี่ครับ
      http://www.dkfa.de/programm/sprachkurse/studienkolleg
      ส่วนตัวแล้วชอบมาก แต่เค้าสอนแค่ภาษา ส่วนวิชาเลขต้องอ่านเอง แต่ก็ไม่ยากมากครับ ตามเว็บของแต่ละคอลเลจจะมีตัวอย่างข้อสอบเข้าให้ดูอยู่แล้ว ลองไปโหลดมาฝึกทำพอเป็นแนวทางได้ ข้อสอบเข้าของ Munich จะยากกว่าที่อื่น โดยเฉพาะพาร์ทภาษาที่ถูกแบ่งย่อยเป็นหลายพาร์ท ส่วนของ Karlsruhe พาร์ทภาษาจะปกติเหมือนที่คอลเลจอื่นๆ ไม่ยากมาก แต่ทั้งที่ Munich และ Karlsruhe ข้อสอบเลขจะค่อนข้างยากกว่าที่อื่นๆ แถมยังให้เขียนแสดงวิธีทำด้วย (แต่ก็ไม่ยากเกิดความรู้ม.ปลายจากไทย)

      อันนี้เป็นตัวอย่างข้อสอบเข้าคอลเลจที่ Karlsruhe วิชาเลขครับ ข้อสอบทุกปีก็จะออกมาประมาณนี้

      Click to access AT_math_beisp_.pdf

  5. Dorappp

    ไม่ทราบว่าคุณสมบัติของผู้สมัครของstkแต่ละที่นี่ระบุชัดเจนเลยไหมคับเหมือนตามเว็บจะบอกมาแค่รัดับภาษาแล้วเอกสารเท่านั้นแล้วก็ (การสมัครนี่พิจารณาจากอะไรบ้างคับ)

    แล้วก็ตอนแรกพอสมัครStkผ่านม.หรือuni-assistไปแล้วได้รับการยืนยันก็สามารถขอวีซ่าได้เลยใช่ไหมคับกับพอสอบเข้าแล้วเค้าใช้เวลาตอบกลับมาประมาณกีสัปดาห์อ่ะคับ

    พอดีจะสมัครรอบWintersemester 2016แล้วก็กะว่าจะสมัครไปเรียนภาษาที่เยอรมันหลังจบม.6ประมาณ6เดือนแล้วสมัครทางStkสอบเข้าต่างๆที่นั่นไปเลยแล้วพอได้การตอบรับแล้วกลับมาเปลี่ยนวีซ่าที่ไทย แต่ยังกังวลเรื่องระยะเวลาและเรื่องการเปลี่ยนวีซ่าอยู่เลยต้องหาข้อมูลเพิ่มอีกอ่ะคับ เลยอยากจะขอคำแนะนำหน่อย พอดีสนใจเรียนด้านวิศวะขนส่งกับโยธาอ่ะคับดูๆไว้ที่Dresden, KIT, Stuttgartไว้อยู่ขอบคุณมากนะคับ

    1. รู้สึกว่าเกรดเฉลี่ยต้องดีกว่า 2.5 นะครับ ส่วนระดับภาษาก็แล้วแต่มหาลัยกำหนด แต่นอกจากนี้ก็ไม่ทราบเหมือนกันครับ คิดว่าไม่น่าจะมีอะไรแล้วนะ เค้าคงไม่ซีเรียสมากเพราะยังไงก็ต้องมาสอบแข่งกันอยู่แล้วครับ เรื่องเรียนภาษา คิดว่าคอร์สแรกๆเรียน intensive ที่ goethe ที่ไทยไปก่อนก็ดีนะ อย่างน้อยก็ให้สอบผ่าน a1 เพราะว่าถูกกว่าเรียนที่เยอรมันเยอะ แล้วก็ถ้าขอสถานทูตไปเรียนภาษาตั้งแต่แรกเลยอาจจะยากเพราะเค้าจะถามว่าทำไมต้องไปเรียนที่เยอรมัน ไม่เรียนที่ไทยไปก่อน ระยะเวลากว่าจะได้วีซ่าเรียนภาษาก็นานกว่าวีซ่าสำหรับศึกษาต่อด้วย อีกอย่าง ตอนหลังจากผลมหาลัยออก กว่าจะกลับมาไทย มาเปลี่ยนวีซ่าก็เสียเวลา ต้องเดินทาง ต้องเตรียมเอกสาร ต้องรอผลวีซ่าอีก (วีซ่าศึกษาต่อปกติรอประมาณ 3 อาทิตย์) ถ้าตัดสินใจจะทำแบบนั้นก็ลองกะเวลาดูดีๆครับ

    2. ถ้าน้องอยู่กรุงเทพ แนะนำให้ลองไปปรึกษาที่สำนักงาน DAAD นะครับ หรือโพสต์ถามในเพจ “สมาคมนักเรียนไทยในเยอรมนีฯ (ส.น.ท.ย.), TSVD” ใน facebook ก็ได้ครับ เพราะพี่ก็ไม่ค่อยรู้เรื่องการขอวีซ่าสำหรับไปเรียนภาษาเหมือนกันครับ 😅

  6. mew

    พอดีเป็นคนระดับผลเรียนปานกลางอ่ะค่ะ แล้วแบบอยากสอบถามว่าการเรียนเลขที่นู่นกับที่ไทยต่างกันเยอะไหมคะ แบบข้อสอบของไทยกับที่นู่นเนี่ยแบบไหนยากกว่ากันเยอะ เพราะแบบเคยเห็นว่าที่ไทยยากกว่าเยอะอ่ะค่ะ แล้วพี่พอจะแนะนำมหาลัยที่ผลการเรียนระดับปานกลางของที่นู้นให้หน่อยได้ไหมคะ ขอบคุณค่า

    1. เลขที่เรียนตอนม.ปลาย กับข้อสอบเข้ามหาลัยที่นี่อาจจะง่ายกว่าที่ไทย (ส่วนใหญ่) แต่พอเข้ามามหาลัยแล้วก็เรียนยากเหมือนๆกันนะครับ มีเหตุผลอะไรที่อยากมาเรียนที่เยอรมนีรึเปล่าครับ
      ถ้าพูดถึงมหาลัยทางวิศะที่มีชื่อเสียงของเยอรมนี คนจะนึกถึง TU9 (https://en.wikipedia.org/wiki/TU9) กันเป็นอันดับแรก ส่วนที่เหลือก็มีดีมากบ้างน้อยบ้างปนๆกันไป อันนี้ผมก็ไม่ทราบจริงๆครับว่ามหาลัยไหนอยู่ในระดับกลางๆ

  7. ขอสอบถามเรื่องการสมัครผ่าน uni assist ค่ะ คือว่า summer semester 2016 เนี่ย ที่ว่าเรียนช่วงเมษานะค่ะ เรียนในปี2017 หรือ2016 ค่ะ คือหนูจะไปต้นปี2017น่ะค่ะ ไม่ทราบว่าต้องเลือกปีไหนคะ พอดีลองเลือก summer semester2017ไป แต่สมัครไม่ได้น่ะค่ะ ขึ้นสีแดงๆ หรือว่าเขายังไม่เปิดให้สมัครคะ

    1. Summer Semester 2017 เรียนในปี 2017 ครับน่าจะยังไม่เปิดให้สมัครครับ ในเว็บของมหาลัยน่าจะมีรายละเอียดว่าเปิดรับสมัครเมื่อไหร่นะครับ

Leave a comment